xs
xsm
sm
md
lg

เจอคนเสี่ยงโควิด-19 แต่ไม่กักตัวลองฟ้องดูผ่าน Fondue

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แนะนำแอปฯ แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่านปกครอง กรณีพบเห็นผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่กักตัว ลองฟ้องดูผ่านแอปฯ Fondue และยังมีแอปฯ DDC-Care ติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 เม.ย.63 ณ อาคารนาโนเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช.ปทุมธานี ภายใต้การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และถ่ายทอดสดผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก

ดร.จุฬารัตน์ แนะนำ 2 ผลงานวิจัยสู้ภัยโควิด-19 ได้แก่ DDC-Care ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อโควิด-19 และ Traffy Fondue แอปพลิเคชันแจ้งและติดตามปัญหาเมือง สู้ภัยไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นผลงานของนักวิจัย สวทช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับ Traffy Fondue หรือ ทราฟฟี่ฟองดูว์ ดร.จุฬารัตน์ ระบุว่าเป็นผลงานเก่าของนักวิจัย สวทช.ที่ออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนใช้แจ้งปัญหาในเมือง เช่น ปัญหาขยะ ปัญหาความสะอาด ปัญหาทางเท้า และติดตามสถานะการดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ จนกระทั่งเกิดปัญหาโควิด-19 จึงนำมาปรับใช้ โดยมีไลน์แชทบอท (Line Chatbot) ให้ประชาชนใช้แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

“เมื่อมีผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงแล้วไม่กักตัว สามารถแจ้งข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับผู้มีความเสี่ยงแก่เจ้าหน้าที่ แต่ห้ามส่งรูปของผู้มีความเสี่ยงเพราะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะเข้าตรวจสอบว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ หากพบว่าเสี่ยงก็จะแนะนำให้งาน DDC Care ต่อไป” ดร.จุฬารัตน์แจกแจง และกล่าวว่าตั้งชื่อแอปฯ Fondue เพื่อให้พ้องเสียงกับคำว่า “ฟ้องดู”

ระบบ Fondue จะรายงานข้อมูลบุคคลเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงการระบาดไวรัวโควิด-19 และพื้นที่กรุงเทพฯ เดินทางกลับภูมิลำเนา เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะหน่วยงานผู้ใช้ข้อมูลดังกล่าวต้องการทราบว่า คนที่มีความเสี่ยงกับโรคโควิด-19 เดินทางกลับมายังภูมิลำเนามีอยู่ที่ใดของประเทศบ้าง เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ให้มีส่วนรับผิดชอบสังคมและปฏิบัติตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จะเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการระบาดด้วยการแจ้งข้อมูลผ่านไลน์แชทบอทเพียงเพิ่มเพื่อน @traffyfondue หากพบคนจากพื้นที่เสี่ยงกลับภูมิลำเนา เริ่มแจ้งข้อมูลพิมพ์ (แฮทแท็ค) #โควิด ตามด้วยชื่อเล่น เพศ ส่งข้อมูลภาพลักษณะที่อยู่หมู่บ้าน ชุมชน (ไม่ต้องส่งภาพคน) และส่งคุยกับไลน์แชทบอท @traffyfondue เพื่อที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่ ตรวจสอบ สอบสวน และคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีการแจ้งเบาะแสของผู้เข้าข่ายเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงที่กลับมายังภูมิลำเนาเข้ามาในระบบแล้วจำนวนมาก เช่น จังหวัดมหาสารคาม ราชบุรี นครพนม ยโสธร หนองคาย และมีอีกหลายภูมิภาคทั่วประเทศ เป็นต้น นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค

หากหน่วยงานใดที่ต้องการเพิ่มช่องในการรับแจ้งข้อมูล หรือเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ผ่านแชทบอทที่มาพร้อมระบบ AI ในการคัดแยกปัญหา ระบบบริหารจัดการสถานะ สามารถติดต่อทีมวิจัยได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 086 901 6124 (วสันต์) หรือ ID Line: joopbu

ส่วนแอปพลิเคชัน DDC-Care ใช้ติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเสี่ยงที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ แต่ต้องกลับไปกักตัวที่บ้าน 14 วัน และอีกกลุ่มคือญาติหรือผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ซึ่งนับเป็นกลุ่มเสี่ยง จึงต้องกลับบ้านไปกักตัว 14 วัน

“ระบบจะติดตามสุขภาพตลอดระยะเวลากักตัว และสอบถามข้อมูลการวัดไข้ อาการไอและจาม หากระบบ DDC-Care ประเมินว่ามีความเสี่ยงเท่าเดิมก็ปฏิบัติตัวด้วยการล้างมือ กักตัวและใส่หน้ากาก แต่หากเสี่ยงเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่จะโทรเข้าไปตรวจสอบ และในขั้นตอนการลงทะเบียนใช้งานจะให้ผู้ใช้ “ปักหมุด” สถานที่กักตัว และระบบจะติดตามและส่งตำแหน่งผู้กักตัวทุกๆ 10 นาที”

สำหรับข้อมูลของผู้มีความเสี่ยงจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ โดยมีผู้เข้าถึงได้ 4 ระดับ คือ 1.โรงพยาบาล 2.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่จะเห็นภาพรวมระดับจังหวัด 3.สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่มีทั้งหมด 13 เขตทั่วประเทศ โดยจะเห็นข้อมูลเฉพาะในเขตที่รับผิดชอบ และ 4.กรมควบคุมโรค ที่จะเห็นข้อมูลภาพรวมระดับประเทศ

การแถลงข่าวครั้งนี้ ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. และ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ เนคเทค ร่วมให้ข้อมูลด้วย

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ

ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช.

ดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์

 ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม



Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) แอปพลิเคชันแจ้งและติดตามปัญหาเมือง




กำลังโหลดความคิดเห็น