ซินหัว, กุ้ยหยาง — เมื่อวันจันทร์ (16 ธ.ค.) เวลา 08.28 น. ตามเวลาท้องถิ่น รถไฟหัวกระสุนออกเดินทางจากเมืองกุ้ยหยาง เมืองเอกของมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ผ่านเมืองต่างๆ ในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) บุกฝ่าเส้นทางที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน เพื่อมุ่งหน้าสู่นครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) โดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง 58 นาที!
การเปิดบริการรถไฟหัวกระสุนดังกล่าวซึ่งออกแบบความเร็วถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือเป็นการเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเฉิงตู-กุ้ยหยางระยะทาง 648 กิโลเมตร อันเป็นส่วนสำคัญในเป้าหมายของจีนที่จะสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
เจ้าหน้าที่บริษัทไชน่า เรลเวย์ เอ้อร์ย่วน เอนจิเนียริง กรุ๊ป (China Railway Eryuan Engineering Group) กล่าวว่าทางรถไฟสายนี้ได้เชื่อมระหว่างเมืองกุ้ยหยางและนครเฉิงตู ซึ่งล้วนเป็นเมืองศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ ทั้งยังเป็นการสร้างเส้นทางคมนาคมเพื่อการสัญจรที่รวดเร็วให้แก่ผู้โดยสารจำนวนมหาศาล เพื่อการเดินทางต่อไปยังภูมิภาคชายฝั่งทางตะวันออกและทางตอนใต้อีกด้วย
“เส้นทางรถไฟสายนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการท่องเที่ยว การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การบรรเทาความยากจน ตลอดจนยุทธศาสตร์ของจีนในการพัฒนาภูมิภาคทางตะวันตกด้วย” เจ้าหน้าที่กล่าว
ซางชิ่งลี่ หัวหน้ากลุ่มศิลปะจากอำเภอต้าเฟิง เมืองกุ้ยโจว พร้อมคณะอีก 30 คน เดินทางมายังสถานีกุ้ยหยางเหนือเพื่อโดยสารรถไฟหัวกระสุนเที่ยวแรก
“เราพร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองต้าเฟิงอย่างเต็มที่เมื่อถึงนครเฉิงตู” ซางกล่าว พร้อมเสริมว่าการเปิดเส้นทางรถไฟใหม่นี้จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวท้องถิ่น ตลอดจนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อี๋
เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทางรถไฟความยาว 648 กิโลเมตรสายนี้ จึงสร้างบนสะพานยกสูงและลอดอุโมงค์ราวร้อยละ 85
“ในแง่ภูมิศาสตร์ ทางรถไฟความเร็วสูงเฉิงตู-กุ้ยหยางนับเป็นโครงการรถไฟโดยสารที่ซับซ้อนที่สุดโครงหนึ่งในบรรดามณฑลที่เป็นเขตเทือกเขาสลับซับซ้อน” เจิ้งเทา นักออกแบบของบริษัทฯ กล่าว
เจิ้งเสริมว่าการสร้างทางรถไฟสายนี้เสร็จสมบูรณ์เป็นข้อพิสูจน์ถึงความเชี่ยวชาญรอบรู้ของจีนในการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง พร้อมบอกเล่าถึงความพิเศษทางวิศวกรรมต่างๆ ในโครงการ อาทิ รางไร้หินโรย และสะพานโค้งคอนกรีตเสริมเหล็กคานยาว
นอกจากนี้ ทางรถไฟสายนี้ยังเป็นหนึ่งในโครงการรถไฟแรกๆ ในจีนที่ดำเนินการก่อสร้างภายใต้หลักการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างน้อยที่สุด ทั้งยังเป็นการปกป้องบรรดาสัตว์ป่าและพรรณพืชตามแนวเส้นทางรถไฟ
ตัวอย่างเช่น คณะนักออกแบบต้องใช้เวลาราว 3 ปี ในการออกแบบเส้นทางรถไฟข้ามแม่น้ำหมิ่นเจียงเพื่อหาจุดที่สมดุลที่สุดในการลดผลกระทบต่อเขตอนุรักษ์ธรรมชาติปลาหายากในบริเวณใกล้เคียง
อีกตัวอย่างหนึ่งเช่นทางรถไฟระยะที่ผ่านจุดชมวิวเย่ว์ซีเหอ มณฑลซื่อชวนนั้นมีพืชนานาชนิดเติบโตอยู่ตามแนวรางรถไฟ ซึ่งเป็นสะพานยกสูงและเป็นจุดลอดอุโมงค์
พืชและต้นไม้เหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยยึดหน้าดินในช่วงการก่อสร้างและการใช้บริการรถไฟเท่านั้น แต่ยังสร้างทิวทัศน์ที่เข้ากันกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
นอกจากนั้นแล้วบริเวณที่ตัดผ่านส่วนที่ยากจนที่สุดในเทือกเขาอูเหมิงซาน ทางรถไฟสายนี้ยังได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านในท้องถิ่นจำนวนมากในฐานะที่เป็นฟันเฟือนแห่งการพัฒนา
หยางเหวินเฟิน หญิงวัย 53 ปี ประกอบอาชีพเป็นช่วงหัตถกรรมจักสานในเมืองเก่าเซ่อเซียง ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟต้าฟาง ส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายใหม่เพียง 1.2 กิโลเมตร เธอทำงานกับคนฝึกงานจำนวน 17 คน โดยพวกเขาสามารถผลิตผ้าปักได้ถึงเดือนละ 30 ชุด
“ฉันน่าจะต้องเร่งสอนเด็กฝึกงานของฉันเสียแล้ว ไม่อย่างนั้นจะผลิตได้ไม่ทันความต้องการของตลาด” หยางกล่าว
เฉินหย่งลี่ เจ้าหน้าที่ในตำบลเซ่อเซียง ยังยุ่งอยู่กับการดูแลการพัฒนาภาคบริการการท่องเที่ยวของตำบลซึ่งตั้งเป้าว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้มากขึ้นและขยายการเข้าพักในที่พักออกไปอีก เขาคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวที่ค้างคืนที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยขยายการจ้างงานและการค้าขายสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวได้อย่างมาก
“ทางรถไฟความเร็วสูงนี้เปิดโอกาสซึ่งหาได้ยากยิ่งในการพัฒนา เราจะไม่ยอมพลาดโอกาสนี้ไปแน่ๆ” เขากล่าว
อนึ่ง ทางรถไฟสายกุ้ยหยาง-เฉิงตู ตัดผ่านเมืองสำคัญต่างๆ ในมณฑลกุ้ยโจว อวิ๋นหนาน และซื่อชวน อาทิ เมืองเหมยซาน เมืองเล่อซาน เมืองอี๋ปิน เมืองเวยซิ่น เมืองเจิ้นสยง และเมืองปี้เจี๋ย โดยบางส่วนทยอยเปิดเส้นทางระหว่างเมืองไปแล้วในช่วงสิ้นปี 2014 และเดือนมิถุนายน 2019
ในช่วงการเปิดเส้นทางระยะแรก การรถไฟจีนจะนำรถไฟออกวิ่งให้บริการจำนวน 20 ขบวนต่อวัน แต่หลังจากปรับแผนปฏิบัติการระบบรางแห่งชาติในวันที่ 30 ธ.ค. นี้ จะเพิ่มจำนวนรถไฟเป็น 44 ขบวนต่อวัน และจะเพิ่มอีก 14 ขบวนสำหรับนครเฉิงตูหากอยู่ในชั่วโมงเร่งด่วน