เนคเทคเป็นตัวแทน อว. ร่วมกับหน่วยงานจากอีก 8 กระทรวง พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านเกษตรเเห่งชาติ โดยช่วยพัฒนาและออกแบบระบบฐานข้อมูลเกษตรกรระดับ “บิกดาตา”
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับมอบหมายจาก รองศาสตราจารย์ สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ "การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ" ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.62
การลงนามดังกล่าวเป็นการลงนามของหน่วยงานจาก 10 หน่วยงาน คือ อว. , กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งตกลงร่วมมือกันในการสนับสนุนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดย สวทช.ได้มีการร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ มาก่อนหน้านี้แล้ว โดยได้มีส่วนช่วยพัฒนาและออกแบบระบบฐานข้อมูลเกษตรกรระดับบิกดาตา (Data) ให้แก่สำนักงานเศรษฐกิจเกษตร เพื่อใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และประมวลผล และจัดทำข้อมูลสนับสนุนทางด้านนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ และนโยบายของรัฐบาล
ดร.ชัยระบว่าการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมสร้างมิติใหม่ให้วงการเกษตรของไทยเข้าสู่ Digital Thailand 4.0 โดยร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยมาตรฐานเดียวกันสู่รัฐบาลดิจิทัล ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตร ด้านฐานข้อมูลด้านเกษตรกรอัจฉริยะ โดยในส่วนของ อว. มีเนคเทคร่วมเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งให้องค์ความรู้ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผ่านโครงสร้างมาตรฐาน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้ง 10
“เทคโนโลยีดังกล่าวนี้เนคเทค-สวทช. ได้พัฒนางานมาอย่างต่อเนื่องในโครงการขึ้นทะเบียนเกษตรกร อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจากฐานข้อมูลหลายแหล่งได้” ดร.ชัย กล่าวอธิบาย
ทั้งนี้ ฐานข้อมูลด้านการเกษตรที่ดำเนินการร่วมกันภายใต้บันทึกความร่วมมือฯ นี้ จะมีข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งด้านเกษตรกรที่กว้างขึ้น ครอบคลุมข้อมูลต่างๆ ของทั้ง 10 กระทรวง อาทิ ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ด้านการเงิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ทั้งในในด้านการวางแผนเชิงนโยบายของภาครัฐ การวางแผนการผลิตทางการเกษตรของภาคเอกชน รวมไปถึงเกษตรกรยังสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อวางแผนการเพาะปลูกและติดตามข้อมูลราคาสินค้าทางการเกษตร ฐานข้อมูลนี้ไม่เพียงเป็นประโยชน์ในด้านการให้บริการข้อมูลแก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ฐานข้อมูลดังกล่าวยังมีประโยชน์ต่อการส่งเสริมการวิจัยโดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytic) และการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้เกิดการวางแผนและการตัดสินใจที่แม่นยำมากขึ้น แก่เกษตรกรในการเพาะปลูก
ด้าน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายการจัดทำ Big Data มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2559 โดยจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดทำ Big Data ของกระทรวงเกษตรฯ และพัฒนาต่อยอดสู่โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติในปีนี้ เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลด้านการเกษตรจากหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรฯ และอีก 9 กระทรวง (8 กระทรวง และ 1 หน่วยงานในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอนันต์ สุวรรณรัตน์) เป็นผู้ลงนามร่วมกับผู้บริหารอีก 9 กระทรวง