จัดงานฉลองปีที่ 10 ของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีในการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ด้วยความสำคัญและความเร่งด่วนที่ต้องจัดการและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กรุงเทพฯ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานฉลองครบรอบ “10 ปี ความร่วมมือไทย - เยอรมัน การเดินทางรักษ์สิ่งแวดล้อม” เพื่อร่วมมือกันปกป้องและแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมผ่านการเดินทางจากอดีตสู่ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยประสบการณ์การเรียนรู้ การผนึกกำลังความร่วมมือของทั้งสองประเทศในการดำเนินงาน รวมทั้งการสะท้อนมุมมองต่อความท้าทายและแนวทางการดำเนินงานในอนาคต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ณ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กรุงเทพฯ
“ประเทศเยอรมนีเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เราได้รวบรวมการดำเนินงานความร่วมมือตลอด 10 ปีที่ผ่านมาไว้ในงานนี้ กว่า 60 โครงการที่เราได้ดำเนินการครอบคลุมเรื่องการจัดการของเสีย การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มาตรการป้องกันปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง และการส่งเสริมการผลิตเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่ประหยัดพลังงาน” นายเกออร์ก ชมิดท์ (H.E. Mr.Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิด
นายชมิดท์กล่าวว่าการดำเนินงานดังกล่าวนับเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากผลกระทบที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม เราสามารถที่จะจัดการหรือรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ประเทศไทยต้องการการเติบโตในหลายด้านมากควบคู่ไปกับการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การผลักดันและการสนับสนุนกรอบการดำเนินงานที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและการพัฒนาต่างๆ ที่ให้เกิดความยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้น ประเทศเยอรมนีจึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกับประเทศไทยในการรับมือกับปัญหาและความท้าทายดังกล่าว และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานร่วมกันต่อไป
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวขอบคุณรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องและเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ของสภาพภูมิอากาศ และระบุว่าไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถต่อสู้กับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้เพียงลำพัง ดังนั้นความร่วมมือระหว่างประเทศและความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจึงมีความสำคัญยิ่ง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต
"ประเทศไทยพร้อมเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับการจัดทำข้อเสนอที่จะผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ ในส่วนของแผนปฏิบัติการการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC) ประเทศไทยเองได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20 จากการดำเนินงานตามปกติ (BAU) ภายในปีพ.ศ. 2573 ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี จะช่วยสนับสนุนความพยายามของเรา และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้ขยายกรอบความร่วมมือและดำเนินงานในระยะต่อไปร่วมกัน” นายวราวุธกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพฯ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วยว่า สิ่งที่ได้รับจากเยอรมันนั้นมีทั้งงบประมาณ ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และโอกาสในการส่งคนไทยไปเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญเยอรมัน ซึ่งทำให้แนวทางการเรียนรู้เรื่องสภาวะโลกร้อนของไทยก้าวหน้าไปมาก และตั้งแต่มีรัฐบาลใหม่นั้น นายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก แต่สำหรับประเทศไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไทยเป็นประเทศที่กำลังเร่งพัฒนา การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนจึงเป็นเหมือนการดึงเบรกมือไปพร้อมๆ กับการเหยียบคันเร่ง
สำหรับโครงการภายใต้ความร่วมมือทวิภาคีไทย-เยอรมันจำนวน 13 โครงการ ได้รับเงินทุนราว 57.5 ล้านยูโร (ประมาณ 1.9 พันล้านบาท) จากจำนวนนี้เป็นโครงการภายใต้กองทุน NAMA Facility จำนวน 2 โครงการ ด้วยเงินทุนกว่า 13.5 ล้านยูโร (ประมาณ 450 ล้านบาท) ซึ่งเงินทุนทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ภายใต้การปฏิบัติงานของแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (International Climate Initiative: IKI) โดยโครงการทั้งหมดนั้นล้วนมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินงานเพื่อปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปกป้องพื้นที่ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ
ภายในงานยังได้จัดแสดงนิทรรศการเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “เส้นทางแห่งความร่วมมือไทย - เยอรมัน” พร้อมกับการจัดเสวนาเพื่อสะท้อนมุมมองจากผู้ที่เคยได้ร่วมและได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการและทรรศนะของผู้แทนเยาวชนที่มีต่อการดำเนินความร่วมมือในอนาคต
งานฉลองครบรอบ “10 ปี ความร่วมมือไทย - เยอรมัน การเดินทางรักษ์สิ่งแวดล้อม” มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 150 คน ได้แก่ ผู้แทนจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม เยาวชน สื่อมวลชน และผู้ดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก IKI ซึ่งประกอบด้วยองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Plan International) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) สถาบันเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโลก (GGGI) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย