การยกระดับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย เป็นนโยบายภาครัฐมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ เพราะด้วยสมุนไพรไทยเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในต่างประเทศ แต่การส่งออกสมุนไพรไทย ยังไม่ได้ผ่านการพัฒนายกระดับให้เป็นสากล ทำให้สมุนไพรไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศมีราคาถูก
โดยมีการคาดการณ์จาก Euromonitor-Herbal / Tradition Products in Thailand ว่าในปี 2564 ไทยจะมีมูลค่าตลาดรวมการส่งออกสมุนไพรไทยสูงถึง 5.69 หมื่นล้านบาท ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยด้านสมุนไพรโดยใช้นาโนเทคโนโลยีนี้ เป็นแนวทางในการวิจัยและพัฒนาในอนาคต ซึ่งกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัย นวัตกรรม อว.โดยสวทช. ที่ได้ปูทางขับเคลื่อนไทย เป็นเมืองนวัตกรรมด้านเครื่องสำอางหรือไทย คอสเมโพลิส (Thai Cosmepolis) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รองรับกระแสการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของโลก
เพิ่มค่าสมุนไพรไทยด้วยอนุภาคนาโน
รองรับบุกตลาดตปท.
สำหรับ ผลงานวิจัยของ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. นำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาสมุนไพร 2 ชนิด คือ สารสกัดไพล และขมิ้นชัน สมุนไพรส่งออกอันดับต้นของเมืองไทย ออกมาในรูปของอนุภาคนาโนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของเวชสำอาง ได้เป็นผลสำเร็จ โดยมี ดร.สุวิมล สุรัสโม กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.และคณะ เจ้าของผลงานวิจัย
ดร.สุวิมล กล่าวว่า กระแสการดูแลสุขภาพในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความตระหนักและความต้องการหลีกเลี่ยงสารเคมี ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากธรรมชาติกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านความงาม การแพทย์ และสุขภาพ กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอางนาโนเทค จึงได้พัฒนาอิมัลเจล ที่มีอนุภาคนาโนกักเก็บน้ำมันหอมระเหยและสมุนไพร เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ และอาการเคล็ดขัดยอก
โดยนำเอานวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการผลิต และใช้อนุภาคนาโนไขมันเป็นส่วนประกอบ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ด้วยเทคนิคนาโนเอนแคปซูเลชั่น สารสำคัญจากสมุนไพรที่ถูกกักเก็บไว้จะค่อยๆถูกปลดปล่อยออกมา และซึมซาบเข้าสู่ชั้นผิวอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ออกกำลังกายหนัก โรงพยาบาล / สถานพยาบาล และพนักงานที่เสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม โดยผลงานวิจัยและพัฒนาสมุนไพรในครั้งนี้ ได้ทำออกมาในรูปแบบของครีม และสเปรย์เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งศูนย์เทคโนโลยีนาโนเทค ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ คือ “กัญญ์ภัสสร์ พลชัยศรี” เจ้าของ “กัญญ์ เฮอร์เบิล” เจ้าของผลิตภัณฑ์ครีมบรรเทาอาการปวด จากอนุภานาโนสกัดไพลและขมิ้นชัน
“กัญญ์เฮอร์เบิล” ผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต
กัญญ์ภัสสร์ เล่าว่า ตนเองได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ครีมบรรเทาอาการปวดจากอนุภานาโนสกัดไพลและขมิ้นชัน เมื่อปี 2561 และได้ใช้เวลาในการทดลองตลาดอยู่ประมาณเกือบ 2 ปี โดยเริ่มขายจริงผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนด้านการจัดตั้งโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรม และ ได้รับการสนับสนุนด้านการตลาดต่างประเทศจากกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันมีโรงงานผลิตอยู่ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ แต่ในส่วนการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีนาโนนั้น ไม่ได้ผลิตเอง เพราะต้องใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย และมีราคาสูงถึง 40 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของการผลิตอนุภาคนาโนได้รับการช่วยเหลือด้านการผลิตจากศูนย์นาโนเทค
สำหรับผลิตภัณฑ์กัญญ์เฮอร์เบิล ปัจจุบันมีโปรดักส์ผลิตออกมา 2 รูปแบบ คือ เป็นครีมบรรเทาอาการปวด และสเปรย์แก้ปวดเมื่อย โดยในส่วนของสเปรย์จะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าครีม จึงเหมาะกับพนักงานออฟฟิศที่มีปัญหาการปวดเมื่อยเสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมและต้องการประสิทธิภาพการรักษามากกว่าปกติ ส่วนแบบครีมเปิดตัวด้วยการ เจาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ปัญหาเรื่องอาการปวดเมื่อย ที่เกิดจากวัย ซึ่งไม่ได้รุนแรงมาก และแบบครีมไม่ได้แค่ครีมบรรเทาอาการปวด แต่ต้องการเจาะกลุ่มเครื่องสำอางบำรุงผิวสำหรับคนที่ผิวแพ้ง่าย
ความแตกต่างของครีมบรรเทาปวดที่มีอนุภาคนาโน คือ โมเลกุลที่เล็กมากทำให้สามารถซึมซับลงไปได้ถึงชั้นกระดูก ต่างจากครีมบรรเทาปวดที่ขายตามท้องตลาดจะรักษาแค่ชั้นผิวหนัง
“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นสมุนไพร 100% ไม่สามารถขึ้นทะเบียนยา ขึ้นทะเบียนได้แค่ยาแผนโบราณ ซึ่งไม่ต้องการจะขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณ เนื่องจากพอเป็นสมุนไพรไม่สามารถขายราคาแพงได้ แต่ถ้าดูต้นทุนจริงในกระบวนการผลิต ที่เป็นอนุภาคนาโน และสารสกัดน้ำมันหอมระเหยที่เข้มข้น ทำให้เราไม่สามารถขายในราคาสมุนไพรได้”
ด้วยเหตุนี้ จำเป็นต้องเลี่ยงไปขึ้นทะเบียนในกลุ่มเครื่องสำอาง และด้วยคุณสมบัติของขมิ้นชัน ที่ช่วยบำรุงผิว และประกอบกับเป็นสมุนไพรที่ทำให้ สามารถใช้ได้ทุกวัน จึงขึ้นทะเบียนและวางตำแหน่งสินค้าไว้ในกลุ่มของเครื่องสำอาง ซึ่งผู้สูงอายุที่ชื่นชอบสมุนไพรจากธรรมชาติในการบำรุงผิวแบบไม่เกิดผลข้างเคียง และสิ่งที่เขาได้นอกเหนือจากครีมบำรุงผิว คือ ครีมบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้
เจาะตลาดเวชสำอาง
ส่วนแผนการตลาด เนื่องจากไม่ได้วางขายในร้านขายยา แต่ต้องการเจาะตลาดในกลุ่มเวชสำอาง จึงเลือกเข้าตลาดในกลุ่มเครื่องสำอาง โดยเริ่มเปิดตัวจากการขายผ่านออนไลน์ และมีแผนที่จะไปทำตลาดในต่างประเทศ กับกระทรวงพาณิชย์ แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงการขอ GMP ถ้าได้ GMP บุกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งในส่วนของตลาดจีนได้จดทะเบียนการค้าไว้แล้ว ถ้าได้GMP ขายในประเทศจีนได้เลย ที่เลือกประเทศจีน เพราะจีนมีประชากรจำนวนมาก และที่สำคัญ คือจีนรู้จักสมุนไพรไทยดี โดยเฉพาะขมิ้นชั้น
“กัญญ์ภัสสร์” กล่าวถึงแนวทางการทำตลาดว่า โดยส่วนตัวไม่ถนัดเรื่องการตลาดเท่าไหร่ ซึ่งในส่วนของแผนการตลาด จึงมองไปทีการหาตัวแทนจำหน่ายมากกว่า ซึ่งผู้สนใจต้องการจะเป็นตัวแทนจำหน่ายก็มาพูดคุยกันได้ ต้องบอกว่า เราให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง
ครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราได้เห็นถึงศักยภาพ ของเครื่องสำอางที่มาจากการยกระดับศักยภาพสมุนไพรไทยในรูปแบบของอนุภาคนาโน และตอบโจทย์รัฐบาลที่ต้องการให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัปไทย ก้าวไปสู่ตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
โทร.08-7241-9144
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *