xs
xsm
sm
md
lg

Ignaz Semmelweis แพทย์ผู้บุกเบิกมาตรฐานความสะอาดในการผ่าตัด

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


ภาพเหมือนของ Ignaz Semmelweis เมื่ออายุ 42 ปี
เมื่อคนไข้คนแรกของ Ignaz Semmelweis เสียชีวิต เขายอมรับว่า ในวันนั้นเขาได้พยายามทัดทานและชักจูงเธอเป็นเวลานานให้เขาดูแลการคลอดของเธอ

หลังจากที่ศพของเธอถูกนำออกจากห้องผู้ป่วยที่โรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัย Vienna ในออสเตรีย Semmelweis ก็ยังจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่เธอจะเสียชีวิตได้ว่า เธอมีอาการคลุ้มคลั่ง ทั้งหัวเราะ และร้องไห้สลับกันไปตลอดเวลา เมื่อเขาถามว่ากำลังรู้สึกอย่างไร เธอตอบว่า กลัว เขาจึงถามต่อว่ากลัวอะไร เธอตอบว่ากลัวตาย และขออนุญาตกลับบ้านท่าเดียว พร้อมกันนั้นก็กล่าวเสริมว่า เธอไม่ควรมาพักรักษาตัวหลังคลอดที่ตึกสูตินารีนี้เลย แต่ควรไปอยู่ที่อีกตึกหนึ่ง ซึ่งมีนางผดุงครรภ์ดูแล แต่ตึกที่มีนางผดุงครรภ์ดูแลนั้นไม่มีเตียงว่างเลย เธอจึงต้องมาที่ตึกซึ่งมีแพทย์เป็นคนรับผิดชอบแทน

ในเวลานั้นโรงพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัย Vienna มีตึกสำหรับสตรีหลังคลอดสองตึก ตึกแรกเป็นสถานที่สอนสูตินารีเวชวิทยา และมีแพทย์ประจำ แต่อีกตึกหนึ่งเป็นสถานที่สอนวิชาพยาบาล และมีนางผดุงครรภ์เป็นผู้ดูแล

นับตั้งแต่วันที่คนไข้คนนั้นถูกส่งตัวไปให้แพทย์ดูแล เธอได้รบเร้าขอไปพักรักษาตัวที่ตึกพยาบาลผดุงครรภ์ จน Semmelweis สงสัยว่าเหตุใดคนไข้จึงไว้ใจพยาบาลยิ่งกว่าแพทย์ และได้คำตอบว่า ใครก็ตามที่ถูกส่งมาให้แพทย์รักษา จะมีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างมาก แต่ที่ตึกพยาบาลคนไข้จะปลอดภัยกว่า แล้วความกลัวของคนไข้คนนั้นก็เป็นจริง เพราะหลังจากนั้นไม่นานเธอก็เสียชีวิต

ในคืนที่คนไข้ตาย Semmelweis ถึงกับนอนไม่หลับ คำพูดทุกคำของเธอยังดังก้องในหูเขา เธอย้ำกับเขาว่า ใครที่มาพักที่ตึกนี้ต้องตายทุกคน แต่ที่อีกตึกหนึ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะรอดชีวิต Semmelweis ใคร่จะรู้ว่าเธออ้างความเชื่อนี้จากใคร และข้อมูลที่อ้างนั้นเป็นจริงเพียงใด

ในเวลาเช้าของวันต่อมา Semmelweis ได้ไปขอสถิติการเสียชีวิตของหญิงมีครรภ์หลังคลอดจากฝ่ายทะเบียนของโรงพยาบาล และพบว่าเมื่อนับย้อนหลังไป 6 ปีที่ตึกสูติฯ มีผู้เสียชีวิตหลังคลอด 1989 คน แต่ที่ตึกผดุงครรภ์ในช่วงเวลาเดียวกันจำนวนผู้เสียชีวิตมีเพียง 691 คน จึงคิดเป็นอัตราส่วน 3:1 ซึ่งนับว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ตามปกติ แพทย์มักพบว่า สตรีที่คลอดบุตรใหม่ๆ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา มักแสดงอาการภายในเวลาสี่วันหลังคลอด เช่น ร่างกายจะหนาวสั่น มีไข้และท้องบวม เมื่อไข้กำเริบ ในที่สุดคนไข้ก็จะตาย การผ่าศพแสดงให้เห็นว่า อวัยวะภายในมีหนอง ซึ่งแสดงว่าคนไข้เสียชีวิตด้วยโรคช่องท้องอักเสบ (peritonitis) หรือหลอดโลหิตดำอักเสบ (phlebitis) หรือเยื่อหุ้มประสาทสมองและไขสันหลังอักเสบ (meningitis) หรือหลอดน้ำเหลืองอักเสบ (lymphangitis)

วิชาสูตินารีเวชที่ Semmelweis ได้ร่ำเรียนมาถือกำเนิดใน ค.ศ.1690 โดยแพทย์ชื่อ Peter Chamberlen และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แพทย์ได้เข้ามามีบทบาทในการทำคลอดแทนนางผดุงครรภ์ แต่ยังทำได้ไม่ดี เพราะหลังคลอดไม่นาน สตรีจำนวนมากก็ยังเสียชีวิต ดังนั้นสตรีในสมัยนั้นจึงกลัวการตั้งครรภ์มาก และเมื่อตั้งครรภ์แล้วก็กลัวการฝากท้องที่โรงพยาบาล บางคนพยายามถ่วงเวลาจะไปฝากครรภ์ เพราะคิดว่าคลอดลูกกลางถนนก็ยังดีกว่าไปคลอดที่โรงพยาบาล สำหรับสตรีที่มีฐานะดีก็มักจ้างแพทย์มาดูแลครรภ์และทำคลอดที่บ้าน

ดังนั้นเมื่อ Semmelweis ได้เห็นตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิต เขาก็ตระหนักในทันทีว่า จะต้องมีอะไรบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นที่ตึกที่แพทย์ดูแล และรู้สึกทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้คนไข้เสียชีวิตโดยไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะคนที่เป็นหมอต้องมีใจเมตตาและรับผิดชอบ ถ้าหมอไม่มีความเอื้ออาทรแล้ว ก็ไม่ควรประกอบอาชีพแพทย์ Semmelweis ยังจดจำคำเตือนของพ่อที่เคยห้ามมิให้ตนเรียนแพทย์ว่า หมอต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของคนไข้ ดังนั้น ถ้าจะไม่ให้รู้สึกหนักใจ ก็ควรเรียนกฎหมาย แต่ Semmelweis ไม่เชื่อคำแนะนำของพ่อ เพราะได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเป็นแพทย์ จึงเดินหน้าร่ำเรียนจนสำเร็จเป็นแพทย์ในที่สุด แต่ก็รู้สึกห่อเหี่ยวทุกครั้งที่เห็นคนไข้ตาย ในขณะที่เพื่อนแพทย์คนอื่นวางเฉย บางคนก็พูดทำนอง “ก็ทำบุญมาแค่นั้น” บางคนกล่าวเพียงว่า “เสียใจ” Semmelweis คิดว่า ความเสียใจของคนทั้งโลกไม่สามารถช่วยชีวิตใครได้ ดังนั้นเขาจึงต้องหาวิธีป้องกัน และต้องรู้สาเหตุการเสียชีวิตของคนไข้ทุกคน

สำหรับกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ Semmelweis ไม่เข้าใจว่า เหตุใดคนที่เพิ่งคลอดลูกจึงมีโอกาสตายที่ตึกหนึ่งมากกว่าที่อีกตึกหนึ่ง และเหตุใดแพทย์จึงสู้นางผดุงครรภ์ในการดูแลคนไข้ไม่ได้ Semmelweis คิดจะถามคำถามนี้กับผู้บังคับบัญชา Johann Klein ก็เกรงว่าจะไม่ได้คำตอบ ดีไม่ดีเขาอาจต้องหางานใหม่

Semmelweis จึงเริ่มเก็บข้อมูลจากทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพื่อหาสาเหตุ และพบว่า คำตอบที่ได้ล้วนไม่มีสาระและไร้เหตุผล เช่น บางคนบอกว่า ความกลัวจนลนลานคือสาเหตุหลัก บางคนบอกว่าเทคนิคทำคลอดของแพทย์รุนแรงเกินไป ในขณะที่นางผดุงครรภ์ใช้วิธีที่นุ่มนวลกว่า Semmelweiss ไม่เชื่อในเหตุผลเหล่านี้ เขาคิดว่า คำตอบน่าจะอยู่ที่ประเด็นว่า ตึกทั้งสองตึกมีอะไรบางอย่างที่แตกต่างกัน นั่นคือ ตึกหนึ่งมีอะไรที่ตึกสองไม่มี

Semmelweis ครุ่นคิดหาคำตอบสำหรับเรื่องนี้ทั้งวันและคืน ในขณะที่คนไข้ก็เสียชีวิตไปทุกวัน วันละหลายคน เขารู้สึกเสมือนว่ากำลังพ่ายแพ้ปัญหา เมื่อความกังวลเพิ่มมากขึ้น คุณภาพของงานที่ทำก็ลดลง ในที่สุด Semmelweis ถูกเลิกจ้าง และได้งานใหม่ไปปฏิบัติงานร่วมกับแพทย์ชื่อ Josef Skoda และ Jakob Kolletschka ผู้สนใจปัญหาเดียวกับเขา แพทย์ทั้งสองได้ปลอบใจ Semmelweis ว่า ในวัยหนุ่มแพทย์หลายคนมักทนความกดดันจากผู้บังคับบัญชาไม่ได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้น ทุกคนจะทนความบีบคั้นได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเริ่มงานใหม่ แพทย์ทั้งสองได้อนุญาตให้ Semmelweis เดินทางไปพักผ่อนที่ Venice ในอิตาลี เพื่อล่องเรือกอนโดลาตาม Grand Canal และดู Bridge of Sighs เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

เมื่อกลับจากการพักผ่อนที่ Venice จิตใจของ Semmelweis ก็ดีขึ้นมาก ยิ่งเมื่อได้ข่าวว่า ตำแหน่งเดิมของตนที่โรงพยาบาล Vienna ยังไม่มีใครแทน Skoda จึงอาศัยบารมีนำ Semmelweis กลับไปครองตำแหน่งเดิม แต่ Semmelweis ได้ทราบข่าวร้ายว่า อาจารย์ Kolletschka ที่เคยสอนตนได้เสียชีวิต เพราะมือถูกมีดบาด และแผลได้อักเสบอย่างรุนแรงจนเสียชีวิตในวันที่ Semmelweis เดินทางถึง Vienna นั่นเอง Semmelweiss จึงรีบไปที่โรงพยาบาลเพื่อคารวะศพอาจารย์เป็นการอำลาครั้งสุดท้าย

ในห้องชันสูตรศพ Semmelweiss รู้สึกหดหู่ และเศร้าใจมากเมื่อเห็นศพอาจารย์ แต่เมื่อได้ยินคำบอกเล่าจากหมอที่ชันสูตรศพซึ่งได้กล่าวว่า Kolletschka อาจเสียชีวิตด้วยโรค peritonitis หรือ meningitis หรือ lymphangitis ซึ่งเป็นโรคที่ Semmelweis รู้ดีว่า มักเกิดในสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ๆ แต่ Kolletschka เป็นผู้ชาย จึงไม่น่าจะตายด้วยโรคสตรีเลย

อย่างไรก็ตาม Semmelweis ก็ตระหนักว่าในภาพรวม Kolletschka ได้เสียชีวิตด้วยโรคโลหิตเป็นพิษ และเชื้อโรคที่เขาได้รับจะต้องมาจากศพที่ Kolletschka ชำแหละ Semmelweis จึงตั้งชื่อโรคนี้ว่า cadaveric poisoning (โรคพิษจากศพ) ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปคือพิษสามารถเข้าร่างกายของ Kolletschka ได้อย่างไร

หลังจากที่ Semmelweis ได้ตรึกตรองหนัก ก็พบว่าที่ตึกซึ่งมีแพทย์เป็นหัวหน้า หลังจากที่ศัลยแพทย์เสร็จสิ้นการชำแหละศพ ทุกคนมักเช็ดมือกับผ้าเช็ดตัว แล้วเดินไปทำคลอดสตรีทันที แต่ที่ตึกนางผดุงครรภ์ไม่มีการชำแหละศพ ดังนั้นโอกาสการนำพิษใดๆ ไปสู่สตรีมีครรภ์จึงไม่มี นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตในตึกทั้งสองแตกต่างกัน

ดังนั้นในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1847 Semmelweis จึงติดประกาศที่หน้าห้องคลอดทุกห้องในโรงพยาบาล Vienna ว่า ให้แพทย์และพยาบาลทุกคนที่ออกจากห้องผ่าศพ ก่อนจะไปทำงานในห้องคลอด ต้องล้างมือทั้งสองข้างให้สะอาดหมดจดด้วยน้ำคลอรีน

วันนั้นจึงเป็นวันสำคัญมากที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์การแพทย์ของโลก

หลังจากที่ Semmelweis ได้ออกกฎบังคับให้แพทย์ทุกคนล้างมือให้สะอาดก่อนลงมือผ่าตัด หรือทำคลอด ตัวเลขสถิติการเสียชีวิตของคนไข้สตรีหลังคลอดได้ลดลงๆ ในปี 1846 จากจำนวนผู้เสียชีวิตที่ตึกแพทย์คิดเป็น 11.4% ของคนไข้ทั้งหมด อีกสองปีต่อมา จำนวนผู้เสียชีวิตได้ลดเหลือเพียง 1.3%

ความสำเร็จของ Semmelweis เกิดจากการรู้ว่ามีอะไรบางอย่างได้เดินทางจากศพไปสู่สตรีหลังคลอด และอะไรบางอย่างนั้นได้ออกจากมือแพทย์ ทั้งๆ ที่แพทย์ได้ผ่าศพเสร็จไปแล้วหลายชั่วโมง

Ignaz Semmelweis เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม ค.ศ.1818 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ที่หมู่บ้าน Taban ใกล้เมือง Buda ในฮังการี ในครอบครัวที่มีลูก 10 คน Semmelweis เป็นลูกคนที่ 5 พ่อชื่อ Josef มารดาชื่อ Teresia ครอบครัวนี้ทำธุรกิจเครื่องเทศและมีฐานะดี

เมื่ออายุ 19 ปี Semmelweis ได้ไปเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัย Vienna และพบว่าวิชานิติศาสตร์ไม่ถูกโฉลกกับนิสัยตนเลย จึงเปลี่ยนไปเรียนแพทย์แทน และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เมื่ออายุ 26 ปี แต่ไม่สามารถเป็นอาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ได้ จึงตัดสินใจเป็นสูตินารีแพทย์โดยมีผู้บังคับบัญชาคือ Johann Klein เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1846 โดยมีหน้าที่เตรียมความพร้อมของห้องตรวจไข้ให้ Klein ทุกวัน รวมถึงช่วย Klein ในกรณีที่การคลอดมีปัญหา นอกจากนี้ก็ต้องสอนหนังสือ และเป็นเลขานุการของภาควิชาด้วย

ออสเตรียในสมัยนั้นมีหน่วยงานและองค์กรมากมายที่ทำหน้าที่ดูแลสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม และให้สตรียากจน กับโสเภณีใช้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าทำคลอด ในเวลาเดียวกันก็ให้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ฝึกทำคลอดให้นิสิตแพทย์ด้วย นอกจากนี้โรงพยาบาลยังมีหน้าที่ปกป้องชีวิตของทารก ที่อาจถูกแม่ฆ่า เพราะเป็นลูกนอกกฎหมาย หรือเป็นลูกที่พ่อไม่ยอมรับด้วย

ภาพแต่งงานของ Ignaz Semmelweis และ M?ria Weidenhofer
ที่ตึกสูติฯ ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Vienna เมื่อ Semmelweis เริ่มทำงานมีสถิติการเสียชีวิตที่ตึกแรกเป็นประมาณ 10% และที่ตึกสอง 4% เมื่อสถิตินี้ปรากฏต่อสาธารณะสตรีมีครรภ์จึงหลั่งไหลไปขอใช้บริการที่ตึกสอง และไม่มีใครยินยอมไปที่ตึกหนึ่ง เมื่อถูกบังคับให้ไปตึกหนึ่งสตรีบางคนยอมคลอดลูกกลางถนน เพื่อจะได้เงินสวัสดิการ แล้วกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน แต่ Semmelweis ได้พบว่าสตรีที่คลอดลูกกลางถนนก็มักเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเท่ากับพวกที่คลอดที่ตึกหนึ่งในโรงพยาบาล

ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1847 มีสตรีคนหนึ่งเข้ารับการรักษามะเร็งปากมดลูก Semmelweis ได้สำรวจพบว่า ภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ผู้หญิงคนนั้นมาพักรักษาตัว สตรีมีครรภ์ 11 คน จาก 12 คนได้เสียชีวิต นี่เป็นการสูญเสียที่ร้ายแรงมาก Semmelweis รู้สึกมั่นใจว่า จะต้องมีอะไรเกิดขึ้นอีกแล้วที่โรงพยาบาล ทั้งๆ ที่เขาได้ตั้งกฎบังคับให้แพทย์ทุกคนล้างมือให้สะอาดก่อนเดินเข้าห้องคลอด ในที่สุด Semmelweis ก็ได้พบว่า สตรีที่เป็นมะเร็งคนนั้นถูกจัดให้นอนที่เตียงใกล้ประตูทางเข้า ดังนั้น แพทย์ทุกคนเวลาเข้าห้องผู้ป่วยก็จะตรวจอาการของเธอก่อน แล้วจึงเดินไปตรวจคนอื่นๆ เมื่อผู้หญิง 11 คน ต้องเสียชีวิต Semmelweis จึงตระหนักว่าสารพิษอาจถูกนำออกจากร่างกายสตรีที่เป็นมะเร็งคนนั้น และนั่นหมายความว่า สารพิษสามารถถ่ายทอดออกจากสิ่งที่มีชีวิต (คน) ได้เช่นเดียวกับจากสิ่งไม่มีชีวิต (ศพ) ดังนั้นเพื่อป้องกันภัยนี้ Semmelweis จึงตั้งกฏบังคับใหม่ให้แพทย์ทุกคนล้างมือด้วยน้ำคลอรีน ระหว่างการตรวจร่างกายผู้ป่วยแต่ละคน

หลังจากที่ได้ออกกฎนี้ สถิติการเสียชีวิตของคนไข้ในโรงพยาบาล Vienna ก็ได้ลดลงๆ จาก 18.3% เป็น 1.2%

ทั้งๆ ที่มีสถิติยืนยัน แต่แพทย์ส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อเหตุผลของ Semmelweis และได้เยาะเย้ยที่ Semmelweis เน้นเรื่องความสะอาด เพราะแพทย์รู้ว่าไม่มีใครแต่งตัวสกปรก ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่สมควรต้องล้างมือบ่อย นอกจากเหตุผลนี้แล้ว Semmelweis ก็ไม่มีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ใดๆ มาสนับสนุนหลักการของเขา ด้วยเหตุนี้วงการแพทย์จึงต่อต้านวิธีที่ Semmelweis แนะนำให้ปฏิบัติ และหนึ่งในบรรดาคนที่ต่อต้านอย่างรุนแรง คือ Johann Klein ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ Semmelweis Semmelweis จึงพบว่าตนมีโอกาสสูงที่จะถูกไล่ออกจากงาน

วันหนึ่งขณะมีการสาธิตการผ่าตัด มีนิสิตแพทย์คนหนึ่งมาสายและเดินเข้าห้องผ่าตัดโดยไม่ได้ล้างมือ เพราะคิดว่าเมื่อ Semmelweis ไม่อยู่ จึงไม่จำเป็นต้องล้างมือให้เสียเวลา

ภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์ สถิติการเสียชีวิตของคนไข้ได้เพิ่มสูงถึง 5.3%

Semmelweis จึงถามหานิสิตแพทย์คนนั้นจนรู้ชื่อ แล้วบอกให้มารายงานตัวพร้อมบริภาษอย่างรุนแรง นับตั้งแต่นั้น ไม่มีนิสิตแพทย์คนใดกล้าฝ่าฝืนกฎให้ล้างมือก่อนสัมผัสคนไข้อีกเลย

วิธีปฏิบัติของ Semmelweis ได้เริ่มแพร่กระจายจาก Vienna สู่โลกภายนอกอย่างช้าๆ เพราะ Semmelweis ไม่ชอบเขียนบทความเผยแพร่การค้นพบของตน ด้วยเหตุผลว่าเป็นคนไม่ชอบเขียน และตั้งใจให้เพื่อนเป็นคนเผยแพร่ความคิดแทน แต่เพื่อนที่ไหว้วานก็ทำได้ไม่ดีและไม่ละเอียดเท่า Semmelweis นอกจากไม่ชอบเขียนหนังสือแล้ว Semmelweis ยังไม่ชอบแสดงปาฐกถาเรื่องที่ทำด้วย มีครั้งหนึ่งที่ได้รับเชิญไปบรรยายที่ Vienna Medical School Society แต่ Semmelweis ตอบปฏิเสธอย่างไม่ใยดี

ชีวิตทำงานของ Semmelweis เริ่มมีปัญหา เพราะผู้บังคับบัญชา Johann Klein ไม่เห็นด้วยกับการล้างมือเพื่อรักษาความสะอาด และต้องการให้ Semmelweis ลาออก แต่ Josef Skoda ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบวิธีปฏิบัติของ Semmelweis ก่อนจะมีการไล่ออก ถ้าพบว่าไม่เหมาะสม แต่ Klein ปฏิเสธ โดยอ้างว่าหน้าที่ตรวจสอบเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของตน ไม่ใช่ของ Skoda ประจวบกับระยะเวลาที่จ้าง Semmelweis หมดอายุพอดี ดังนั้นเมื่อ Semmelweis ขอต่อสัญญาจ้าง Klein จึงไม่อนุญาต และได้รับการประท้วงอย่างรุนแรงจาก Semmelweis

ในเวลานั้นวงการแพทย์จึงมีความเห็นแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นด้วยกับ Semmelweis และฝ่ายที่เห็นต่าง ในบรรดาคนที่ไม่เห็นด้วยมีแพทย์สองท่านซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังคือ Seanzoni แห่งมหาวิทยาลัย Prague ในเชคโกสโลวาเกียกับ Seyfert แห่งมหาวิทยาลัย Berlin ในเยอรมนี

การถูกโจมตีโดย “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ทั้งสองทำให้ Semmelweis รู้สึกท้อแท้มาก และตระหนักว่าการจะให้แพทย์เลิกเชื่อความคิดเดิมๆ เป็นเรื่องยากมาก Semmelweis จึงตัดสินใจปล่อยวางให้ใครจะฆ่าใครโดยไม่ล้างมือตามสบาย

หลังจากนั้น Semmelweis ได้หันไปสอนองค์ความรู้ที่ตนพบและเชื่อแก่นิสิตที่จะเป็นแพทย์ในอนาคต และได้ตั้งความหวังว่า คนเหล่านี้จะมีใจที่เปิดกว้างจนสามารถเห็นความจริงได้สักวันหนึ่ง

หลังจากที่ตกงาน Semmelweis ได้ไปสมัครเป็นอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาลหลายแห่ง แต่ไม่มีโรงพยาบาลใดตอบรับ จนถึงวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1850 ก็ได้รับจดหมายตอบรับฉบับหนึ่งจากมหาวิทยาลัย Vienna ให้ Semmelweis เป็นอาจารย์สอนวิชาสูตินารีเวชศาสตร์ภาคทฤษฎีแก่นางผดุงครรภ์ แต่ให้ใช้หุ่นสอนแทนคนจริง ดังนั้นการสาธิตสดจึงทำไม่ได้

Semmelweis รู้สึกเคืองมาก จึงฉีกจดหมายฉบับนั้นทิ้ง แล้วตัดสินใจเดินทางจาก Vienna ไป Budapest ในฮังการี โดยไม่ร่ำลาใคร

ในเวลานั้นบรรยากาศในกรุง Budapest กำลังซบเซา เพราะการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประเทศเพิ่งสิ้นสุด และกองทัพฮังการีกำลังสู้รบกับกองทัพของราชวงศ์ Hapsburg แห่งออสเตรีย เมื่อประจักษ์ว่าทหารฮังการีกำลังจะแพ้สงคราม ผู้นำรัฐบาลจึงหลบหนีไปตุรกี Semmelweis เองก็เพิ่งเดินทางมาจาก Vienna จึงไม่เป็นที่ต้อนรับในกรุง Budapest

ท่ามกลางบรรยากาศที่กำลังปั่นป่วนอลเวง มหาวิทยาลัยทุกแห่งในฮังการีต้องปิดการสอน เพราะครึ่งหนึ่งของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยติดคุก ดังนั้นบรรยากาศวิชาการในมหาวิทยาลัยจึงซบเซา กระนั้นสมาคมแพทย์ก็ได้พยายามจัดประชุม แต่ทุกครั้งก็จะมีตำรวจลับเข้ามานั่งฟังด้วย ถ้าผู้บรรยายคนใดกล่าวปราศรัยต่อต้านรัฐบาล ก็จะถูกจับกุมทันที

เมื่อ Semmelweis เดินทางถึง Budapest ก็ได้พบว่า บิดาและมารดาได้เสียชีวิตแล้ว จึงรู้สึกเหงามาก เพราะขาดทั้งเพื่อนเก่า และไม่มีเพื่อนใหม่

ในเวลานั้นที่โรงพยาบาล St. Rochus ใน Budapest กำลังมีเหตุการณ์การเสียชีวิตของสตรีหลังคลอดจำนวนมาก โดยไม่มีแพทย์คนใดรู้สาเหตุ Semmelweis จึงสมัครไปทำงานที่นั่นโดยปวารณาไม่รับเงินเดือน และเริ่มทำงานเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ.1851 จนกระทั่งปี 1855 กฎการทำความสะอาดมือด้วยน้ำคลอรีนของ Semmelweis ได้ทำให้สถิติการเสียชีวิตของสตรีหลังคลอดลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวน 933 คนมีเสียชีวิตเพียง 8 คน ภายในเวลา 6 ปี จึงคิดเป็นเพียง 0.9% เท่านั้นเอง

เมื่อผลงานปรากฏเป็นที่ประจักษ์เช่นนี้ คนที่อิจฉา Semmelweis ก็ยิ่งมีมาก แม้แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล St. Rochus ก็ไม่เว้นในการวางตัวเป็นฝ่ายตรงข้าม

วันหนึ่ง Semmelweis ได้พบว่าสถิติการตายของคนไข้ ได้เพิ่มมากอย่างผิดสังเกต จึงต้องการหาสาเหตุ และพบว่า หัวหน้าพนักงานทำความสะอาดผ้าปูที่นอนได้ตัดงบประมาณการซักรีดในโรงพยาบาล ทำให้คนไข้ใหม่ต้องใช้ผ้าปูที่นอนของคนไข้เก่า ซึ่งบางครั้งก็เปื้อนเลือดและเต็มไปด้วยคราบสกปรก Semmelweis รู้สึกโกรธมาก จึงนำผ้าปูที่นอนที่เปื้อนผืนนั้นไปให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดู แล้วเรียกร้องไม่ให้ตัดงบประมาณเรื่องนี้

Semmelweis ได้รับผ้าปูที่นอนใหม่ทันที และได้งบประมาณทำความสะอาดเท่าเดิม แต่ได้ผู้อำนวยการเป็นศัตรูในเวลาเดียวกัน

ลุถึงปี 1856 Semmelweis ก็ตระหนักว่า ถ้าไม่เผยแพร่วิธีปฏิบัติที่ตนพบให้โลกรู้ แพทย์ในโรงพยาบาลอื่นๆ อาจฆ่าคนโดยไม่รู้ตัวก็ได้ Semmelweis จึงคิดว่าถึงเวลาที่ต้องเขียนรายงานองค์ความรู้ที่พบ ณ โรงพยาบาล Vienna และ Budapest และได้ส่งบทความไปลงตีพิมพ์ เมื่อวารสารที่ลงบทความนั้นตกถึงมือ Semmelweis ก็พบว่าบรรณาธิการได้เขียนข้อความเพิ่มเติมที่ท้ายบทความว่า นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของ Semmelweis ซึ่งทางกองบรรณาธิการมิได้เห็นด้วยแต่ประการใด

ในปี 1857 Semmelweis ได้เข้าพิธีสมรสกับ Maria Weidenhoffer บุตรสาวของนักธุรกิจฐานะดี และมีอายุน้อยกว่า 19 ปี ครอบครัว Semmelweis มีลูก 5 คน และ 2 คนแรกเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย คนที่ 3 ฆ่าตัวตาย คนที่ 4 เป็นโสด ส่วนคนที่ 5 มีครอบครัว

ในปี 1858 ตำราของ Semmelweis ชื่อ “The Etiology of Childbed Fever” (สมุฎฐานของโรคสตรีระยะหลังคลอดบุตร) ถูกตีพิมพ์ นี่เป็นตำราหนาทั้งๆ ที่ Semmelweis ไม่ชอบเขียนหนังสือ ถึงวันนี้หนังสือเล่มนี้มีความสำคัญระดับเดียวกับตำรา “On the Motion of the Heart” ของ William Harvey

ทั้งๆ ที่ในเวลานั้นแทบไม่มีแพทย์คนใดสนใจสิ่งที่ Semmelweis พบ เพราะคิดว่า วิธีการของ Semmelweis ที่ขอร้องให้แพทย์ใช้น้ำปนคลอรีนล้างมือก่อนลงมือผ่าตัด แล้วคนไข้จะไม่ตายนั้น “ง่าย” เกินไป

ในเวลาต่อมา Semmelweis รู้สึกเดือดดาลมากเมื่อพบว่า หนังสือของเขาขายได้ไม่ดี จึงเขียนจดหมายโจมตีบรรดาสูตินารีแพทย์ที่มีชื่อเสียง และกล่าวหาแพทย์เหล่านั้นว่าเป็นฆาตกรเลือดเย็นที่ไม่เคยรับผิดชอบต่อชีวิตคนไข้เลย

ความก้าวร้าวของ Semmelweis ทำให้ภรรยาวิตกว่า สามีคงเสียสติ เพราะเวลา Semmelweis เครียด เขาจะมีอาการซึมเศร้า ตาเหม่อลอย ใบหน้าซีดเซียว จนดูแก่เกินวัย นอกจากนี้ก็ยังชอบดื่มสุรา เที่ยวโสเภณี และเวลาสนทนากับใครก็จะวกเข้าเรื่องโรคของสตรีหลังคลอดบุตรทุกครั้งไป อาการ Alzheimer ได้ทำให้สมองของ Semmelweis เสื่อม และร่างกายอ่อนแอมาก เพราะเป็นโรคซิฟิลิสด้วย

เมื่อพฤติกรรมที่แสดงออกของ Semmelweis ไม่เหมาะสม เช่น เปลื้องผ้ากลางที่สาธารณะ ในปี 1865 Semmelweis จึงถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลโรคจิตแห่ง Vienna และถูกนำไปขังในห้องมืด เวลาคลุ้มคลั่งจะถูกสาดด้วยน้ำเย็น และน้ำร้อนสลับกัน Semmelweis ได้พยายามหนีออกจากโรงพยาบาล แต่ถูกจับได้ จึงถูกโบยตีจนบาดเจ็บสาหัส เนื้อตัวมีรอยแผลมากมายและล้มป่วยเป็นบาดทะยัก ในที่สุดก็เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1865 สิริอายุ 47 ปี

อีก 2 วันต่อมา ศพของเขาถูกนำไปฝังที่โบสถ์ใน Vienna มีคนมาร่วมงานในพิธีศพเพียง 3 คน ข่าวการเสียชีวิตของ Semmelweis ได้รับการบันทึกเพียงสั้นๆ ในหนังสือพิมพ์ที่ Vienna และ Budapest

ในปี 1891 ศพของเขาถูกนำกลับไปฝังที่ Budapest และถูกย้ายไปฝังที่บ้านเกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1964 ปัจจุบันบ้านเกิดของ Semmelweis เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงผลงานให้รู้ว่า Semmelweis เป็นแพทย์ผู้บุกเบิกมาตรฐานการทำความสะอาดในการผ่าตัด และมาตรฐานนี้ได้รับการยืนยัน โดยทฤษฎีเชื้อโรค (germ) ของ Louis Pasteur ในเวลาต่อมา

ณ วันนี้ที่กรุง Budapest ฮังการีมีมหาวิทยาลัย Semmelweis ที่ Vienna มี Semmelweis Klinik สำหรับสตรีโดยเฉพาะ ส่วนที่เมือง Miskole ในฮังการีก็มี Semmelweis Hospital

ในปี 2008 รัฐบาลออสเตรียได้ออกเหรียญที่ระลึกที่มีภาพสลักนูนของ Semmelweis

อ่านเพิ่มเติมจาก “A Scientific Biography of Ignaz Semmelweis โดย K. Codell Cartar และ Barbara R. Carter จัดพิมพ์โดย Transaction Publishers ปี 2005


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น