xs
xsm
sm
md
lg

เผาะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ



แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่สภาพพื้นที่ยังคงแห้งแล้งผิดจากที่ควร มีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่มีฝนตกลงมา "มีฝนลงหนักเหมือนกันครับ แต่บางจุดนอกแปลงเท่านั้น น่าเสียดายตรงจุดวางแปลงไม่มีฝนตกลงมาเลย" พี่ทิวา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน ตอบเมื่อถูกถามข้อมูลสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลาก่อนหน้าคณะศึกษาวิจัยในโครงการศึกษาเห็ดเผาะจะเดินทางมาถึง

"ตรงนอกแปลงศึกษาหลังจากฝนลง เห็ดเผาะขึ้นเยอะ" พี่ทิวาเสริมข้อมูลซึ่งได้จากการเดินลาดตระเวนในพื้นที่อุทยานฯ "แล้วตรงนั้นเกิดไฟป่าไหมครับพี่" ผมเอ่ยถาม "ไม่มีครับ ปีนี้ทางอุทยานฯ ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในการช่วยกันป้องกันไฟป่า พื้นที่ไฟไหม้น้อยลงกว่าเดิมเยอะ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีไฟป่าเกิดจากการลักลอบจุดไฟอยู่ ไม่ได้หมดหายไป บางจุดก็ป้องกันไม่ทันเพราะเจ้าหน้าที่ไม่พอ" เป็นคำตอบที่ได้รับ

คณะวิจัยเดินทางลึกเข้าไปในพื้นที่อุทยานฯ ฝนซึ่งยังไม่ลงใส่พื้นที่ส่งผลให้พาหนะขับเคลื่อนสี่ล้อเคลื่อนที่ผ่านถนนดินลูกรังลัดเลาะซ้ายขวาขึ้นลงท่ามกลางป่าพลัดใบทั้งป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เมื่อพาหนะหยุดลง ณ พื้นที่เป้าหมายสำหรับวางแปลงสำรวจเห็ดเผาะ สภาพป่าโดยรอบเป็นป่าผลัดใบโดยเฉพาะป่าเต็งรังที่มี ไม้พลวง หรือที่ชาวเหนือรู้จักกันดีในชื่อ ตองตึง ซึ่งเป็นไม้ชนิดหนึ่งในวงศ์ยางเป็นไม้เด่น ความรู้สึกเย็นใจเอ่อท้นขึ้นมาทันใดเมื่อไม่พบเข้ากับร่องรอยใด ๆ จากไฟไหม้ในพื้นที่ "มองยากหน่อยครับ ลองเขี่ยใบไม้ดู ถ้าเจอดินแตกเป็นร่องเหมือนมีอะไรดันขึ้นมาจากใต้ดินก็ลองขุดดูครับ ลองมองดูบนพื้นดินรอบโคนต้นไม้ดู เห็ดมักจะขึ้นอยู่แถวนั้นครับ" พี่ทิวาแนะนำเทคนิคให้แก่คณะวิจัยเห็ดเผาะซึ่งแม้จะแน่นด้วยความรู้ แต่เรื่องประสบการณ์ยังเป็นรองให้กับคนในพื้นที่อยู่อย่างเทียบไม่เห็นฝุ่น

แล้วก็เป็นจริง ใบไม้ที่ทับถมกับประสบการณ์น้อยนิดทำให้การหาเห็ดของคณะวิจัยเทียบไม่ได้เลยกับเจ้าหน้าที่ จำนวนแปลงทั้งหมดที่ต้องวางเพื่อการศึกษาเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่พบเห็ดเผาะขึ้นอยู่ ซึ่งแต่ละแปลงมีเห็ดเผาะขึ้นอยู่จำนวนมากและเมื่อลงมือเขี้ยขุดก็ยิ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปอีก "นี่ขนาดฝนยังลงไม่มากนะ ถ้าฝนตกลงมามากจะเยอะขนาดไหน" ผมเอ่ยกับหัวหน้าคณะวิจัยในครั้งนี้ "เก็บกันไปวิจัยไม่ไหวล่ะค่ะพี่" คือคำตอบที่ได้ยิน ผมนึกถึงคำพูดของอาจารย์ที่เคยอธิบายเรื่องเกี่ยวกับการเกิดและการหาเห็ดเผาะเรื่องหนึ่งขึ้นได้พอดี

"ชาวบ้านมักพูดว่าต้องจุดไฟเผาเห็ดถึงจะงอกนั้นเรียกได้ห่างไกลจากความเป็นจริง การเผานั้นช่วยให้มองเห็นเห็ดบนผิวดินได้ง่ายขึ้นมากกว่าเท่านั้นเอง แถมไฟที่เกิดขึ้นจากการจุดเผาส่งผลเสียต่อเส้นใยเชื้อราเห็ดเผาะในดินอีกต่างหาก ยิ่งไหม้บ่อยเห็ดจะยิ่งหายเพราะเส้นใยเหล่านี้ถูกทำลาย การที่ใบไม้คลุมดินหายไปก็ส่งผลเสียเพราะการเกิดดอกเห็ดต้องอาศัยความชื้น เมื่อใบไม้ที่คลุมดินหายไป ดินสูญเสียความชื้นเร็วขึ้นเห็ดก็เกิดได้น้อยลง นี่ยังไม่เอ่ยถึงเรื่องผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอีกเรื่องนะ มันเกี่ยวพันกันไปหมด"

เมื่อคณะสำรวจเสร็จงานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตัวอย่างดินและเห็ดถูกขนขึ้นยานพาหนะเรียบร้อย เป้าหมายต่อไปคือการเดินทางไปสำรวจยังพื้นที่ป่าชุมชน

ลมร้อนวูบวาบปะทะเข้ากับหน้าและแขนทันทีเมื่อออกนอกพื้นที่อุทยานฯ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยเมื่อพิจารณาถึงไร่ข้าวโพดเข้าซึ่งมาแทนที่ไม้ใหญ่ แสงแดดยามบ่ายของฤดูร้อนดูจะไม่เพลามือลงให้กับพวกเราเลยแม้พวกเราจะเดินทางถึงป่าชุมชนแล้วก็ตาม ไม่ใช่เพียงความรุนแรงของแสงแดดซึ่งส่องผ่านลงโดยตรงเท่านั้น ความร้อนจากการสะท้อนของแสงแดดบนพื้นดินก็เช่นกันที่สร้างบรรยากาศอบร้อนให้ร่างกาย ต้นไม่ใหญ่อย่างในป่าอนุรักษ์ที่หลงเหลือเพียงตอและรอยโค่ยมีให้เห็นทั่วไป ผิวดินเต็มไปด้วยก้อนกรวดและหินโผล่ ร่องรอยหม่นดำของไฟไหม้และขี้เถ้าติดทั่วกางเกงและรองเท้ายิ่งบั่นทอนอารมณ์เพิ่มเติมอีก

"ในแปลงนี้ไม่มีดอกเห็ดเลยครับ" พี่ทิวาบอกหลังจากช่วยกันเดินสำรวจเรียบร้อย ในขณะที่เสียงรถไถกำลังทำงานดังอยู่ไม่ไกลนัก

"เราคงต้องทำงานหนักเลยสำหรับแปลงป่าชุมชนถ้าจะให้เกิดเห็ดขึ้นมาอีกครั้ง ถ้าเราโชคดีนะ" ผมคิด และอย่างที่ประสบพบมาตลอด "เรื่องของโชคลางช่วยอะไรเรื่องพวกนี้ได้ไม่มากนัก"


เกี่ยวกับผู้เขียน

"แต่เดิมเป็นเด็กบ้านนอกจากจั
งหวัดจันทบุรี ที่มีความมุ่งมันตั้งใจศึกษาต่อ ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากความสนใจส่วนตัวและการชักชวนจึงเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ จึงได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าหลากหลายประเภทในพื้นที่อนุรักษ์หลากหลายแห่งทั่วประเทศไทย หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กระนั้นก็ยังโหยหาและพยายามนำพาตัวเองเข้าป่าทุกครั้งที่โอกาสอำนวย"


พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น