xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทของ DNA โบราณในการวิจัยทางโบราณคดี

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


ภาพการค้นพบโลงศพในอียิปต์ ซึ่งบรรจุพระศพ Queen Shesheti (REUTERS/Handout)
มีใครรู้บ้างว่า มนุษย์ซึ่งถือกำเนิดในแอฟริกาเดินทางถึงเอเชียอาคเนย์เป็นครั้งแรกเมื่อใด และคนโบราณในทวีปอเมริกาเหนือและใต้มีบรรพบุรุษที่เดินทางจากเอเชียสู่ไซบีเรียแล้วข้ามแหลม Bering (ในเวลานั้นไม่มีช่องแคบ) เพราะเป็นแผ่นดินที่เชื่อมต่อระหว่างเอเชียกับอเมริกาเหนือ หรือใช้เส้นทางเรือข้ามมหาสมุทร Pacific และเดินทางถึงเมื่อไร หรืออาณาจักรโรมันได้ล่มสลายด้วยสาเหตุใด และบรรพบุรุษของคนไทย อพยพมาจากที่ใดบ้าง เมื่อไร อย่างไร และด้วยสาเหตุใด

แม้คำถามเหล่านี้ในอดีตจะเป็นปริศนาที่ครูถามง่าย แต่ตอบยาก เมื่อถึงวันนี้นักวิทยาศาสตร์ได้หันมาสนใจประวัติศาสตร์ที่เกิดในอดีตมากขึ้น โดยการใช้วิทยาการพันธุศาสตร์ตอบบรรดาคำถามข้างต้นด้วยและใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมศาสตร์วิเคราะห์ DNA ของซากศพคนโบราณเพื่อให้รู้ชัดว่า มีเหตุการณ์อะไรบ้างเกิดขึ้นในโลก ยุคทองสัมฤทธิ์ ยุคไวกิงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ฯลฯ และพบว่าการแปลความหมายของการวิเคราะห์โดยนักพันธุศาสตร์ในบางครั้งก็สนับสนุน และยืนยันหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่บางครั้งก็ขัดแย้งกับเหตุผลที่นักมานุษยวิทยาหรือนักโบราณคดีเชื่อ

ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2015 เมื่อนักพันธุศาสตร์ได้วิเคราะห์รหัสพันธุกรรม (genome) ของชาวรัสเซียที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในทุ่งหญ้า steppe เมื่อ 5,000 ปีก่อน และศึกษา genome ของชาวยุโรปตะวันตกที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 4,500 ปีก่อน และพบว่ารหัสมีความคล้ายคลึงกันมาก จนทำให้คณะวิจัยได้สรุปความเห็นว่า ชาวรัสเซียเมื่อห้าสหัสวรรษก่อนได้อพยพสู่ยุโรป แล้วนำภาษา Indo-European ไปเผยแพร่จนทำให้เกิดภาษาต่างๆ ในยุโรป เช่น ภาษาอิตาเลียน เยอรมัน และสลาฟ เป็นต้น รายงานที่ปรากฏในวารสาร Nature ฉบับที่ 522 หน้า 140-141 ปี 2015 ได้วิเคราะห์ DNA จากซากศพจำนวน 1,100 ซากที่ฝังอยู่ในดินแดนของประเทศออสเตรีย ฮังการี อิตาลี และสาธารณรัฐ เชค แล้วสรุปว่า ชาวยุโรปส่วนหนึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวรัสเซีย

หลังจากนั้น ความตื่นตัวในการบูรณาการวิทยาศาสตร์ด้านพันธุศาสตร์กับมานุษยวิทยาก็ได้เกิดขึ้น ในที่ประชุมที่สถาบัน Max Planck Institute for the Science of Human History ณ เมือง Jena ประเทศเยอรมนี ได้มีนักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีรุ่นเด็กเข้าฝึกอบรมวิชาพันธุศาสตร์ เพื่อให้รู้จัก และมีความรู้เกี่ยวกับ DNA โบราณ รวมถึงรู้จักอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ DNA เพื่อตอบคำถามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของมนุษย์ การสงคราม เส้นทางการค้าในสมัยก่อน และการเผยแพร่ความรู้ รวมถึงโรคระบาดที่เคยคร่าชีวิตมนุษย์จำนวนมากในอดีต และในพื้นที่ต่างๆ ของโลก เพื่อให้โลกตระหนักว่า เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ปัจจุบันกำลังช่วยนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี และนักมานุษยวิทยาแปลความหมายของข้อมูลในอดีตอย่างไร

ตัวอย่างแรกที่จะเห็นและเข้าใจได้ชัดที่สุดคือ การใช้ DNA ของมัมมี่เพื่อรู้ประวัติความเป็นมาของชาวอียิปต์โบราณ

mummy เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากคำ mumia ในภาษาเปอร์เซีย ซึ่งใช้อ้างถึงของเหลวสีดำที่ไหลทะลักออกมาจากภูเขาลูกหนึ่งในประเทศอิหร่าน และผู้คนแถบนั้นเชื่อว่าของเหลวนี้สามารถรักษาโรคและเก็บสภาพศพได้นาน ดังนั้นเมื่อซากศพของชาวอียิปต์มีสีดำ จึงเรียกซากศพที่มีแต่โครงกระดูกและเนื้อหนังที่อยู่ในสภาพไม่เน่าสลายว่า มัมมี่

Herodotus ผู้เป็นบิดาของประวัติศาสตร์เคยเดินทางไปอียิปต์ และได้พบว่า นี่เป็นดินแดนที่มีอารยธรรมที่สูงส่งมาก เพราะผู้คนนิยมทำเกษตรกรรมตามสองฟากฝั่งของแม่น้ำ Nile ในพื้นที่ๆ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยสีดำ จึงเรียกบริเวณนั้นว่า kemet ซึ่งแปลว่า แผ่นดินดำ และเรียกบริเวณภายนอก kemet ว่า dehret เพราะเป็นทะเลทราย (และคำนี้ได้แปลงเป็น desert ในภาษาอังกฤษ) ที่มีแต่ความแห้งแล้ง และความตาย

เมื่อ 7,000 ปีก่อน ชาวอียิปต์นิยมนำศพของคนที่เพิ่งตายใหม่ ไปฝังที่บริเวณริมทะเลทราย เพื่อให้แสงแดดและทรายที่ร้อนระอุแผดเผาศพจนแห้ง แล้วจึงฝัง แต่ศพที่ไม่แห้งสนิทและถูกฝังไม่ลึกมักถูกสุนัขป่าขุดขึ้นมากิน สภาพศพที่ถูกกัดกินทำให้บรรดาญาติเสียความรู้สึก จึงได้พยายามหาทางปกป้องโดยการนำไปฝังในห้องใต้ดินแทน แต่กลับพบว่า ศพที่ไม่ถูกแสงแดดจะเน่าเปื่อยเร็ว ซึ่งจะทำให้ดวงวิญญาณของคนตาย เวลาจะกลับคืนสู่ร่าง จำตนเองไม่ได้ ดังนั้นชาวอียิปต์ เมื่อ 4,600 ปีก่อน จึงคิดวิธีทำมัมมี่ โดยเฉพาะชนชั้นสูง เช่น กษัตริย์ นักบวช ขุนนางผู้ใหญ่ และนายทหารได้เริ่มทำก่อน เพราะมีฐานะดี

พระศพ Queen Shesheti ที่หลงเหลืออยู่ในโลงที่ค้นพบในอียิปต์ (REUTERS/Handout)
ในขั้นตอนการทำมัมมี่นั้น Herodotus ได้บรรยายว่า ใช้เวลาประมาณ 40 วัน ทันทีที่มีการเสียชีวิต ญาติจะนำศพมาเจาะกะโหลกเพื่อควักมันสมองออกไป ทิ้งไว้แต่ดวงตาให้ได้เห็นเทพ Osiris แห่งยมโลกเวลาวิญญาณจะไปเข้าเฝ้า จากนั้นก็เผ่าศพเอาอวัยวะภายในเช่น ปอด ตับ ไต ฯลฯ ออก ยกเว้นหัวใจ เพราะคนอียิปต์เชื่อว่าเป็นอวัยวะเฉพาะส่วนบุคคล ที่ถ้าถูกกำจัด ศพนั้นจะเป็นศพไม่มีญาติและไม่มีใครคนรู้จัก แล้วนำอวัยวะทั้งหมดใส่ในไห 4 ใบที่มีฝาปิดมิดชิด จากนั้นนำสารผสม natron ซึ่งประกอบด้วย sodium carbonate และ sodium bicarbonate มาทา แล้วนำไปอบแห้งด้วยไฟ เพื่อให้โซดาไฟดูดซับไขมันออกจากศพ ขั้นตอนต่อไปคือการชะล้าง natron แล้วแต่งหน้า ทาสีตามตัว พร้อมประพรมด้วยน้ำหอม เมื่อเสร็จ ศพก็ถูกนำไปพันด้วยผ้าฝ้าย เพื่อนำไปบรรจุในโลง โดยมีการนำอัญมณีมีค่า รวมถึงศพสัตว์เลี้ยงที่คนตายโปรดปรานมาวางใกล้โลง ซึ่งได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม

มัมมี่ของชาวอียิปต์โบราณเป็นมัมมี่ที่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นซากศพที่เก็บรายละเอียดของผู้ตายได้มากมาย ทั้งเค้าโครงหน้า สาเหตุการเสียชีวิต รอยสักตามตัว และเครื่องสำอางที่ใช้ เช่น สีและแป้งฝุ่น แต่สำหรับ DNA แล้ว นักวิทยาศาสตร์หลายคนเคยคิดว่าคงไม่มีอะไรหลงเหลือให้เห็น เพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัดและสารเคมีต่างๆ ที่ใช้ทำมัมมี่ได้ทำลายสารพันธุกรรมไปจนหมดสิ้นแล้ว

เช่น ในปี 2010 Albert Zink แห่งสถาบัน Institute for Mummy Studies ที่เมือง Bolzano ในประเทศอิตาลีได้ศึกษา DNA ในมัมมี่ของกษัตริย์อียิปต์ 16 พระองค์ ตั้งแต่ Tutankhaman, Amenhotep ที่ 1, 2 และ 3 Akhenaten และ Nefertiti โดยใช้เทคนิค polymerase chain reaction (PCR) หาความแตกต่างระหว่าง DNA ของฟาโรห์กับ DNA ของคนปัจจุบัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จที่ชัดเจน

ลุถึงปี 2017 Johannes Krause แห่งสถาบัน Max Planck Institute for the Science of Human History ที่เมือง Jena ในประเทศเยอรมนี ผู้เคยถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ Neanderthal และ Denisovan ได้หันมาสนใจมัมมี่อียิปต์ เพราะรู้ว่าอาณาจักรอียิปต์เคยถูกชนต่างชาติรุกราน เช่น ชาว Assyrian ในตะวันออกใกล้ ชาว Nubian ที่ตั้งอาณาจักรอยู่ทางใต้ของอียิปต์ปัจจุบัน ชาวเปอร์เซีย ชาวกรีก และชาวโรมัน คำถามที่นักวิชาการสนใจใคร่จะรู้คำตอบ คือ การถูกปกครองโดยชาวต่างชาติมีส่วนในการเปลี่ยนแปลง DNA ของชาวอียิปต์ในสมัยนั้นอย่างไร

Krause จึงนำกะโหลกศีรษะจำนวน 151 กะโหลกจากสุสานในเมือง Abusir el-Meleg ซึ่งอยู่ห่างจากกรุง Cairo ประมาณ 200 กิโลเมตรไปทางใต้มาวิเคราะห์ DNA โดยส่งกะโหลกไปที่มหาวิทยาลัย Tubingen และพิพิธภัณฑ์ Berlin (Berlin Museum of Prehistory and early History) การวัดอายุโดยเทคนิคคาร์บอน-14 แสดงให้เห็นว่า กะโหลกเป็นของคนที่เคยมีชีวิตอยู่ในอียิปต์ในช่วงเวลา 1,300 ปี และเป็นเวลาที่อียิปต์ถูกชาวกรีกและชาวโรมันปกครอง

ในขณะที่เนื้อเยื่อของมัมมี่ได้สลายจนแทบไม่มี DNA เหลืออยู่แล้ว แต่กระดูกและฟันก็ยังมีสารพันธุกรรมเหลืออยู่บ้าง มัมมี่ 90 ซากให้ข้อมูล DNA ใน mitochondria ที่ถูกถ่ายทอดจากมารดาสู่ลูก แต่ไม่มี DNA ของพ่อ ส่วน DNA จากนิวเคลียร์จะมี DNA ของทั้งพ่อและแม่ แต่โชคไม่ดีที่ข้อมูลพันธุกรรมในนิวเคลียสมีเหลือน้อยมาก Krause จึงได้ข้อมจากมัมมี่เพียง 3 มัมมี่เท่านั้นเอง และเป็นมัมมี่ของคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันด้วย

ในการเปรียบเทียบ DNA ของคนปัจจุบันกับคนอดีตที่อาศัยอยู่ในตะวันออกใกล้ (อิรัก อิหร่าน) แสดงให้เห็นว่า ชาวอียิปต์โบราณมีรหัสพันธุกรรมที่ใกล้ชิดกับพวกตะวันออกใกล้มากกว่าพวกแอฟริกา แม้อาณาจักรอียิปต์จะถูกปกครองโดยหลายชนชาติก็ตาม แต่ DNA ก็ไม่ได้เปลี่ยนมาก แล้ว DNA ก็เริ่มเปลี่ยน โดยมี DNA ของคนที่อยู่ในดินแดนตอนใต้ของอียิปต์เข้ามาปน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้คงเกิดจากการติดต่อทำธุรกิจ และค้าขายทาสหรือจากการเผยแผ่ศาสนาอิสลามระหว่างคนอียิปต์กับคนในดินแดนทางใต้

ที่โอเอซิส Kharga ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง Luxor ในอียิปต์ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 200 กิโลเมตร ที่นั่นไม่มีพีระมิดและไม่มีสถานที่ฝังศพของชนชั้นสูง เพราะเป็นสถานที่อาศัยของสามัญชนทั่วไป และมีหมู่บ้าน Ain Labakha ที่มีผู้คนอาศัยตั้งแต่ 500-1,000 คน เมื่อ 2,000 ปีก่อน สุสานของคนเหล่านี้จึงแทบไม่มีของมีค่าให้นักขุดสมบัติทั้งหลายเข้าไปขโมย จะมีก็แต่มัมมี่ของคนธรรมดาจึงไม่มีใครเคยไปรบกวนตั้งแต่มีการเสียชีวิต

การศึกษาซากมัมมี่ทั้ง 60 มัมมี่แสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้ก่อนจะเสียชีวิตได้ล้มป่วยเป็นโรคข้ออักเสบ และซากหลายซากมีกระดูกที่บิดเบี้ยวปิดปรกติ ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ คนกลุ่มนี้ต้องทำงานอย่างทุกข์ทรมานมาก และเมื่อต้องยืนทำนาด้วย การคุกคามโดยพยาธิ schistosomiasis ที่อาศัยอยู่ในทุ่งนา ได้เปิดโอกาสให้พยาธิเข้าร่างกาย ร่างกายในภาพรวมก็แคระแกร็น และหลายคนป่วยเป็นวัณโรค นอกจากนี้ มัมมี่ที่พบก็มักเป็นของเด็กและแม่วัยรุ่นซึ่งแสดงว่า อัตราการเสียชีวิตของทารกค่อนข้างสูง และมารดาวัยรุ่นก็มักเสียชีวิตในการคลอดลูกด้วย

ข้อดีสำหรับมัมมี่กลุ่มนี้คือ คงไม่มีใครนำซากไปแสดงในที่สาธารณะให้นักทัศนาจรเห็น และเมื่อนักวิจัยได้นำมัมมี่เหล่านี้ไปฝังกลับ ณ ที่เดิม เราก็มั่นใจได้ว่า คงไม่มีใครไปรบกวนมันอีกในอนาคต

อ่านเพิ่มเติมจาก Close Encounters with Humankind: A Paleoanthropologist Investigates Our Evolving Species โดย Sang-Hee Lee จัดพิมพ์โดย W.W. Norton ปี 2018


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น