xs
xsm
sm
md
lg

“ไดกิ้น”โหมแอร์พาณิชย์ตลาดภูธร ไทยยังโตอีก-ครัวเรือนถือครองแค่50%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน360 – “ไดกิ้น” ชี้ตลาดแอร์รวมในไทยยังมีโอกาสโตได้อีก เหตุอัตราการครอบครองต่อครัวเรือนยังต่ำมาก โดยเฉพาะภาคอีสานแค่ 10% กว่าเท่านั้นเอง เร่งเครื่องโหมตลาดแอร์พาณิชย์ภูธร

นายสมพร จันกรีนภาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดแอร์ในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อน และเมื่อพิจารณาจากอัตราการครอบครองแอร์ของครัวเรือนในไทยแล้วจะพบว่า ยังมีต่ำมากเฉลี่ยแล้วยังต่ำกว่า 50% ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมดด้วยซ้ำไป

โดยตัวเลขการครอบครองแอร์ของครัวเรือนไทยในแต่ละภาคนั้นแตกต่างกัน จะพบว่า กรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ก็ยังมีอัตราการครอบครองแอร์เฉลี่ยแค่ 51.5% เท่านั้นในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 44.3% ในปี 2558, ภาคกลางตลาดใหญ่รองลงมา มีอัตราการครอบครองปี 2561 อยู่ที่ 32.4% เพิ่มจากเดิมในปี 2558ที่มีอยู่ 26.6%, ส่วนภาคเหนือมีการครอบครอง 24.9% ในปี 2561 เพิ่มจากเดิมที่มี 18.5% ในปี2558, ภาคใต้ มีการครอบครองที่ 20.3% ในปี2561 เพิ่มจากเดิมที่มี 17.3% เมื่อปี 2558 ขณะที่ภาคอีสานเป็นตลาดที่ยังมีน้อยมากแค่ 13.6% เมื่อปี2561 เพิ่มเล็กน้อยที่มี 11.2% ในปี2558
อีกทั้งปัจจัยเรื่องราคาของแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์ที่เริ่มต่ำลงมา ทำให้ช่องว่างราคากับแอร์อินเวอร์เตอร์ห่างกันไม่มากเท่าใดนัก ยิ่งจูงใจให้ครบหัสมาซ้อระบบอนเวอร์เตอร์มากว่า




สำหรับแผนธุรกิจของไดกิ้นจะรุกขยายตลาดในต่างจังหวัดมากขึ้น ทั้งแอร์ที่พักอาศัยหรือแอร์บ้านและแอร์เชิงพาณิชย์ ควบคู่กันไป หลังจากที่ผ่านมา ไดกิ้น ยังไม่ได้โหมตลาดในส่วนของแอร์พาณิชย์มากเท่าใดนัก ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายรายได้สัดส่วนเท่ากันที่ แอร์บ้านกับแอร์พาณิชย์ที่ 50%-50% ซึ่งปัจจุบันก็ใกล้เคียงกันคือ แอร์บ้าน 51% และแอร์พาณิชย์ 49%

“ต้องยอมรับว่า ตลาดรวมแอร์บ้านที่หายไป ได้รับผลกระทบจากแอร์ที่มาจากจีนบ้าง ที่มีราคาต่ำกว่า 30% เราต้องหันมามุ่งเน้นตลาดแอร์พาณิชย์มากขึ้นเป็นการทดแทน ด้วยการขยายตลาดแอร์พาณิชย์ในตลาดต่างจังหวัด ส่วนแอร์บ้านนั้นไดกิ้นก็เป็นผู้นำตลาดอยู่แล้ว”

ปัจจุบันไดกิ้นมีส่วนแบ่งตลาดรวมแอร์บ้านและแอร์พาณิชย์อยู่ที่ 28% เป็นอับดับหนึ่งในตลาด จากมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ มูลค่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับอีกแบรนด์ที่อยู่ในอันดับที่2สูสีกัน ขณะที่อันดับที่3นั้นถูกทิ้งห่างไปมาก




มร.อาคิฮิสะ โยโกยามา ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบปีที่ 95 ของเครื่องปรับอากาศไดกิ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปรับอากาศจากประเทศญี่ปุ่น ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1924 ในญี่ปุ่น มีฐานการผลิตมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบัน ครอบครัวไดกิ้นมีพนักงานกว่า 76,484 คน มีสำนักงานใหญ่และบริษัทในเครือกว่า 292 แห่งทั่วโลก โดยจากปี 2009 ธุรกิจของไดกิ้นเติบโตอย่างรวดเร็วมียอดขาย 1,202,420 ล้านเยน หรือ 335,188 ล้านบาท และในปี 2019 ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2,209,561 ล้านเยน หรือ 615,941.42 ล้านบาท

ในปี 2017 บริษัทสามารถผลิตเครื่องปรับอากาศได้กว่า 6,600,000 เครื่อง และมีความสามารถในการผลิตได้สูงถึง 13 เครื่องภายใน 1 นาที โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณลงทุนด้าน R&D สูงถึง 401 พันล้านเยน หรือประมาณ 115,000 ล้านบาท ทำให้ไดกิ้นมีสิทธิบัตรด้านนวัตกรรมความเย็นกว่า 20,000 รายการและใน 180 รายการเป็นสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็น R-32 ในขณะเดียวกัน กว่า 83% อาคารของไดกิ้นทั่วโลกยังส่งเสริมให้เป็นอาคารสีเขียวที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 54 ล้านตัน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 6,100,000,000 ต้น ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้ถึง 44 ล้านคัน




สำหรับเทคโนโลยีความเย็นของกลุ่มเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ปีหน้าไดกิ้นเปิดตัว Magnetic Bearing Chillers ระบบทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในขณะนี้ มีวิธีการทำงานคล้ายรถไฟหัวกระสุนของญี่ปุ่น ที่ใช้หลักการทำงานของสนามแม่เหล็ก แกนในการหมุนจะลอยอยู่กลางอากาศ ทำให้ลดแรงเสียดทานระหว่างการหมุน ลดการใช้พลังงาน ให้ระบบความเย็นที่เงียบ และลดค่าดูแลรักษาลงเนื่องจากไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันคอมเพรสเซอร์ โดยไดกิ้นเป็นเครื่องปรับอากาศรายแรกของไทยที่พัฒนาระบบ Magnetic Bearing Chillers ให้ใช้กับเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ที่มีขนาด 1.2 -14.4 ล้าน บีทียู หรือ 1,200 ตันความเย็น ซึ่งถือเป็นขนาดที่ใหญ่มากในตลาดเครื่องปรับอากาศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือ กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม 5 ดาว และเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นต้น

กลุ่มลูกค้าของไดกิ้น ที่ผ่านมามีหลากหลาย ทั้งกลุ่มที่พักอาศัย และเชิงพาณิชย์ โดยตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา กลุ่มเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่มีสัดส่วนรายได้ที่เติบโตขึ้นเป็น 3 เท่าทุกปี มีสัดส่วนรายได้ในปี 2018 สูงถึง 12,000 ล้านบาท ทำให้ไดกิ้นมองเห็นโอกาสที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ได้ครบทุกความต้องการของลูกค้า มีความคุ้มค่าที่ช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนค่าดูแลรักษาลง สามารถคืนทุนให้แก่ผู้ลงทุนได้ภายใน 3-5 ปี” มร.โยโคยามา กล่าว
นอกจากนี้สำหรับกลุ่มเครื่องปรับอากาศในที่พักอาศัย หรือ Room Air ซึ่งปีหน้ามาพร้อมกับเครื่องปรับอากาศ Room Air (Big Wall) ที่เพิ่มขนาด BTU สูงสุดในรุ่น 36,000 BTU ซึ่งไดกิ้นเป็นเจ้าแรกของ Room Air Inverter ในขนาด BTU นี้ และได้รับการยอมรับในฐานะเครื่องปรับอากาศระบบ อินเวอร์เตอร์ ที่มีระบบความเย็นอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานสูงสุด ที่สามารถเชื่อมต่อกับ Smart Home Kit


กำลังโหลดความคิดเห็น