สำนักข่าวซินหวา สื่อทางการจีน รายงาน (11 ธ.ค.) คณะนักโบราณคดีในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เปิดเผยการค้นพบไหบรรจุข้าวเปลือกและไข่ที่ยังไม่แตกสลาย ซึ่งมีความเก่าแก่มากกว่า 500 ปี
ถังอวิ๋นเหม่ย ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์นครกว่างอาน กล่าวว่านักโบราณคดีขุดพบไหจากสุสานยุคราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ภายในสวนสาธารณะของเมืองกว่างอาน โดยคำจารึกบนหลุมศพบ่งชี้ว่าสุสานเป็นของหยางหมิง (Yang Ming) ที่เสียชีวิตในปี 1501 และภรรยา 2 คน
ถังกล่าวว่าสุสานหินถูกค้นพบในสภาพปิดไว้อย่างดี มีการออกแบบที่ป้องกันความชื้นและการผุกร่อน รวมถึงมีการเคลือบปูนขาวข้างในโลงศพไม้เป็นชั้นหนาราว 2-5 เซนติเมตร ส่วนไหข้าวและไข่มีฝาปิดมิดชิดเช่นกัน
“สุสานแห่งนี้ถูกก่อสร้างขึ้นมาอย่างรอบคอบ โดยจัดพื้นที่อับอากาศที่อุณหภูมิและความชื้นในอากาศคงที่ ส่งผลให้ไข่ยังคงอยู่ในสภาพดีเยี่ยม” ถังกล่าว
การค้นพบไข่ที่ยังไม่แตกสลายจากสุสานโบราณถือเป็นเรื่องหายากยิ่งในจีน โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม นักโบราณคดีจีนได้ขุดพบไหบรรจุไข่หลายฟองโดยมีเพียงฟองเดียวที่แตกจากสุสานอายุ 2,500 ปี ในมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของประเทศ
ขณะที่นักโบราณคดีในมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ เคยค้นพบไข่จากสุสานที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี เมื่อปี 2015 แต่เมื่อแปรงทำความสะอาดของนักวิจัยสัมผัสเปลือกไข่ ไข่ก็แตก
เหล่านักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงถึงความหมายแฝงทางวัฒนธรรมของการฝังไข่ในสุสาน โดยทฤษฎีหนึ่งชี้ว่าเป็นสัญลักษณ์การมีชีวิตต่อไปผ่านทายาท ส่วนอีกทฤษฎีชี้ว่าเจ้าของสุสานอาจแค่ชอบรับประทานไข่ตอนยังมีชีวิตอยู่
ถังเสริมว่าไหบรรจุไข่ที่ค้นพบล่าสุดถูกปิดเรียบร้อยแล้ว เพื่อนำไปวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยรังสีอินฟราเรด ซึ่งคาดว่าจะช่วยเผยจำนวนและสภาพภายในที่แท้จริงของไข่ทั้งหมดโดยไม่สร้างความเสียหาย