xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยโบราณคดี...ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม ‘หนู’ ต้อนรับตรุษจีนปีหนูทอง (ชมภาพ)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ซินหัว,ปักกิ่ง — เพื่อต้อนรับ “ปีชวด” หรือปีหนู เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ปี 2020 คณะนักโบราณคดีจีนจึงขอพาย้อนอดีตไปถึง “หนูยุคแรกสุด” ที่ปรากฏในวัฒนธรรมจีน พร้อมเผยทัศนคติอันซับซ้อนที่มีต่อสัตว์ตัวน้อยชนิดนี้ ซึ่งอาจมีทั้งความรักปนชังหรือความอดกลั้นระคนขำขัน

ปีหนูถือเป็นปีแรกในปีนักษัตรจีน แต่สัตว์ฟันแทะตัวน้อยมักเป็นที่รู้จักในทางที่ไม่ค่อยดี ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียด้านการขโมยอาหาร กัดแทะเสื้อผ้า สร้างความเสียหายแก่เขื่อนต่างๆ ไปจนถึงการแพร่โรคร้าย


หยวน จิ้ง นักวิจัยสถาบันโบราณคดี สังกัดสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน (CASS) อธิบายว่าหากเทียบกับวิวัฒนาการของมนุษย์ที่ยาวนาน 3 ล้านปี หนูมีชีวิตอยู่บนโลกมานานกว่านั้นโดยย้อนกลับไปได้ถึง 55 ล้านปี พวกมันอยู่ยืนยงรอดพ้นจากยุคน้ำแข็งอันหนาวเหน็บ หลบหลีกภัยพิบัตินับไม่ถ้วนทั้งภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม และแผ่นดินไหว ท่ามกลางสิ่งมีชีวิตมากมายที่สูญพันธุ์ไปก่อนมนุษย์จะถือกำเนิด ดังนั้นจึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าหนูคือหนึ่งในสิ่งมีชีวิตเก่าแก่ที่สุดในโลก

นักโบราณคดีกลุ่มหนึ่งขุดค้นพบซากฟอสซิลของ “หนูบ้าน” ที่แหล่งขุดค้นยุคหินเก่าโจวโข่วเตี้ยน (Zhoukoudian) ในเขตชานเมืองปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของมนุษย์ปักกิ่งเมื่อราว 700,000 ปีก่อน

ต่อมาในยุคหินใหม่ เมื่อเทคโนโลยีการเกษตรเริ่มแผ่ขยายออกไป บรรดาหนูนาหนูบ้านจึงเริ่มปรับตัวให้เข้ากับแนวทางการผลิตทางการเกษตรอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเพื่อนผู้คุ้นเคยของมนุษย์และตามติดไปทุกที่ไม่ว่ามนุษย์จะย้ายถิ่นไปที่ใด โดยปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก

เมื่อนักโบราณคดีเข้าไปสำรวจพื้นที่ขุดค้นแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอายุย้อนกลับไปถึง 4,100-3,500 ปี ในเมืองจางเยี่ย มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน พวกเขาพบ “กระดูกหนู” พร้อมโบราณวัตถุที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน ตลอดจนข้าวสาลี ซากแกะ และเตาหลอมโลหะ

ส่วนที่แหล่งขุดค้นในเมืองจิ้งเปียน มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน นักโบราณคดียังขุดค้นพบซากหนูจำนวนหนึ่ง เมื่อตรวจหาอายุด้วยการวิเคราะห์ไอโซโทปของคาร์บอนและไนโตรเจน พวกเขาพบว่าหนูอาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ 4,000 ปีที่แล้ว


นอกจากจะปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างมนุษย์กับหนูแล้ว หยวนยังเปิดเผยว่าจีนมีโบราณวัตถุที่เป็นรูปปั้นสัตว์อยู่ไม่น้อย แม้ที่เป็นรูปหนูนั้นจะมีไม่มากนัก แต่ก็พอเป็นประจักษ์พยานสะท้อนคติความเชื่อและทัศนคติที่มีต่อหนูของคนในประวัติศาสตร์ได้

ครั้งหนึ่งมีการขุดค้นหลุมฝังพระศพของกษัตริย์แห่งรัฐกั๋วโบราณจากยุคศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสตกาล ซึ่งปัจจุบันคือเมืองซานเหมินเสีย มณฑลเหอหนานทางกลางของจีน การขุดค้นครั้งนั้นเป็น 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีประจำปี 1991 โดยในหมู่โบราณวัตถุกว่า 4,600 ชิ้น ปรากฏชิ้นส่วน “หนูหยก” ขนาดกว้าง 0.9 เซนติเมตร ยาว 2.6 เซนติเมตร และสูง 1.2 เซนติเมตร ซึ่งเป็นหยกใสประดับลวดลายก้อนเมฆ

การขุดค้นอีกครั้งหนึ่ง นักโบราณคดีพบ “หนูสัมฤทธิ์” ในสุสานเม่าหลิง เมืองเสียนหยาง มณฑลส่านซี ซึ่งเก่าแก่ถึงช่วง 139-87 ปีก่อนคริสตกาล ลักษณะประติมากรรมที่พบเป็นหนูที่กำลังพยายามกลืนผลไม้ ดวงตาเบิกกว้าง หูตั้งตรง ลำตัวโค้งงอเล็กน้อย ส่วนแขนขาดูเหมือนกำลังคลาน

ต่อมาเป็นประติมากรรมตุ๊กตาหนูดินเผาขนาดเล็กจำนวนมากที่มาจากสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ. 220) ซึ่งถูกขุดพบทางตอนเหนือของนครซีอาน เมืองเอกของมณฑลส่านซี โดยแต่ละตัวสูงประมาณ 3 เซนติเมตร และยาว 6 เซนติเมตร

อีกหนึ่งการค้นพบครั้งสำคัญคือจิตรกรรมฝาผนังยุคราชวงศ์ฮั่น บริเวณจุดวางโลงศพริมหน้าผาหลายจุดแห่งลุ่มแม่น้ำฉี มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ปรากฏภาพเขียนสุนัขกำลังกัดหนูโดยมีลิงนั่งอยู่ใกล้ๆ โดยปัจจุบันมีสำนวนจีนสำนวนหนึ่งว่า “หมาจับหนู” ซึ่งหมายถึงการจุ้นจ้านธุระของผู้อื่น

นอกจากนั้นนักโบราณคดียังพบภาพเขึยนที่คล้ายคลึงกันปรากฏบนภาพวาดอิฐสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220) ที่ขุดพบในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภออี๋หนาน มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน โดยภาพดังกล่าวเผยให้เห็นสุนัขตัวหนึ่งกำลังคลานอยู่ใต้โต๊ะและเตรียมกระโจนจับหนู

รูปปั้นหัวสัตว์สัมฤทธิ์นักษัตรหนู (ขวา) ส่วนหนึ่งของนาฬิกาพ่นน้ำ 12 นักษัตรแห่งวังหยวนหมิงหยวนในกรุงปักกิ่ง
ส่วนโบราณวัตถุชุดสุดท้ายที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้นั้นคือ “รูปปั้นหัวสัตว์สัมฤทธิ์ 12 ชิ้น” ซึ่งเป็นตัวแทนของ 12 นักษัตรตามคติความเชื่อจีน ครั้งหนึ่งประติมากรรมเหล่านี้เคยตั้งอยู่ที่น้ำพุนาฬิกาในอุทยานหยวนหมิงหยวนหรือพระราชวังฤดูร้อนเดิมในปักกิ่ง ซึ่งสร้างขึ้นโดยจักรพรรดิเฉียนหลงที่ครองราชย์ระหว่างปี 1736-1795 แต่ในปี 1860 ช่วงสงครามฝิ่นครั้งที่สอง อุทยานดังกล่าวถูกเผา ส่วนประติมากรรมรูปปั้นสัมฤทธิ์ถูกทหารอังกฤษ-ฝรั่งเศสปล้นไป ก่อนต่อมาในปี 2013 ฟรองซัว-อองรี ปีโนลต์ (Francois-Henri Pinault) ผู้ทรงอิทธิพลวงการค้าของหรูหราจากแดนน้ำหอม ได้ส่งมอบ “หัวหนูสัมฤทธิ์ “และ “หัวกระต่ายสัมฤทธิ์” กลับมายังจีน






กำลังโหลดความคิดเห็น