xs
xsm
sm
md
lg

10 สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดี ปี 2019 แห่งแดนมังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


รูปปั้นผู้วิเศษขี่มังกรที่ขุดพบในหลุมศพชนชั้นสูงของแคว้นเจิ้งในยุคชุนชิว มณฑลหูเป่ย
จีนประกาศ “10 สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดี” ประจำปี 2019 การค้นพบฟอสซิลและซากอารยรรมโบราณอายุ 100,000-15,000 ปี ที่ถ้ำโบราณสมัยยุคหินเก่าในมณฑลส่านซี ได้รับผลโหวตมาเป็นอันดับหนึ่ง

ปักกิ่ง, ซินหัว - สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการของประเทศจีนรายงานว่า คณะกรรมาธิการมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติจีน (NCHA) ได้ประกาศรายชื่อ 10 อันดับสุดยอดการค้นพบทางโบราณคดี ประจำปี 2019

ภาพระยะใกล้ของซากปรักหักพังถ้ำเจี้ยเกอ เขตหนานเจิ้ง มณฑลส่านซี (บน) และเครื่องหินที่ขุดพบในถ้ำเจี้ยเกอ (ล่าง)
โดยรายชื่อดังกล่าวคัดเลือกมาจากการค้นพบทางโบราณคดี 20 รายการใน 14 ภูมิภาคระดับมณฑลที่เข้ารอบสุดท้าย หลังจากการนำเสนอ การประเมิน และการลงคะแนนเสียงสดทางออนไลน์เป็นครั้งแรกตามมาตรการการควบคุมโรคระบาด

สำหรับรายชื่อการค้นพบทางโบราณคดี 10 อันดับที่คณะกรรมาธิการมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติจีนเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อวันอังคาร (5 พ.ค.) มีดังต่อไปนี้

ชิ้นส่วนฟันและกะโหลกศีรษะมนุษย์ที่ขุดพบมาจากซากปรักหักพังถ้ำเจี้ยเกอเขตหนานเจิ้ง มณฑลส่านซี
1.นักโบราณคดีขุดค้นซากโบราณวัตถุจำนวนมากได้จากบริเวณถ้ำเจี้ยเกอ ถ้ำโบราณสมัยยุคหินเก่า (Paleolithic Age) ในมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อาทิ ผลิตภัณฑ์หิน ฟอสซิลสัตว์ และฟอสซิลกระดูก

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าถ้ำเจี้ยเกอที่เก็บรักษาฟอสซิลของมนุษย์และซากอารยธรรมที่อุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ 100,000-15,000 ปีก่อน นับเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญในการศึกษาต้นกำเนิดของมนุษย์ยุคใหม่ในประเทศจีนและในเอเชียตะวันออก

ชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผาในซากปรักหักพังเสี่ยวหนานซาน อำเภอเหราเหอ มณฑลเฮยหลงเจียง (บน) และหยกที่ขุดพบจากหลุมฝังศพ (ล่าง)

หยกที่ขุดพบจากหลุมฝังศพในซากปรักหักพังเสี่ยวหนานซาน อำเภอเหราเหอ มณฑลเฮยหลงเจียง
2. ในมณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน นักโบราณคดีขุดค้นพบหลุมฝังศพจำนวนหนึ่ง รวมถึงสมบัติทางวัฒนธรรม เช่น หยก ภาชนะที่ทำจากหิน และเครื่องปั้นดินเผาที่มีอายุราว 9,000 ปี ที่บริเวณหลุมฝังศพยุคหินใหม่ (Neolithic) ข้างแม่น้ำพรมแดนระหว่างจีนกับรัสเซีย

แหล่งขุดค้นตำหนักหลวงที่เป็นส่วนสำคัญของซากปรักหักพังสือเหม่า มณฑลส่านซี
3. นักโบราณคดีดำเนินงานขุดค้นตำหนักหลวงที่เป็นส่วนสำคัญของซากปรักหักพังสือเหม่าอายุ 4,300 ปีในเมืองเสินมู่ ทางตอนเหนือของมณฑลส่านซี และค้นพบชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผาตามแบบฉบับวัฒนธรรมหลงซานตอนปลาย ซึ่งเป็นอารยธรรมยุคหินใหม่ในตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำเหลือง

หินสลักที่ขุดพบในตำหนักหลวงของซากปรักหักพังสือเหม่า มณฑลส่านซี
แหล่งขุดค้นแห่งนี้มีพื้นที่ถึง 4 ล้านตารางเมตร เป็นเมืองยุคหินใหม่ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในประเทศจีน และเป็นทรัพย์สินอันมีค่าสำหรับการวิจัยอารยธรรมช่วงต้นของจีนตอนเหนือ

ระบบระบายน้ำใกล้กับประตูด้านทิศใต้ของซากปรักหักพังผิงเหลียงไถ เขตหวยหยาง มณฑลเหอหนาน
4. ซากปรักหักพังผิงเหลียงไถเป็นศูนย์กลางภูมิภาคแห่งวัฒนธรรมหลงซาน เชื่อว่าที่แห่งนี้มีระบบระบายน้ำยุคเริ่มแรกที่สมบูรณ์ที่สุด รวมถึงมีร่องล้อที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศจีน

ชิ้นส่วนของเครื่องประดับมงกุฎในสมัยวัฒนธรรมหลงซานที่ขุดพบจากซากปรักหักพังผิงเหลียงไถ เขตหวยหยาง มณฑลเหอหนาน
นอกจากนี้ยังขุดค้นพบโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมอีกหลายชนิด อาทิ เครื่องถ้วยหยกและเครื่องปั้นดินเผา ที่แหล่งขุดค้นในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน

เครื่องมือหลอมทองแดงที่ขุดพบในแหล่งขุดค้นซีอู๋ปี้ อำเภอเจี้ยงเซี่ยน มณฑลซานซี
5. แหล่งหลอมทองแดงในหมู่บ้านซีอู๋ปี้ ของมณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน เป็นหนึ่งในแหล่งหลอมแร่ทองแดงที่เก่าแก่ที่สุดแห่งที่ราบภาคกลาง

ร่องรอยของบ้านกึ่งฝังดินที่ขุดพบบริเวณเหมืองหยก เมืองตุนหวง มณฑลกานซู่
การค้นพบครั้งนี้นับเป็นหลักฐานโดยตรงสำหรับการวิจัยเทคโนโลยีหลอมและวิธีการผลิตทองแดงในระยะแรก ทั้งยังช่วยปะติดปะต่อภาพการผลิตทองแดงในประเทศจีนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เครื่องหยกที่ขุดพบบริเวณเหมืองหยก เมืองตุนหวง มณฑลกานซู่

6. เหมืองหยกโบราณตั้งอยู่ห่างจากเมืองตุนหวงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 68 กิโลเมตร ในมณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นเหมืองหยกเทรโมไลต์ (tremolite) เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในประเทศจีน พื้นที่ครอบคลุมถึง 3 ล้านตารางเมตรแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของการขุดเหมืองและการใช้ประโยชน์ของหยกเทรโมไลต์ในภูมิภาคนั้นเมื่อประมาณ 3,700 ปีที่ผ่านมา

รูปปั้นผู้วิเศษขี่มังกรที่ขุดพบในหลุมศพชนชั้นสูงของแคว้นเจิ้งในยุคชุนชิว มณฑลหูเป่ย

7. กลุ่มหลุมศพของขุนนางชั้นสูงของแคว้นเจิ้งในยุคชุนชิว (770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ถูกพบในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน พบหลุมฝังศพมากกว่า 50 หลุมและคอกม้า 3 แห่งที่บริเวณนี้ เป็นเบาะแสเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ของแคว้นเจิ้ง

ซากปรักหักพังในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

8. การค้นพบโบราณสถานในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนแสดงหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปกครองของราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 220) และยังแสดงถึงการเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมชาติพันธุ์ในซินเจียงและวัฒนธรรมแห่งที่ราบภาคกลาง

โครงสร้างภายในของหลุมศพในยุคอาณาจักรถู่โปของทิเบต มณฑลชิงไห่

9. นักโบราณคดีพบหลุมฝังศพที่ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังในยุคอาณาจักรถู่โปของทิเบต ซึ่งอยู่มานานกว่า 1,000 ปี ในมณฑลชิงไห่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นหลุมฝังศพแห่งแรกที่พบบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต โดยมีจิตรกรรมฝาผนังที่ผสมผสานศิลปะของราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 -907) และวัฒนธรรมแบบชนเผ่าเร่ร่อน การค้นพบดังกล่าวมีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับการวิจัยด้านการสื่อสารทางวัฒนธรรมตามเส้นทางสายไหมโบราณ

โครงสร้างเรือและสินค้าภายในห้องต่างๆ ของซากเรือหนานไห่หมายเลข 1 ในสมัยราชวงศ์ซ่ง มณฑลกว่างตง
10. การค้นพบและการขุดค้นซากเรือหนานไห่หมายเลข 1 ซึ่งเป็นเรืออับปางในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1279) เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาโบราณคดีใต้น้ำของจีน ฉายภาพการค้าทางทะเลที่รุ่งเรืองยุคสมัยนั้น พร้อมทั้งให้หลักฐานมากมายสำหรับการวิจัยประวัติศาสตร์ของการต่อเรือ, เครื่องกระเบื้อง, การขนส่งทางเรือ และด้านอื่นๆ ของจีนในสมัยโบราณ รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้

****************************

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากซินหัว



กำลังโหลดความคิดเห็น