13 ปีจากจุดเริ่มต้น...ในที่สุดกล้องวัดอุณหภูมิผลงานนักวิจัยไทยก็พร้อมใช้งานเพื่อตรวจวัดไข้ ใช้งานได้พร้อมกันถึง 9 คน ด้วยความไว 0.1 วิทนาที ไม่ต้องต่อคิวจ่อยิงหน้าผาก
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดตัว “มิวเทอร์ม เฟซเซนส์” (μTherm-FaceSense) เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะของไทย ตรวจจับอุณหภูมิร่างกายมนุษย์ด้วยการสแกนใบหน้า
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค เล่าถึงความเป็นมาในการวิจัยเครื่องวัดอุณหภูมิมิวเทอร์ม เฟซเซนส์ ว่ามีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดของไข้หวัดนกและซาร์ และเนคเทคได้รับคำถามว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งในตอนนั้นเนคเทคมีเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายมนุษย์แบบนี้อยู่ 1 เครื่อง และมีราคาสูงถึงหลักล้านบาท
ในตอนนั้นเนคเทคได้พัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อใช้งานกับเครื่องวัดอุณหภูมิดังกล่าว และได้กระจายตอบโจทย์โรงพยาบาลและสนามบิน กระทั่งเมื่อช่วงปี พ.ศ.2559-2560 ราคาของชิปเซตของเซนเซอร์วัดอุณหภูมิหรือเทอร์โมเซนเซอร์มีราคาถูกลงมาก จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเดียวกันเครื่องวัดอุณหภูมิจากต่างประเทศ แต่มีราคาถูกกว่าเกือบครึ่ง
ดร.ชัยแจกแจงว่า เครื่องวัดอุณหภูมิมิวเทอร์ม เฟซเซนส์ มีกล้องหลายตัวที่สามารถวัดอุณหภูมิร่างกายคนจากการสแกนใบหน้าได้พร้อมกันสูงสุด 9 คน โดยมีระยะห่างจากกล้อง 0.5-1.5 เมตร และรู้ผลแม่นยำใน 0.1 วินาที ซึ่งเทคโนโลยีระดับนี้หากซื้อจากต่างประเทศจะมีราคากว่า 200,000 บาท และนักวิจัยไทยสามารถพัฒนาให้มีราคาประมาณ 100,000 บาท
เนคเทคได้รับสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) 14 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาเครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะนี้ ซึ่งตามกำหนดเดิมจะส่งมอบเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิในช่วงปลายปี แต่เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) จึงได้รับการร้องขอให้เร่งมือ จนกระทั่งผลิตได้จำนวน 40 เครื่อง เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
"เบื้องต้นคัดเลือกและกระจายสู่ 21 หน่วยงาน ที่มีความเสี่ยงผู้คนพลุกพล่านและหนาแน่น อาทิ โรงพยาบาล เรือนจำ สถานีรถไฟฟ้า ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2563 สำหรับเครื่องส่วนที่เหลือ จะนำมาปรับปรุงและเพิ่มเติมความสามารถให้เพิ่มมากขึ้น และในอนาคตพร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับภาคเอกชนไทยที่สนใจจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเอาไปผลิตเพื่อจำหน่ายต่อได้”
อีกจุดเด่นของเครื่องวัดอุณหภูมิมิวเทอร์ม เฟซเซนส์ คือสามารถวิเคราะห์และประมวลผลได้ภายในตัวเครื่องผ่านเครือข่ายการสื่อสาร นอกจากนี้ยังรองรับการเชื่อมต่อและจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ IoT ในราคาที่เข้าถึงได้ โดยมีเป้าหมายหลักในการใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือคัดกรองเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีอุณหภูมิสูง ที่เดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ใช้งานในสถานที่นั้นสามารถตั้งเกณฑ์ไว้ที่เท่าไหร่ก็ได้ เช่น 37.5 หรือ 37.8 องศาเซลเซียสตามความเหมาะสม
"นอกจากนี้ได้เพิ่มฟังก์ชันความอัจฉริยะ การตรวจจับใบหน้าบุคคล ทำให้รู้ว่าภาพที่ปรากฎบนจอนั้น คือ ใบหน้าบุคคล และสามารถบอกได้ว่าใบหน้าของคนนั้นมีอุณหภูมิเท่าไร และถ้าหากมีหลายคนอยู่ในภาพเดียวกัน ก็จะแสดงอุณหภูมิให้เห็นว่าบุคคลใดในภาพมีอุณหภูมิกี่องศา และหากค่าอุณหภูมิเกินกว่าค่าที่ตั้งไว้ก็จะมีเสียงแจ้งเตือน พร้อมตัวเลขสีแดง และตัวใหญ่ขึ้น" ดร.ชัยระบุ
ดร.ชัยระบุด้วยว่า ยังสามารถพัฒนาต่อยอดเครื่องวัดอุณหภูมิมิวเทอร์ม เฟซเซนส์ เพื่อนำไปใช้งานในภาคเกษตรหรือคมนาคมได้ เช่น ใช้วัดอุณหภูมิและรูปร่างของปศุสัตว์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคในสัตว์ หรือใช้ตรวจวัดรูปร่างและสีของรถ ซึ่งยังมีโจทย์ให้พัฒนาได้อีกมาก
หน่วยงานที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เนคเทค-สวทช. โทร. 02 564 6900 ต่อ 2353, 2357, 2383, 2352, 2347 business@nectec.or.th