สีเหลืองของอะไรบางอย่างสะดุดตาจนทำให้ผมละมือจากกการช่วยวางแปลงเก็บข้อมูลในโครงการศึกษาวิจัยเห็ดเผาะ เมื่อเดินฝ่าความร้อนจากแสงแดดและรังสีความร้อนระอุสะท้อนจากพื้นดินเพื่อเข้าใกล้ก็พบเพียงแค่ช่อดอกขนาดใหญ่เท่านั้น ความสดของสีทำให้มันดูโดดเด่นท่ามกลางป่าเต็งรังและพื้นดินลูกรังสีน้ำตาลเข้ม ดอกสีเหลืองหลายดอกบานอยู่บนก้านช่อสีเขียวอ่อนซึ่งพุ่งทะยานตรงตั้งสูงออกมากจากพื้นดิน โคนกลีบปากมีจุดประสีน้ำตาลเข้มตัดกับสีเหลืองของส่วนอื่นสวยงาม บริเวณปลายช่อยังมีอีกหลายดอกตูมรอเบ่งบาน
จากการสอบถามทำให้ทราบว่าชื่อชนิดของพรรณไม้นี้คือ "เหลืองแม่ปิง" เป็นกล้วยไม้ดินชนิดหนึ่งมีขอบเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่แถบเทือกเขาหิมาลัยถึงเมียนมา จีนตอนใต้ ไทย และภูมิภาคอินโดจีนได้ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งพื้นที่ศึกษาของโครงการวิจัยเองก็ตั้งอยู่ในจังหวัดลำพูนและอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิงเช่นเดียวกับชื่อของกล้วยไม้ที่พบเจอ กล้วยไม้ชนิดนี้มีเหง้าหัวขนาดใหญ่เป็นแหล่งสะสมอาหารอยู่ใต้ดินในช่วงฤดูแล้งแล้วจะแทงช่อออกดอกเมื่อฝนตกในช่วงต้นฤดูฝน จากนั้นจึงจะมีใบโผล่ออกตามมาทีหลังบริเวณโคนก้านช่อดอก ช่อดอกของเหลืองแม่ปิงสามารถสูงได้กว่า 150 เซนติเมตรเมื่อบานเต็มที่ ซึ่งช่อดอกที่ผมพบนั้นก็มีความสูงประมาณเมตรหนึ่งเข้าไปแล้ว "ต้นยี้ยังสูงได้กว่านี้อีกซินะ" ผมคิด กล้องถ่ายรูปที่คิดว่าจะนำมาใช้งานบันทึกภาพระหว่างเก็บข้อมูลจึงถูกนำมาใช้บันทึกภาพกล้วยไม้ชนิดนี้แทนจนถูกย้ำเตือนจากสมาชิกคนอื่นให้ทำหน้าที่หลักกันเลย ช่างภาพคนไหนจะอดทนความเย้ายวนงดงามของกล้วยไม้ชนิดนี้ได้กันเล่า ผมขอยืนยันว่าไม่น่าจะมี
เมื่อหมดหน้าที่จากงานเก็บข้อมูลก็ได้เวลาเดินทางกลับที่พักพอดิบพอดี น่าเสียดายตรงไม่มีเวลาบันทึกภาพกล้วยไม้เหลืองแม่ปิงเพิ่มเติม ดอกสีเหลืองนั้นยังคงสดเด่นสะดุดตากลางป่าเต็งรังเมื่อพาหนะเคลื่อนที่ออกห่างออกไป คงจะเป็นเรื่องนี้เองที่ทำให้กล้วยไม้ชนิดนี้มีสถานภาพเป็นกล้วยไม้หายากในปัจจุบันและกำลังเผชิญหน้าต่อการสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ธรรมชาติเนื่องจากถูกลักลอบขุดเหง้าใต้ดินออกไปขายอย่างผิดกฎหมายให้กับผู้ที่นิยมชมชอบความงามของกล้วยไม้ภายใต้ความใคร่อยากมีไว้ในครอบครองสะสมเป็นของตน
สำหรับผมแล้วภาพดอกสีเหลืองของกล้วยไม้เหลืองแม่ปิงจะสวยงามที่สุดก็เมื่อเบ่งบานอยู่ท่ามกลางผืนป่าซึ่งก็คือบ้านของมัน นั่นเป็นส่วนผสมของคาวมงามอันละมุนและลงตัวตามการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ
ไม่ใช่ในสวนราคาแพงของมนุษย์คนไหนก็ตาม
เกี่ยวกับผู้เขียน
"แต่เดิมเป็นเด็กบ้านนอกจากจั
พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน