xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ช่องค่าไฟเหลือศูนย์บาท ด้วยโซลาร์เซล แนะหน่วยราชการ-บ.เอกชน วางระบบออนกริด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทุกภาคส่วนร่วมหนุนพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ “ดร.สมพร” ชี้ช่อง ลดค่าไฟฟ้าเหลือศูนย์บาท แนะหน่วยราชการและภาคธุรกิจที่ใช้ไฟช่วงกลางวัน หันมาใช้โซลาร์เซลล์ 100% โดยติดระบบออนกริด ขณะที่ครัวเรือนทั่วไปประหยัดค่าไฟได้ 400-700 บาท ในทุก 1,000 วัตต์ ด้าน “พระครูวิมล” เผย กองทุนแสงอาทิตย์ ติดโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลแล้ว 5 แห่ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แต่ละ รพ. ได้ถึงปีละ 4 แสนบาท

ต้องยอมรับว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศต่างๆได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลพบว่าปัจจุบันปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตในประเทศมหาอำนาจอย่างจีนมีมากถึง 130 กิกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับเกาะอังกฤษได้ทั้งเกาะเลยทีเดียว ขณะที่ประเทศไทยนั้นได้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วทั้งสิ้น 3,449 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ธ.ค.2561) ประกอบด้วย solar farm, solar PV rooftop และโครงการต่างๆของภาครัฐ ซึ่งหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงพลังงานก็ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เช่นกัน โดยติดตั้งไปแล้ว 3,250 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 เมกะวัตต์ อีกทั้งมีเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีก 12,725 เมกะวัตต์ ในอีก 18 ปีข้างหน้า

ซึ่งหมายความว่าการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้าคือหนึ่งในทิศทางพลังงานของโลกเลยทีเดียว

ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตนี (ม.อ.ปัตตานี)
ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตนี (ม.อ.ปัตตานี) นักวิชาการคนสำคัญที่ขับเคลื่อนเรื่องพลังงานทดแทนจากโซลาร์เซลล์ พูดถึงทิศทางของโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อย่างมาก โดยมีเครือข่ายอยู่ในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายคนกินแดดภาคใต้ เครือข่ายโซล่าเซลล์ภาคอีสาน เครือข่ายพลังงานภาคเหนือ อีกทั้งองค์กรภาคประชาชนและเครือข่ายผู้บริโภคยังได้มีการรวมตัวกันจัดตั้ง “กองทุนแสงอาทิตย์” เพื่อระดมทุนในการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารโรงพยาบาล โรงเรียน และอาคารสาธารณะซึ่งใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชน เพื่อให้หน่วยงานเหล่านี้สามารถพึงพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำ “โครงการคนบันดาลไฟ” เพื่อเผย่แพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องโซลาร์เซลล์ และโครงการ "มหา’ลัยไฟจากฟ้า” ซึ่งสอนวิธีการผลิตไฟฟ้าฉบับออนไลน์ จาก 4 สำนัก คือ สำนักศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี, สำนักลานหินตัด จ.บุรีรัมย์, สำนักช่วยอารีย์ จ.นครศรีธรรมราช และสำนักช่างดำ จ.บุรีรัมย์ โดยมีหลักสูตร 3 ระดับ คือความรู้ทั่วไป ความรู้พึ่งพาตัวเอง และความรู้เชิงประยุกต์ อีกทั้งได้วางแผนจัดอบรมในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศ 15 แห่ง จำนวน 32 ครั้ง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 1,500 คน

พระครูวิมล ปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี
ด้าน พระครูวิมล ปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จ.อุบลราชธานี ประธานกองทุนแสงอาทิตย์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรมซึ่งเป็นโรงเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ ระบุว่า เบื้องต้นกองทุนแสงอาทิตย์มีเป้าหมายที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ 7 แห่ง โดยล่าสุดได้ติดตั้งไปแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร ,โรงพยาบาลแก่งคอย จ.สระบุรี , โรงพยาบาลทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี , โรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น และโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสระเกษ นอกจากนั้นในส่วนของโรงเรียนศรีแสงธรรมจะมีการจัดวิ่งการกุศลเพื่อนำรายได้มาใช้ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้แก่โรงพยาบาลใน จ.อุบลราชธานี ที่เพิ่งประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าให้โรงพยาบาลในจังหวัดอุบลฯได้ถึงปีละ 850,000 บาท โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 22 มี.ค.2563 ที่จะถึงนี้

ส่วนประเด็นที่ทุกคนให้ความสนในคือเรื่องค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและความคุ้มค่าของการลงทุน รวมถึงความนิยมในการติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้น ดร.สมพร ระบุว่า ขณะนี้ในประเทศไทยมีผู้สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์พอสมควร เฉพาะข้อมูลที่แจ้งในระบบมีผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วกว่า 200 ราย และยังมีที่ไม่ได้แจ้งในระบบอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการนำพลังงงานแสงแดดมาแปลเป็นไฟฟ้าช่วยให้สามารถลดค่าไฟได้อย่างชัดเจน โดยทุก 1,000 วัตต์ จะลดค่าไฟได้ 500-700 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งนั้น หากเป็นระบบออนกริดคือระบบที่แปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วนำมาใช้ทันที โดยจ่ายไฟผ่านสายส่ง ซึ่งใช้ได้เฉพาะในเวลากลางวันเท่านั้น ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 25,000-35,000 บาท ส่วนระบบออฟกริด คือระบบที่แปลงพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่ เวลาใช้ก็นำแบตเตอรี่มาต่อเข้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้า จึงไม่จำเป็นต้องมีสายส่ง เหมาะกับการใช้ไฟในเวลากลางคืน ระบบค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าระบบออนกริดเนื่องจากมีค่าแบตเตอรี่เพิ่มเข้ามาด้วย ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับจำนวนแบบเตอรรี่ที่ใช้ ซึ่งหากต้องการใช้ไฟหลายดวงเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชิ้น ก็ต้องใช้แบตเตอรี่หลายลูก

“สำหรับประเทศไทยนั้น ระบบออนกริดถือว่าคุ้มกว่าเพราะค่าใช้จ่ายไม่สูง ผลิตแล้วต่อเข้าสายส่งใช้ไฟได้เลย เหมาะกับหน่วยราชการและบริษัทห้างร้านซึ่งช่วงเวลาทำงานและใช้ไฟฟ้าคือเวลากลางวัน ค่าไฟฟ้าจะเท่ากับศูนย์ทันที แต่คุ้มที่สุดคือธุรกิจ เช่น ร้านซักรีด โรงสีข้าว เพราะเมื่อไม่เสียค่าไฟฟ้า ต้นทุนจะลดลงเยอะมาก ติดโซลาร์เซลล์ไม่กี่เดือนก็คืนทุน ส่วนแบบออฟกริดซึ่งผลิตไฟแล้วเก็บใส่แบตฯไว้ใช้นั้นราคาแบตเตอรี่ยังแพงอยู่ ผลิตเหลือจะขายให้การไฟฟ้าฯก็ไม่คุ้มเพราะราคารับซื้ออยู่ที่หน่วยละ 1.64 บาทเท่านั้น ” ดร.สมพร กล่าว


ขณะที่ พระครูวิมล เปิดเผยว่า จากสถิติพบว่าโรงพยาบาลที่ติดโซลาร์เซลล์สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 4แสนบาทต่อปี หากใช้แผงโซลาร์เซลที่คุณภาพสูง ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งจะอยู่ที่ 3.3 ล้านบาท และมีอายุการใช้งานถึง 25 ปิ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา จึงถือว่าคุ้มมาก

“ ถ้าโรงพยาบาลต่างๆประหยัดค่าไฟฟ้าได้ ก็สามารถนำเงินส่วนนี้ไปจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ หรือจ้างบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลกร ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น” พระครูวิมล กล่าว

อย่างไรก็ดี ดร.สมพร ชี้ว่ายังมีปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อยู่ 3 ประการ ก็คือ 1) ต้นทุนในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทั้งในส่วนของแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรรี่ ซึ่งวัสดุที่คุณภาพดียังมีราคาสูง ดังนั้นรัฐบาลจึงควรให้การสนับสนุบด้วยการลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าว 2) ยังขาดแคลนช่างที่มีความรู้ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ซึ่งรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาด้วยการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษา หรือจัดอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจ และ 3) ปัญหาขยะที่เกิดจากอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์ หรือแบตเตอรี่ ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการดูแลจัดการอย่างเป็นรูปธรรม

หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ก็เชื่อได้ว่าประเทศไทยจะสามารถนำทรัพยกรพลังงานที่มีอยู่มาใช้ได้อย่างคุ้มค่า และจะก้าวไปสู่ประเทศที่มีเสถียรภาพด้านพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืน

///////////////////////////////

โรงพยาบาลซึ่งใช้โซลาร์เซลล์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
ความรู้เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์

ทิศที่เหมาะกับการติดโซลาร์เซลล์

ในด้านภูมิศาสตร์นั้นนับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะที่การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์อย่างยิ่ง เพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรทำให้ได้รับปริมาณแสงแดดที่เข้มข้นเกือบตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากตำแหน่งที่ประเทศไทยตั้งอยู่นั้นอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นมาด้านบน ทำให้ดวงอาทิตย์ในประเทศไทยขึ้นจากทิศตะวันออก โดยอ้อมไปหาทางทิศใต้เสมอ ดังนั้น “ทิศใต้” จึงเป็นทิศที่ดีที่สุดในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยแต่ละพื้นที่จะกำหนดมุมในการติดตั้งโซลาร์เซลล์แตกต่างกันไป อาทิ กรุงเทพฯ ควรติดแผงโซลาร์เซลเอียงประมาณ 13.5 องศา คือเกือบเป็นแนวนอน ขณะที่ จ.เชียงใหม่ ควรติดแผงเอียงทำมุม 18.4 องศา โดยยกแผงให้สูงเชิดขึ้นมา
และในกรณีที่ทิศใต้ถูกต้นไม้หรือตึกบังก็สามารถเลี่ยงไปติดแผงโซลาร์เซลล์ โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกแทนได้ แต่ประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์อาจจะลดลงไปบ้างตามปริมาณของแสงแดดที่ได้รับ

หลักการทำงานของโซลาร์เซลล์

หลักการทำงานเริ่มต้นเมื่อนำแผงโซลาร์เซลล์ไปรับแสงจากดวงอาทิตย์ เซลล์แสงอาทิตย์จะดูดซับพลังงานจากแสงอาทิตย์แล้วส่งต่อไปยังแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โดยวงจรจะเปลี่ยนพลังงานจากแสงอาทิตย์ไปเป็นไฟฟ้ากระแสตรง DC

แต่ปัจจุบันอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีจำหน่ายโดยทั่วไปจะเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ AC จึงไม่สามารถนำมาใช้งานร่วมได้โดยตรง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เพิ่มเติม คือ อินเวอร์เตอร์ (solar Inverter) โดยหน้าที่ของอินเวอร์เตอร์นี้จะเป็นตัวแปลงไฟฟ้ากระแสตรง DC ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ AC จึงทำให้สามารถนำอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นกระแสสลับ AC มาใช้งานได้นั่นเอง
.
และอุปกรณ์ที่สำคัญอีกชนิดที่จะทำให้สามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องในกรณีที่ไม่มีแสงอาทิตย์ เช่น ในขณะที่ฝนตกท้องฟ้ามืดครึ้ม และในเวลากลางคืนก็คือแบตเตอรี่ ซึ่งจะเป็นตัวเก็บประจุไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉินได้


กำลังโหลดความคิดเห็น