สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีน รายงาน (8 ม.ค.) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) เปิดเผยว่าหอสังเกตการณ์ขนาดยักษ์ที่ใช้สำหรับค้นหาแหล่งกำเนิดรังสีคอสมิก (Cosmic) ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นไปแล้วครึ่งหนึ่ง และได้เดินเครื่องตรวจจับไปหลายพันตัวแล้ว
โครงการก่อสร้างหอสังเกตการณ์ LHAASO (Large High-Altitude Air Shower Observatory) ตั้งอยู่บนภูเขาไห่จื่อ มณฑลซื่อชวน เหนือระดับน้ำทะเล 4.41 กิโลเมตร บนพื้นที่ขนาดเทียบเท่าสนามฟุตบอล 200 แห่ง สร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 1.2 พันล้านหยวน (ราว 5.2 พันล้านบาท) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2016 โดยนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2019 โครงการได้เปิดใช้เครื่องตรวจจับไปแล้วมากกว่า 2,000 ตัว ซึ่งทำหน้าที่ตรวจหารังคอสมิกและให้ข้อมูลสถิติแก่นักวิทยาศาสตร์สำหรับการวิเคราะห์
รังสีคอสมิกเป็นรังสีจากอวกาศที่มีพลังงานทะทุทะลวงสูง เมื่อรังสีชนิดนี้ปะทะกับอนุภาคบนชั้นบรรยากาศจะสร้างอนุภาคที่แตกต่างกันหลายชนิด อาทิ นิวตรอน มีซอน (meson) และไฮเพอรอน (hyperon)
อย่างไรก็ดี แหล่งกำเนิดของรังสีชนิดนี้ยังเป็นปริศนาสำหรับนักวิทยาศาสตร์มานานนับศตวรรษ เฉาเจิ้น หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของโครงการ และนักวิจัยสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูง (Institute of High Energy Physics) สังกัดสถาบันฯ ระบุว่าหอสังเกตการณ์ LHAASO แห่งนี้จะช่วยขยายมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดรังสีคอสมิก
ทั้งนี้ สถาบันฯ ระบุว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2021