xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.สรุปผลงาน 2562 โชว์ศักยภาพงานวิจัยตอบโจทย์ BCG

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวทช.สรุปผลงานเด่น '62 ชูผลงานตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี บริหารงานภายใต้แนวคิด ‘NSTDA Beyond Limits : 6-6-10’ เช่น น้ำยางพาราข้นทำถนน เดนตีสแกน 2.0 เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรม ถุงพลาสติกย่อยสลายสำหรับขยะเศษอาหาร

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานแถลงข่าวผลงาน สวทช. ประจำปี 2562 “NSTDA Beyond Limits: Sustainability Impact วิถีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นำเสนอผลสรุปและเผยผลงานโชว์ศักยภาพงานวิจัย สวทช. ประจำปี 2562 ที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทิศทางการวิจัยและพัฒนา รวมถึงผลงานสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 ในวันที่ 20 ธ.ค.62 ณ ห้องแซฟไฟร์ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม 1 เมืองทอง

การแถลงข่าวดังกล่าวนำโดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยผู้อำนวยศูนย์วิจัยแห่งชาติทั้ง 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ศูนย์โลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และ ศูนย์นาโนเทคโนโลยี (นาโนเทค) โดนนำเสนอบทบาทของ สวทช. (NSTDA BCG in Action) ในเรื่องโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจแบบทั่วถึง ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลและประเทศ ใน 4 อุตสาหกรรมหลัก คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและวัสดุและเคมีชีวภาพ และท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อสนับสนุนและรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ

ดร.ณรงค์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการเดินหน้าผลักดันผลงานตลอดปีงบประมาณ 2562 ด้วยกลยุทธ์บริหารงานภายใต้แนวคิด ‘NSTDA Beyond Limits : 6-6-10’ ได้แก่ 6 Research Pillars, 6 Frontier Research และ 10 Technology Development Groups (TDGs) ซึ่งเป็นกรอบพัฒนาเพื่อมุ่งสร้างความเข้มแข็งและความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ขั้นสูง ที่สร้างขีดความสามารถของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตอบโจทย์นโยบายประเทศไทย 4.0 ทำให้เกิดผลงานเด่น สวทช. ในรอบปี 2562 ด้วยกันหลายผลงาน ซึ่งตอบโจทย์ในกลยุทธ์ที่ตั้งไว้ และเติมเต็มในส่วนของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy Model ที่พร้อมใช้งานทันที และเป็นผลงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (new s-curve)”

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวผลงานประจำปี 2562  ในงานข่าวผลงานประจำปี 2562 “NSTDA Beyond Limits: Sustainability Impact วิถีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ผลสรุปและเผยผลงานโชว์ศักยภาพงานวิจัย ในวันที่ 20 ธ.ค.2562 ณ ห้องแซฟไฟร์ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม 1 เมืองทองธานี

 ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช.(คนกลาง) และ ผู้บริหารศูนย์วิจัยแห่งชาติทั้ง 4 ศูนย์ ของ สวทช.
ตัวอย่างผลงานที่เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เช่น ผลงาน LOMAR โดย เอ็มเทค สวทช. เป็นน้ำยางพาราข้นสำหรับผสมกับแฮสฟัสต์เพื่อทำถนน ทดแทนการใช้น้ำยางพาราข้นทางการค้า ในปี 2562 มีการนำไปใช้ปูลาดทางเพิ่มขึ้น 1,850 กิโลเมตร สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 1,200 ล้านบาท

ผลงานเทคโนโลยีแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดย ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อแก้ปัญหามันสำปะหลังที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้มากถึง 80% ทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัยไวรัสใบด่าง การพัฒนาสายพันธุ์และผลิตท่อนพันธุ์ปลอดโรค และสารชีวภัณฑ์กำจัดโรคและแมลง

ผลงานด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) การพัฒนาอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออก เพิ่มบทบาทการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ของไทย คาดการณ์ว่าจะมีการส่งออกเมล็ดพันธุ์ถึง 8,300 ล้านบาท

ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ อาทิ เดนตีสแกน 2.0 เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรม โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. สามารถติดตั้งเครื่องในโรงพยาบาลของรัฐ 60 เครื่อง และมีการถ่ายภาพผู้ป่วยไปแล้วมากกว่า 7,000 ครั้ง

ขณะที่ตัวอย่างผลงานกลุ่มพลังงานและวัสดุและเคมีชีวภาพ เช่น การจัดตั้ง แล็บทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทยและในอาเซียน โดยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. กับ บริษัท เมอร์เซเดส เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเปิดให้ใช้บริการแล้ว ถุงพลาสติกย่อยสลายสำหรับขยะเศษอาหาร โดยเอ็มเทค สวทช. และภาคเอกชน สามารถย่อยสลายเองได้ภายใน 3 - 4 เดือน นำร่องใช้จริงแล้วในงานกาชาดที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมในกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น เทคโนโลยีเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมแบบพลังงานแสงอาทิตย์ โดย สวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อติดตามเส้นทางอพยพของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและญี่ปุ่น ที่เขาดินสอ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งเป็นสถานที่ชมเหยี่ยวอพยพที่สำคัญระดับโลก ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว กระจายแหล่งท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เพื่อการพัฒนาสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และกลุ่มบิกดาตา ที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น AI for Thai แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย โดย เนคเทค สวทช. เป็น Thai AI Service Platform ที่รวมผลงาน AI ที่พัฒนาเข้าด้วยกัน ทั้ง AI ประมวลผลภาษาตามธรรมชาติของภาษาไทย งานด้านเข้าใจภาพบริบท รู้จัก รู้จำ และสร้างเสียงพูดภาษาไทย เพื่อใช้งานใน Chatbot โลจิสติกส์ การแพทย์ และการท่องเที่ยว โดยพบว่าตั้งแต่เปิดตัวมามีผู้เข้าใช้งานแล้วกว่า 1,700 คน

เดนตีสแกน 2.0 เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรม

ถุงพลาสติกย่อยสลายสำหรับขยะเศษอาหาร

AI for Thai แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น