xs
xsm
sm
md
lg

คนจีน ๓๐๐ หนีฮั่นมาสร้างเตาสังคโลกให้พ่อขุนรามคำแหง! วันนี้รวมเป็นหนึ่งเพื่อแผ่นดินเกิด!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



อีกเชื้อชาติหนึ่งที่เข้ามาร่วมเป็นพี่น้องไทย ก็คือ มลายู ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเมืองปัตตานีและเมืองในแหลมมลายู ซึ่งย้ายไปย้ายมาเพราะความใกล้ชิดกันในด้านเขตแดน ไม่เพียงแต่มีคนเชื้อสายมลายูอยู่มากใน ๓ จังหวัดภายใต้ของไทย คนไทยก็มีอยู่ไม่น้อยในรัฐไทรบุรี กลันตัน และปีนัง ชาวมลายูถนัดในการเดินเรือเช่นเดียวกับชาวจาม ในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ภาษามลายูยังถือเป็นภาษากลางของนักเดินเรือในย่านนี้ เมื่อชาวตะวันตกเริ่มเข้ามา นักเดินเรือชาวมลายูจึงเป็นกลุ่มแรกที่พูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งไทยก็ได้อาศัยให้เป็นล่าม แม้จะยุ่งยากในการแปลจากอังกฤษเป็นมลายู และมลายูเป็นภาษาไทย ทำให้เรื่องราวผิดเพี้ยนไป แต่ก็ไม่รู้จะอาศัยใครได้ดีกว่านี้ ทั้งยังอาศัยรับรู้เรื่องของโลกภายนอกจากคนกลุ่มนี้ด้วย ในยามที่ยังไม่มีหนังสือพิมพ์เข้ามา นักเดินเรือชาวมลายูเหล่านี้ หลายคนก็แต่งงานกับสาวไทย หรือพาครอบครัวเข้ามาอยู่ จนมีชาวมลายูอยูริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหย่อมๆจนถึงอยุธยา

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมืองปัตตานีถือโอกาสที่กรุงศรีอยุธยาล่มสลายแข็งเมือง เมื่อกองทัพของกรมพระราชวังบวรลงไปขับไล่พม่า เลยไปปราบปรามเมืองปัตตานีด้วย กวาดต้อนผู้คนมาอยู่กรุงเทพฯมาก แต่แรกให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดชนะสงคราม จนสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อขุดคลองแสนแสบเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง จึงให้ย้ายมาอยู่ตามแนวคลองที่ขุด ทำให้มีคนเชื้อสายมาเลย์อยู่มากที่บางกะปิ เมืองมิน หนองจอกในขณะนี้ และอาจเป็นที่มาของชื่อคลองด้วย เพราะคนเหล่านี้เคยเห็นแต่คลองใกล้ทะเล กระแสน้ำไหลแรง เมื่อมาอยู่ริมคลองที่น้ำนิ่งเพราะมีประตูน้ำปิดอยู่หัวท้าย จึงเรียกคลองนี้ว่า “เซนแญป” เป็นภาษามลายูที่แปลว่า “คลองเงียบ” คนไทยอาจฟังเพี้ยนเป็น “แสนแสบ” ก็เป็นได้
สำหรับญึ่ปุ่น มีการติดต่อกับไทยมาเนิ่นนานในหลายรูปแบบ ทั้งการค้า ทหารรับจ้าง นักเผชิญโชค และลี้ภัยศาสนา ในระยะแรกที่ติดต่อกันทางการค้า มีสินค้าไทยหลายชนิดที่ญี่ปุ่นต้องการ เช่น ไม้ฝางไม้กฤษณา หนังกวาง หนังปลาฉลาม และผ้าพิมพ์ มีพ่อค้าญี่ปุ่นที่ค้ากับไทยร่ำรวยกันมาก จึงมีสำเภาญี่ปุ่นหลั่งไหลมามาก แม้ในยุคที่ญี่ปุ่นปิดประเทศถึง ๓๐ ปี เพื่อกีดกันการแพร่ศาสนาเข้าไป ก็ยังมีพ่อค้าญี่ปุ่นอยู่ในกรุงศรีอยุธยาไม่กลับประเทศ และส่งสำเภาราว ๒๐ ลำนำสินค้าไทยไปขายในย่านประเทศใกล้เคียงนี้

จากประวัติของ มารี กีร์มา หรือ “ท้าวทองกีบม้า” ในสมัยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวว่า เดิมครอบครัวยายของนางซึ่งเป็นชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ใน พ.ศ.๒๑๓๕ โชกุนได้กวาดล้างคนที่นับถือศาสนาคริสต์ลงโทษและเนรเทศ บางคนถูกประหารชีวิต ครอบครัวของยายถูกจับใส่เรือส่งไปเมืองไฝโฟในญวน ซึ่งมีคนนับถือศาสนาคริสต์อยู่มาก ยายได้แต่งงานกับเชื้อพระวงศ์ญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งเข้ารีตและถูกเนรเทศเหมือนกัน ทำมาค้าขายจนมีฐานะ ได้ข่าวว่ากรงศรีอยุธยาอุดมสมบูรณ์มั่งคั่ง ทั้งไม่กีดกันศาสนา จึงได้อพยพมาพร้อมกับชาวญี่ปุ่นอีกหลายคน มีคำให้การของบาทหลวงคนหนึ่งว่า ต้องทำพิธีถือศีลให้คริสเตียนชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาถึง ๔๐๐ คน

นอกจากพ่อค้าและคนเข้ารีตลี้ภัยศาสนาแล้ว ยังมีพวกซามูไรที่เจ้านายล่มสลายได้อาศัยเรือสินค้าเข้ามาเสี่ยงโชคถึงสยาม ครั้งหนึ่งขุนนางไทยคนหนึ่งคิดกบฎพระเจ้าทรงธรรม จ้างซามูไรพวกนี้เข้ายึดอำนาจ แต่ไม่สำเร็จ ขุนนางต้นคิดถูกสำเร็จโทษ เหล่าซามูไรจึงบุกเข้าวัง บังคับให้พระเจ้าทรงธรรมส่งตัวขุนนางที่มีส่วนฆ่าเจ้านายของตัวมาลงโทษ แต่ถูกพระยามหาอำมาตย์ ซึ่งต่อมาก็คือพระเจ้าปราสาททอง ร่วมกับพ่อค้าชาวเปอร์เซีย คือ เฉกอะหมัดเข้าขัดขวาง ขับไล่กลุ่มซามูไรเร่รอนลงสำเภาหนีไป

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ในจำนวนนี้มี ยามาด้า นางามาซะ อดีตคนหามเกี้ยวขุนนางญี่ปุ่น ที่เข้ามาเผชิญโชคในเมืองไทย และมีส่วนช่วยเหลือราชการโดยเขียนจดหมายไปถึงเจ้านายเก่า ให้ช่วยนำคณะราชทูตไทยเข้าเฝ้าโชกุน ทำให้คณะราชทูตไทยประสบความสำเร็จได้ดี ต่อมายามาด้าได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้ากองอาสาญี่ปุ่น และไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงที่สุดของชาวญี่ปุ่นในประวัติศาสตร์ไทย คือเป็น เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองใหญ่คุมตลอดทั้งภาคใต้

อินเดีย รายนี้ต้องถือว่าเป็นพี่ใหญ่ที่ถ่ายทอดสิ่งดีๆให้หลายอย่าง ทั้ง ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยุ่ในเมืองไทยมาแต่โบราณกาล โดนมีอาชีพเด่นคือ ขายผ้า ไม่ค่อยมีบทบาททางราชการ จึงไม่มีการบันทึกเรื่องราวไว้ เคยได้ยินท่านทูตอินเดียท่านหนึ่งบ่นอย่างน้อยใจว่า ไทยก็รับอารยธรรมมาจากอินเดียหลายอย่าง แต่ทำไม “เกลียดแขก” ...คงจะเป็นเพราะสมัยก่อนพี่บังเก็บดอกเบี้ยแพงไปหน่อยก็ได้นะครับ ท่านทูต

ส่วนคนจีน ญาติสนิทของคนไทย เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองจากการช่วงชิงอำนาจของราชวงศ์ต่างๆแล้ว ความอดอยากยากแค้นยังแผ่ไปทั่วแผ่นดินอันกว้างใหญ่ ทำให้คนจีนกระจายออกจากประเทศไปทั่วเพื่อหาความอุดมสมบูรณ์และทำเลการค้าที่ถนัด ไทยอยู่ในจุดศูนย์กลางของย่านนี้จึงมีคนจีนเข้ามามามาก มีหลักฐานว่า ในสมัยกรุงสุโขทัย มีชาวจีนกว่า ๓๐๐ คนได้เข้ามาสอนให้คนไทยทำเครื่องปั้นดินเผาแบบจีน จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเครื่องสังคโลก ซึ่งไม่แน่ชัดว่าคนจีนเหล่านี้เข้ามาได้อย่างไร อาจเป็นชาวฮั่นอพยพหนีมองโกลเข้ามาก็ได้ โดยได้สร้างเตาเผาขึ้นที่กรุงสุโขทัย ต่อมาพ่อขุนรามคำแหงให้ย้ายไปที่เมืองสวรรคโลกซึ่งมีดินที่เหมาะสมกว่า เมื่อจักรพรรดิกุบไลข่านสวรรคต การส่งออกของจีนต้องหนุดชะงักลง กรุงสุโขทัยจึงกลายเป็นผู้ส่งออกเครื่องสังคโลกแทนจีนไป

การเดินทางตอนนั้นเป็นเรื่องลำบากและอันตราย คนจีนที่เดินทางไปเผชิญโชคมักจะมีแต่ผู้ชาย เมื่อลงหลักปักฐานในเมืองไทย ความที่มีผิวพรรณหน้าตาและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน จึงกลมกลืนเข้าได้กับสังคมไทยและแต่งงานกับคนไทย ลูกที่ออกมาก็รับวัฒนธรรมไทยกลายเป็นคนไทยไปสนิท

ในสมัยรัตนโกสินทร์ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี กล่าวว่า ชาวไทยเชื้อสายจีน คือ ชาวจีนที่เกิดในประเทศไทยและเป็นเชื้อสายของผู้อพยพชาวจีน หรือชาวจีนโพ้นทะเล คนไทยเชื้อสายจีน มีประมาณ ๑๐.๔ ล้านคนในประเทศไทย หรือร้อยละ ๑๕ ของประชากรทั้งประเทศ และยังมีอีกจำนวนมากไม่สามารถนับได้ เพราะที่กลมกลืนกับคนไทยไปแล้วโดยการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ กระแสการอพยพเริ่มเปลี่ยนไป ผู้หญิงจีนอพยพเข้ามาในสยามมากขึ้น จึงทำให้การแต่งงานข้ามเชื้อชาติลดลง

คนจีนถนัดในการเป็นพ่อค้าอยู่ในสายเลือด และไม่ได้เข้ามาตั้งบริษัทใหญ่ค้าขายแบบอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือฮอลันดา นอกจากขายแรงงานแล้วก็เริ่มจากหาบหรือพายเรือค้าขาย ต่อไปก็ขยับเป็นร้านของชำ หลายคนได้กลายเป็นเจ้าสัวด้วยการเริ่มต้นแบบนี้

ที่มาไกลกว่า จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ก็คือเปอร์เซีย หรืออิหร่านในปัจจุบัน บุคคลสำคัญในสายนี้ก็คือ เฉกอะหมัด พ่อค้าเปอร์เซียที่เข้ามาถูกจังหวะในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กรุงศรีอยุธยากำลังรุ่งเรืองเพราะบ้านเมืองสงบ มีสำเภาต่างชาคิเข้ามาค้าขายกันมาก จึงได้ใช้ประสบการณ์เข้าช่วยกิจการกรมท่า ทำให้เก็บภาษีได้มาก ทั้งยังนำคนของตัวที่มีอยู่มากเป็นกำลังสำคัญเข้าช่วยปราบปรามเหล่าซามูไรเร่ร่อนที่บังอาจเข้าจับพระเจ้าแผ่นดิน มีความดีความชอบจนผูกขาดตำแหน่ง อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ มาหลายชั่วอายุคนจนสุดสิ้นสมัยอยุธยา และมีบทบาทสำคัญต่อมาในราชการยุคต้นกรุงรัตยโกสินทร์

ท่านเฉกอะหมัดได้แต่งงานกับสาวไทย ชื่อ เชย รุ่นลูกก็ไม่ใช่เปอร์เซียแท้แล้ว หลานเหลนโหลนที่สืบต่อมาเป็นสกุล บุนนาค ก็ไม่มีใครคิดว่ายังเป็นเปอร์เซียหรืออิหร่าน สำหรับผู้ขียน มีแม่อยู่ในสกุล เศรษฐบุตร มาจากสายจีน ไม่รู้ว่ายังเหลือเลือดเปอร์เซียอยู่กี่เม็ด แต่ที่หัวใจวัดได้เลือดไทยเต็มร้อย

ที่ข้ามโลกมาจากตะวันตกคงต้องยกให้โปรตุเกสเป็นชาติแรก ประวัติศาสตร์กล่าวว่า เมื่อปี ๒๐๕๘ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๐ ของกรุงศรีอยุธยา โปรตุเกสที่ยึดเมืองมะละกาได้ส่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย และทำสัญญาไมตรีกับไทยในปี ๒๐๖๑ ซึ่งเป็นสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับต่างประเทศ ต่อมาในปี ๒๐๘๑ สมเด็จพระไชยราชา ยกทัพไปตีเมืองกราน ซึ่งเป็นสงครามครั้งแรกไทยกับพม่า มีทหารโปรตุเกสถือปืนไฟอาสาไปในกองทัพด้วย ๑๒๐ คน ขณะที่กองทัพของพระเจ้าตะเบงชะเวตีครั้งนั้นก็มีทหารโปรตุเกสถือปินไฟร่วมมาด้วย ๕๐๐ คน แต่ก็ไม่อาจต้านทานกองทัพไทยได้ ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ถอยทัพไป สมเด็จพระไชยราชาทรงชื่นชมน้ำใจของชาวโปรตุเกสในครั้งนี้มาก พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เป็นหมู่บ้านโปรตุเกส และให้สร้างโบสถ์สอนศาสนาได้ตามความพอใจ ทั้งยังทรงมอบหน้าที่ฝึกทหารแบบยุโรปขึ้น เรียกว่า “กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง”

ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ กองทัพไทยซึ่งผ่านสงครามขยายพระราชอาณาเขตในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมามาก กำลังของกองทัพร่อยหรอลง จึงยอมรับชาวต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมัครเป็นทหารด้วยความสมัครใจ เรียกว่า “ทหารอาสา” ตั้งเป็นกรมๆไป อย่าง กรมอาสาญี่ปุ่น กรมอาสาจาม ส่วนโปรตุเกสซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องปืนไฟ ก็เป็น กรมทหารแม่นปืน

ในสมัยกรุงธนบุรี ชาวโปรตุเกสที่ร่วมกับพระเจ้าตากสินกู้ชาติมาด้วยกัน ได้รับพระราชทานที่ดิน ๑๓ ไร่ด้านใต้ของพระราชวังกรุงธนบุรีลงไปเป็นที่อยู่อาศัยและสร้างโบสถ์ ทุกวันนี้รู้จักกันทั่วไปนาม กุฎีจีน แต่เชื้อสายโปรตุเกสเจือจางแล้ว รักษาไว้อย่างมั่นคงก็คือขนมฝรั่งสไตล์โปรตุเกส ที่เรียกกันว่า “ขนมฝรั่งกุฏีจีน”
ส่วนฝรั่งเศส ที่มีบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยอยู่มากตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ก็ไม่เป็นที่ปลื้มสำหรับคนไทย เพราะมุ่งหมายแต่จะเปลี่ยนศาสนาสมเด็จพระนารายณ์เท่านั้น ส่งกองทหารมาเพื่อให้คุ้มครองจากฮอลันดา แต่ก็แอบกระซิบมาให้ยึดสยามให้ได้ แต่ก็แพ้ภัยตัวเองไป

ในสมัยรัตนโกสินทร์ บทบาทนักล่าเมืองขึ้นของฝรั่งเศสก็คุกคามไทยอย่างหนัก และมีพฤติกรรมด้านๆอย่างน่าละอาย จนหนังสือพิมพ์ในยุโรปเองต่างก็ประณามว่าเหมือนหมาป่ากับลูกแกะ และแทะเล็มแผ่นดินไทยไปจนเกือบเท่ากับที่เหลืออยู่ในเวลานี้ แม้จะมีคนฝรั่งเศสมาอยู่ในเมืองไทย หรือแต่งงานกับคนไทย แต่ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีบทบาทเป็นประวัติศาสตร์

อังกฤษ เป็นฝรั่งที่เข้ามาหลังโปรตุเกสและฮอลันดา เช้ามาเปิดสถานีการค้าที่กรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องม้วนเสื่อกลับไปเพราะขาดทุน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์กลับมาตั้งห้างอีก ครั้งก็เหมือนเดิม บทบาทของคนอังกฤษในสมัยกรุงศรอยุธยาจึงไม่มีอะไรเด่น

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่ออังกฤษยึดได้อินเดีย ขยายการค้าเข้าไปในจีนทำกำไรได้มหาศาลจากการค้าฝิ่น จึงพยายามขยายมาทางไทย แต่พระบาทสมเด็พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่ไว้ใจฝรั่งไม่อยากคบ อังกฤษก็จะใช้เรือปืนเข้ามาบังคับ เผอิญเปลี่ยนรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาอังกฤษขณะทรงผนวช และทรงติดตามข่าวโลกภายนอกจากหนังสือพิมพ์ยุโรป ทรงดำริว่าไม่อาจขัดผลประโยชน์กับอังกฤษได้ แต่จะขอผ่อนผันพอที่ไทยจะรับได้ จึงทรงทำสัญญาการค้ากับอังกฤษ ยอมรับให้อังกฤษมี
สิทธิสภาพนอกอาณาเขตไม่ต้องขึ้นศาลไทย ทำให้ชาติทั้งหลายขอทำสัญญาตามอังกฤษบ้าง แม้ไทยจะขมขื่น แต่สำเภาค้าหลายชาติต่างก็มุ่งมาไทย ทำให้ข้าวและน้ำตาลจากไทยไปสู่ตลาดโลก แต่แล้วอังกฤษก็ไม่ต่างจากฝรั่งเศส เชือดเฉือนดินแดนไทยคนละด้าน อังกฤษยึดแหลมมลายูหวังเป็นสถานีการค้า และดินแดนภาคเหนือหวังป่าไม้สัก ถึงขนาดจะแบ่งอิทธิพลกับฝรั่งเศสคนละฝั่งเจ้าพระยา แต่พระสยามเทวาธิราชก็ทำให้เรารอดพ้นมาได้

แต่คนเราจะมีทั้งคนดีคนเลวเหมือนกันทุกชาติ ส่วนมากแล้วความเลวมักอยู่ที่นโยบายรัฐบาล ที่จ้องจะตักตวงผลประโยชน์โดยไม่มีคุณธรรมและความกระดากอาย คนอังกฤษที่สร้างคุณงามความดีไว้ในประวัติศาสตร์และเป็นต้นตระกูลไทยในวันนี้ก็มี อย่างที่ผู้เขียนเคยเสนอมาแล้วในคอลัมน์นี้ในชื่อ “ราชทูตอังกฤษลาออกมาขอรับราชการไทย เป็นคนโปรด ร.๕หลานปู่เป็นองคมนตรี ร.๙” อันเป็นเรื่องของต้นสกุล “เศวตศิลา” และ “ข้าราชการอังกฤษรับใช้ ร.๕ ซาบซึ้งจนขอเป็นคนไทย ได้รับพระราชทานนามสกุลจาก ร.๖” เรื่องของต้นสกุล “จิลลานนท์”
นอกจากเชื้อชาติต่างๆที่กล่าวมานี้ ยังมีอีกหลายเผ่าหลายกลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่ตามดอยในภาคเหนือ แต่ก่อนก็ใช้ชีวิตเร่ร่อนทำไร่เลื่อนลอย แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง จนมีสิทธิเลือกตั้งเช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยทั่วไป และได้เลือกผู้แทนราษฎรจากบุคคลในกลุ่มที่เคยถูกเรียกว่า “ชาวเขา” เข้าไปนั่งอยู่ในรัฐสภาแล้ว

ความแตกต่างเชื้อชาติสายพันธุ์ไม่เคยเป็นปัญหาในสังคมไทย ทั้งอดีตและปัจจุบัน แม้เลือดจะต่างสายแต่ก็รวมกันเป็นหนึ่งเพื่อแผ่นดินเกิด
กำลังโหลดความคิดเห็น