xs
xsm
sm
md
lg

นาซาเผยตำแหน่งที่ยานอินเดียพุ่งชนดวงจันทร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นาซาเผยแพร่ภาพที่บันทึกด้วยยานแอลอาร์โอ ซึ่งแสดงตำแหน่งที่ยานวิกรมพุ่งชนดวงจันทร์บริเวณจุดสว่างกลางภาพ (Handout / NASA / AFP)
นาซาเผยภาพตำแหน่งยานอวกาศอินเดียตกบนดวงจันทร์เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา อาศัยข้อมูลจากความพยายามของมือสมัครเล่นที่สนใจเรื่องอวกาศช่วยค้นหา โดยเผยให้เห็นตำแหน่งที่เศษชิ้นยานตกกระจายกันไกลหลายกิโลเมตร

เมื่อเดือน ก.ย.2019 ที่ผ่านมา ยานลงจอดวิกรม (Vikram) ของอินเดียพุ่งชนดวงจันทร์ขณะพยายามลงจอดในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งมีความพยายามจะค้นหาตำแหน่งที่ยานตก จนกระทั่งมีอาสาสมัครที่สนใจด้านอวกาศได้ช่วยค้นหาจนพบตำแหน่งดังกล่าว

ล่าสุดองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้เผยภาพถ่ายโดยยานโคจรลูนาร์รีคอนเนสซองซ์ออร์บิเตอร์ (Lunar Reconnaissance Orbiter) หรือยานแอลอาร์โอ (LRO) ที่แสดงตำแหน่งบริเวณที่ยานลงจอดวิกรมพุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ โดยภาพที่นาซาแสดงนั้นส่วนหนึ่งได้เผยตำแหน่งที่เศษชิ้นส่้่วนของยานกระจัดกระจายห่างกันหลายกิโลเมตร

ทั้งนี้ นาซาได้เผยแพร่ภาพถ่ายโมเสคของพื้นผิวดวงจันทร์ที่บันทึกเมื่อวันที่ 17 ก.ย. และเผยแก่สาธารณะเมื่อวันที่ 26 ก.ย. เพื่อให้ประชาชนช่วยกันเปรียบเทียบภาพถ่ายของพื้นผิวดวงจันทร์บริเวณตำแหน่งเดียวกัน ก่อนที่ยานอวกาศของอินเดียจะพุ่งชน เพื่อค้นหาสัญญาณของยานลงจอด

โดยคนแรกที่สร้างความหวังในการค้นหาตำแหน่งที่ยานวิกรมตกคือ ชานมูกะ “ฉาน” สุบรามาเนียน (Shanmuga "Shan" Subramanian) ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีวัย 33 ปี จากเมือนเจนไน (Chennai) ประเทศอินเดีย ซึ่งได้เผยตำแหน่งที่ยานอาจจะตก และเขาได้เผยแก่เอเอฟพีด้วยว่า สิ่งที่จุดประกายให้เขาสนใจร่วมค้นหาตำแหน่งตกของยานลงจอดคือ การที่นาซาไม่สามารถหาตำแหน่งดังกล่าวได้เอง

“ผมได้เปรียบเทียบภาพ 2 ภาพแบบด้านต่อด้าน โดยใช้แลปทอป 2 เครื่อง ภาพหนึ่งเป็นภาพเก่า และอีกภาพเป็นภาพใหม่ที่นาซาเผยแพร่ออกมา” สุบรามาเนียนกล่าว และเสริมด้วยว่า เขายังได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ (Twitter) และเรดดิท (Reddit) รายอื่นๆ ด้วย

แม้จะเป็นงานยากแต่สุบรามาเนียนกล่าวว่าเขาก็ใช้ความพยายาม จนกระทั่งเขาสามารถประกาศการค้นพบตำแหน่งตกของยานผ่านทางทวิตเตอร์ เมื่อ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นนาซาได้จัดการค้นหาเพิ่มเติมในบริเวณดังกล่าว จนกระทั่งอีกเกือบ 2 ต่อมาจึงได้ประกาศการค้นพบตำแหน่งตกดังกล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศสมัครเล่นรายนี้อย่างเป็นทางการ

“นาซาต้องมั่นใจให้ได้ 100% ก่อนที่จะเผยแพร่สู่สาธารณะ และนั่นเป็นเหตุผลที่พวกเขาต้องรอจนกระทั่งยืนยัน และหากเป็นผมเองก็คงทำอย่างเดียวกัน” สุบรามาเนียนกล่าว

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ก.ค.2019 ที่ผ่านมา อินเดียได้ส่งยานอวกาศจันทรายาน-2 (Chandrayaan-2) ที่มีความหมายว่ายานดวงจันทร์มุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ ด้วยความหวังที่จะเป็นชาติที่ 4 ที่สามารถส่งยานไปดวงจันทร์ ตามหลังสหรัฐฯ รัสเซีย และจีนได้ และหากประสบความสำเร็จในการส่งยานลงจอด อินเดียจะกลายเป็นชาติแรกที่ส่งยานลงพื้นขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้

ตอนนี้ยังเหลือจันทรายาน-2 ยานแม่ที่ยังคงโคจรรอบๆ ดวงจันทร์ ส่วนยานวิกรมนั้นตามกำหนดจะใช้เวลา 5 วันในการร่อนสู่พื้นผิวดวงจันทร์ แต่ยานได้เงียบหายไปขณะอยู่สูงจากพื้นผิวดวงจันทร์เพียง 2.1 กิโลเมตร และไม่กี่วันหลังจากล้มเหลวในการส่งยานลงจอดองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organization) ได้เผยว่า มีตำแหน่งที่ยานลงจอด แต่ไม่สามารถคืนค่าการสื่อสารกับยานได้

ชื่อวิกรมของยานสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์นั้น เป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อบิดาแห่งโครงการอวกาศอินเดีย และยานวิกรมยังแบกยานปรัชญาณ (Pragyan) ซึ่งมีความหมายความว่า “ความเฉลียวฉลาด” ในภาษาสันสกฤต โดยตามกำหนดยานโรเวอร์ (rover) ลำนี้จะโผล่ออกมาทำหน้าที่เดินทางสำรวจพื้นผิวและหาแหล่งน้ำบนดวงจันทร์ หลังจากลงวิกรมลงจอดได้ 2-3 ชั่วโมง

สำหรับปฏิบัติการจันทรายาน 2 ของอินเดียนี้ ทั้งยานโคจร ยานลงจอดและยานโรเวอร์เกือบทั้งหมดพัฒนาในอินเดีย และใช้งบประมาณพัฒนาทั้งหมดเพียง 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์ของนาซาที่ใช้เงินถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 30 ล้านล้านบาท ในโครงการอะพอลโล (Apollo)

นอกจากนี้อินเดียยังเตรียมพร้อมปฏิบัติการกากันยาน (Gaganyaan) ซึ่งเป็นปฏิบัติการส่งมนุษย์ไปอวกาศเป็นครั้งแรกของอินเดีย โดยกำหนดเป้าหมายในปี ค.ศ.2022 และอินเดียยังตั้งเป้าส่งยานไปลงจอดดาวอังคารด้วย โดยย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.2014 อินเดียเป็นชาติที่ 4 ที่สามารถส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดาวอังคารได้

ภาพของยานวิกรมก่อนจะลงจอดพื้นผิวดวงจันทร์ (Handout / Indian Space Research Organisation (ISRO) / AFP )

นาซาเผยแพร่ภาพที่บันทึกด้วยยานแอลอาร์โอ ซึ่งแสดงตำแหน่งที่ยานวิกรมพุ่งชนดวงจันทร์ จนเศษยานกระจัดกระจาย (จุดสีเขียว) และร่องรอยพื้นผิวที่ถูกปะทะ (สีฟ้า)(NASA/Goddard/Arizona State University)


กำลังโหลดความคิดเห็น