โลกวันนี้แคบนิดเดียว ไปมาหากันได้ง่าย ไม่ต้องกลัวตกโลกเหมือนสมัยโคลัมบัสบุกเบิกทางทะเล เมื่อไปมาหากันการผสมสายพันธุ์ก็ตามมา อีกหน่อยคงไม่พูดกันเรื่องเชื้อชาติกันแล้ว ในแต่ละประเทศทุกวันนี้ก็หาพันธุ์แท้ได้ยาก ไม่ต้องพูดถึงอเมริกา คนที่เป็นพลเมืองสหรัฐล้วนแต่มาใหม่จากทุกทิศ มีทั้ง ขาว ดำ เหลือง
ส่วนประเทศไทยของเราก็ไม่ต่างกับอเมริกาไม่เท่าไหร่หรอก เดิมเราก็มีญาติอยู่หลายชาติพันธุ์ ทั้ง มอญ เขมร ข่า ขมุ กะเหรี่ยง ฯลฯ ความจริงมอญอยู่ตรงนี้มาก่อนตั้งแต่สมัยทวารวดี ซึ่งเป็นอาณาจักรรุ่งเรืองมาแต่โบราณ สมัยที่เป็นรามัญประเทศก็มีความสัมพันธ์กับไทยใกล้ชิด ในสมัยสุโขทัยปรากฏเรื่องมอญน้อยนาม มะกะโท คนเลี้ยงช้างของพ่อขุนรามคำแหง แอบพาพระราชธิดาวิวาห์เหาะไปตั้งตัวเป็นกษัตริย์มอญ แล้วส่งพระราชสาร์นมาขอขมาและขอพระราชทานนาม พ่อขุนรามคำแหงพระราชทานให้ว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว หมายถึงหล่นลงมาจากฟ้า
ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ที่อยู่ใต้อำนาจของพม่า พระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่าสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อไปในวันหน้า จึงวางแผนเรียกให้ไปช่วยปราบกบฎอังวะ แล้วส่ง ๒ ขุนนางมอญ คือ พระยาเกียรติ และ พระยาราม ให้มาดักสังหารระหว่างทาง ๒ พระยามอญได้นำเรื่องไปบอกเล่าให้มหาเถรคันฉ่อง พระภิกษุที่เคารพนับถือทราบ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จมาถึงและเข้านมัสการมหาเถรเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา มหาเถรคันฉ่องจึงให้ ๒ พระยามอญมาเข้าเฝ้า แล้วทูลเรื่องที่พระเจ้านันทบุเรงวางแผนไม่ซื่อให้ทรงทราบ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือถือโอกาสนี้ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับกรุงหงสาวดีอีกต่อไป ทรงหลั่งน้ำสิโณทกโดยมีชาวมอญที่นับถือมหาเถรคันฉ่องเป็นสักขีพยาน จากนั้นทรงพาครอบครัวมอญทั้งหมดมากรุงศรีอยุธยา
ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ พระราชธิดาองค์หนึ่งทรงสมรสกับ พระยาราม ซึ่งเป็นขุนนางเชื้อสายมอญที่อพยพเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร มีธิดาปรากฏชื่อเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ หม่อมบัว ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น พระองค์เจ้า กรมพระเทพามาตย์ และเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีฉายาเรียกกันว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต” หม่อมบัวสมรสกับหม่อมเจ้าเจิดอำไพ มีบุตรธิดา ๓ คน คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) แม่ทัพเอกของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตของสมเด็จพระนารายณ์ และท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งโกษาปานได้สืบเชื้อสายต่อมาถึง พระปฐมบรมราชชนกแห่งราชวงศ์จักรี
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชสาส์นภาษาอังกฤษไปถึงเซอร์จอห์น เบาริง ผู้เคยเป็นราชทูตอังกฤษเข้ามา มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“...ผู้ซึ่งเป็นพระมหาชนกแห่งปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี และเป็นพระอัยกาของพระราชบิดากษัตริย์องค์ปัจจุบัน (คือข้าพเจ้าเอง) และกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง (คือพระอนุชาองค์รองของข้าพเจ้า) แห่งประเทศสยาม เป็นราชโอรสอันสูงศักดิ์ของราชวงศ์ที่ได้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางกระทรวงต่างประเทศ...”
ทรงหมายถึง เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ขุนนางกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งได้สืบเชื้อสายมาถึง พระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรี พระราชบิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ในสมัยกรุงธนบุรี พระยาเจ่ง เจ้าเมืองเตรินซึ่งเป็นเมืองมอญ ถูกพม่าเกณฑ์ให้มาทำทางเตรียมจะยกทัพมาตีไทย แต่ทหารพม่ากลับข่มเหงครอบครัวมอญที่อยู่ทางเมืองเตริน ชาวมอญพากันโกรธแค้นจึงบุกเจ้ายึดเมืองเมาะตะมะโดยมีพระยาเจ่งเป็นหัวหน้า แต่เมื่อจะตีเมืองอื่นต่อไปก็ถูกพม่าส่งกองทัพใหญ่มารับมือ พระยาเจ่งจึงพาชาวมอญกลุ่มใหญ่หนีเข้ามาพึ่งไทย พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบเรื่องทรงส่งกองทัพไปคอยรับ ไม่ให้พม่าตามตีเข้ามาในเขตไทย และพระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนที่ตำบลปากเกร็ดจนถึงสามโคกในเขตเมืองนนทบุรี อันเป็นถิ่นของพี่น้องชาวมอญในวันนี้
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในพระราชพิธีสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระยาเจ่งรามัญ ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น พระยามหาโยธา และเป็นกำลังสำคัญในสงคราม ๙ ทัพที่ลาดหญ้า จนทำให้ทัพหลวงของพระเจ้าปะดุงแตกพ่ายไปอย่างไม่เป็นขบวน ทำให้อีก ๘ ทัพเป็นเรื่องง่าย หลังสงครามครั้งนี้ พระยาเจ่งซึ่งแปลว่าช้าง จึงได้รับโปรดเกล้าฯเป็น เจ้าพระยามหาโยธา และเป็นต้นตระกูล คชเสนี
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) และเป็นบิดาของ พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนีย์) บิดาของ เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น มีความชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่งในวันที่ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร ประสูติจากเจ้าจอมมารดากลิ่น ถึงกับมอบบ้านที่อยู่อาศัยรับขวัญเหลนที่เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ ก็คือ บ้านมะลิวัลย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การยูนิเซฟ ที่ถนนพระอาทิตย์ในขณะนี้ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร ก็คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ต้นตระกูล กฤดากร
นอกจากมอญแล้ว ญาติพี่น้องของเราที่มาจากย่านใกล้เคียงนี้ยังมี เขมร จาม ญวน มลายู จีน และญี่ปุ่น
เขมรนั้นเคยอยู่ในปกครองของไทย กษัตริย์เขมรหลายพระองค์เติบโตและศึกษาอยู่ในราชสำนักไทย บางครั้งเมื่อการเมืองแปรพักตร์หันไปเข้าข้างญวน เกิดความขัดแย้งกันภายใน ฝ่ายที่นิยมไทยก็อพยพหนีภัยเข้ามา และเมื่อไทยส่งกำลังไปปราบปรามก็กวาดต้อนผู้คนเข้ามา ทั้งชายแดนที่ติดกันประชาชนไปมาหาสู่กันโดยไม่ถือพรมแดนเป็นเส้นกีดกั้น ทุกวันนี้จังหวัดชายแดนของไทยด้านนี้ก็ยังพูดเขมรกันเกร่อ
ตอนเสียกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี ๒๓๑๐ ชาวคริสต์ที่อยุธยาและบางกอกต่างลี้ภัยไปอยู่เขมรกันหมด เมื่อพระเจ้าตากสินกู้บ้านกู้เมืองได้แล้ว บาทหลวงชาวโปรตุเกสได้พาคริสตังกลับมา พร้อมกับคริสตังชาวเขมรก็ร่วมมาด้วยมาก และขอพระราชทานที่ดินจากพระเจ้าตากสิน สร้างวัดขึ้นที่ฝั่ง
พระราชวังกรุงธนบุรีให้ชื่อว่า “วัดซางตาครูส” ส่วนบาทหลวงอีกคนในเขมร ก็ได้พาคริสตัง โปรตุเกสและชาวเขมรที่เป็นคนรับใช้ของชาวโปรตุเกสจำนวนมาก อพยพมาอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญสามเสน ซึ่งได้รับพระราชทานที่ดินสร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากนั้นมาวัดคอนเซ็ปชัญก็ถูกเรียกว่า “วัดเขมร” และหมู่บ้านที่อยู่รอบวัดก็ถูกเรียกว่า “บ้านเขมร” นับเป็นญาติสนิท
ของไทยอีกราย
ยังมีอีกชนชาติหนึ่งที่รู้จักกันน้อยในยุคนี้ แต่มีบทบาทในไทยมานาน ก็คือ จาม ซึ่งเดิมเป็นชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามชายทะเลตั้งแต่รอยต่อญวนกับจีนลงมาถึงเขมร เคยมีเมืองใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของญวนในชื่อ จัมปานคร รุ่งเรืองถึงขนาดเป็นคู่รบกับขอมได้ และรับวัฒนธรรมของอินเดียมาเหมือนเขมร ยังมีซากเทวสถานของจามอยู่มากในญวน เมื่อพวกอาหรับเผยแพร่ศาสนาเข้ามา จามจึงรับศาสนาอิสลามจากพวกชวาและมลายูที่เดินเรืออยู่ด้วยกัน จามมีความชำนาญในการเดินเรือทะเล แต่ทั้งไทย มอญ พม่า เขมร ไม่ชอบออกทะเลเหมือนกันทุกชาติ ถนัดแต่ในคลองในแม่น้ำ งานด้านทะเลเลยต้องใช้จาม ไทยมอบหน้าที่เดินเรือกำปั่นหลวงให้จามมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์จนถึงสมัยกรุงรันตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งใช้ฝรั่งเป็นกัปตันเรือหลวง ก็ยังมีจามร่วมด้วย จนสมัยกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จึงมีการหัดทหารไทยให้เดินเรือได้เอง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีกรมอาสาจาม เช่นเดียวกับ กรมอาสาญี่ปุ่น กรมฝรั่งแม่นปืน ฯลฯ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กองอาสาจามจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งติดตามพระเจ้าตากสินมาสร้างกรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แสดงฝีมือห้าวหาญในสงคราม ๙ ทัพ จึงได้รับพระราชทานที่ดินให้อยู่ชายพระนครด้านตะวันออก ซึ่งก็คือ “ชุมชนบ้านครัว” หรือ “บ้านแขกครัว” ที่ริมคลองแสนแสบ เชิงสะพานเจริญผลในขณะนี้
คนไทยเชื้อสายจามที่มีชื่อเสียงก็เช่น หลวงปรีชาชาญสมุทร (ซอ โสตะจินดา) อดีตผู้บังคับการ ร.ล.มกุฎราชกุมาร หลวงพลสิทธิ์วาณัฐ (แอ ไอศนาวิน) ต้นตระกูล ไอศนาวิน หลวงสาครยุทธวิชัย (หมัด หัสตานนท์) ต้นตระกูล หัสตานนท์ เป็นต้น
สำหรับคนญวน ซึ่งไม่มีพรมแดนติดต่อกับไทย แต่ก็มีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด ช่วยเหลือกันบ้างรบกันบ้าง และญวนถือว่าไทยเป็นที่ลี้ภัยตั้งแต่สมัย องเชียงสือ จนถึง โฮจิมินห์ ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ปรากฏมีชื่อ “วัดขุนญวน” อยู่ในเส้นทางขุดคลองมหานาคที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหมู่บ้านญวนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับหมู่บ้านชาวต่างชาติอื่นๆ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แม้ญวนกับไทยจะเป็นคู่ศึกที่ชิงความเป็นใหญ่ในเขมรมาตลอด แต่เมื่อคนญวนเกิดภัยการเมืองหรือภัยทางศาสนา ต่างก็มุ่งมาลี้ภัยในไทย
ใน พ.ศ.๒๓๗๘ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงส่งเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพใหญ่ไปตีญวน เนื่องจากญวนขยายอิทธิพลเข้ามาในเขมร และพาชาวญวนที่นับถือพุทธเข้ามาด้วย ส่งไปอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนพระยาวิเศษสงครามและพระยาณรงค์ฤทธิ์
โกษา นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นคาธอลิค ได้กราบทูลขอชาวญวนที่เป็นคริสตังซึ่งถูกพระเจ้ามินมางของญวนกวาดล้าง เข้ามากับกองทัพเช่นกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินต่อจากวัดคอนเซ็ปชัญเข้ามาให้เป็นที่อยู่อาศัย ทั้งยังพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างโบสถ์ขึ้นหลังหนึ่งได้ชื่อว่าวัดเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ และชุมชนรอบวัดก็เรียกกันว่า “บ้านญวน” เช่นเดียวกับ “บ้าน
เขมร”รอบวัดคอนเซ็ปชัญ
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีการจัดตั้งกองทหารรักษาพระองค์อย่างยุโรป จึงนำคนญวนนับถือพุทธ ที่ให้ไปอยู่กาญจนบุรี กลับมาอยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งเป็น กองปืนใหญ่อาสาญวน แทนกองอาสาญวนที่นับถือคริสต์ ที่โอนไปให้วังหน้า
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ คนญวนหนีกบฎไกเซินเข้ามา ส่วนใหญ่มาอยู่ที้มืองจันทบุรี องเชียงสือ เจ้าเมืองไซ่ง่อน หลานจักรพรรดิญวน เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงชุบเลี้ยงและให้ช่วยราชการ ต่อมาองเชียงสือได้กลับไปชิงบัลลังก์ได้ โดยไทยส่งกองเรือรบไปช่วย
แม้ในยุคเมื่อไม่นานมานี้ “ลุงโฮ” โฮจิมินห์ ก็ยังเลือกเอาเมืองไทยเป็นที่หลบภัยการเมืองจากการล่าของฝรั่งเศศ และซ่อนตัวอยู่ในกลุ่มชาวญวนหลายจังหวัด ทั้ง พิจิตร อุดรธานี หนองคาย นครพนม เป็นเวลาถึง ๗ ปี ก่อนจะกลับไปกู้อิสรภาพให้ประเทศเวียดนามได้สำเร็จ
วันนี้ขอเล่าแค่นี้ก่อนนะครับ ตอนต่อไปจะเล่าถึงคนมลายู อินเดีย คนจีนญาติสนิทของคนไทย และที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจากเปอร์เซียและยุโรป