xs
xsm
sm
md
lg

โกย

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ



"ไปเก็บข้อมูลที่ทุ่งใหญ่ฯ เมื่อไหร่?" เสียงรุ่นพี่ที่เคารพจากปลายสายดังขึ้นเป็นคำถาม

"ถ้าอย่างนั้นฝากเก็บกล้องให้หน่อย" เสียงรุ่นพี่ดังอีกครั้งหลังจากทราบตารางการทำงานและวันเวลาเดินทาง "ได้ครับพี่" ผมตอบกลับเสียงปลายสาย

และนั่นคือสาเหตุว่าทำไมคณะสำรวจความหลากหลายของกล้วยไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จึงได้มากู้เก็บกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าของโครงการวิจัยความหลากหลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในเขตกลุ่มป่าตะวันตกของประเทศไทย

รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อยี่ห้อโตโยต้า รุ่น LN106 ชื่อว่า แงซาย อายุเกือบกว่า 30 ปี ซึ่งได้รับมอบหมายมาเป็นพาหนะเดินทางระหว่างการสำรวจในครั้งนี้ เจ้าแงซายทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีตั้งแต่วันแรกในการเดินทางเข้าพื้นที่ระยะหลายสิบกิโลเมตร ไม่ว่าจะตกหลุมจุ่มบ่อยังไงแค่ใช้แรงงานมนุษย์เข้าช่วยนิดหน่อยก็เพียงพอให้การเดินทางเป็นไปได้อย่างราบเรียบ แต่สุดท้ายแล้วก็เกิดอาการงอแงเล็กน้อยเข้าในเช้าของวันเดินทางกลับจากเสียงซึ่งแตกต่างออกไปเมื่อบิดกุญแจรถเพื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ "เป็นเพราะแบตเตอรี่เริ่มเสื่อมหรือเปล่าครับพี่" ผมถามพี่อุไร เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลคณะสำรวจคนเดิมและพลขับตอบกลับมาว่าอาจจะเป็นเช่นนั้น

"รอช่างมาเปลี่ยนแบต อยู่ต่ออีกซักวันเลยไหมครับ" พี่อุไรติดตลก "ถ้าได้นอนเล่นเฉยๆ ก็น่าสนใจนะครับพี่ แต่เกรงว่าหัวหน้าคณะจะไม่อยากให้เป็นแบบนั้นนะครับ" ผมติดตลกตอบกลับ แต่ล่าช้ากว่ากำหนดการไม่เท่าไรนัก เจ้าแงซายก็กลับมาทำหน้าที่ได้ตามเดิมอีกครั้งและพาคณะสำรวจเดินทางกลับออกจากหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยน้ำเขียวมุ่งหน้าไปยังสำนักงานเขตฯ โดยมีหมายแวะระหว่างทางที่จุดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าของรุ่นพี่ซึ่งได้ฝากฝังไว้ "ไม่ต้องห่วงครับ ผมจำจุดได้ คราวก่อนผมมาตั้งกล้องด้วย" พี่อุไรบอก เมื่อผมเอ่ยว่ารู้แค่เพียงสถานที่คร่าว ๆ ไม่แน่ใจจุดที่อุปกรณ์ถูกติดตั้งอยู่ตรงไหน

เจ้าแงซายนำพาคณะสำรวจกล้วยไม้ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนเป็นคณะเก็บกู้กล้องผ่านป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ ร่องน้ำ และถนนดินกระทั่งมาจอดหยุดริมทาง ต้นไม้ล้อมรอบตัวขนาดใหญ่เขียวทะมึนทำให้ทราบว่าเรากำลังอยู่กลางผืนป่าดิบที่ไม่ได้ถูกรบกวนจากกิจกรรมเห็นแก่ได้ของมนุษย์ "เข้าไปทางด่านริมทางนี้แหละครับ เข้าไปไม่ไกล ตรงขอนไม้ล้ม ตั้งกล้องเอาไว้แถวนั้นครับ" พี่อุไรเอ่ยก่อนเดินนำเข้าไปตามทางด่านขนาดใหญ่ซึ่งเห็นชัดเจน "ไม่ต้องเก็บเอาตัวกล้องกลับมานะครับ รุ่นพี่บอกไว้ว่าเอามาแต่ memory card ส่วนกล้องเอาไว้ที่เดิมเขาจะเข้ามาเก็บตัวกล้องเองครับ" ผมบอกสมาชิกคนอื่นซึ่งกำลังเดินตามเข้าไปเนื่องจากตัวผมเองรออยู่ริมทางถนนดิน ไม่ได้เดินเข้าไปเก็บกู้อุปกรณ์ด้วย ไม่นานเสียงเหยียบใบไม้และกิ่งไม้ดังมาจากทางด่าน คณะเก็บกู้ข้อมูลกลับมาแล้ว ความลุ้นเรื่องภาพจากกล้องคงต้องรอจนกว่าจะส่งต่อไปยังหัวหน้าโครงการถึงจะได้รู้ว่าได้ภาพอะไรมาบ้าง เมื่อทุกคนเตรียมพร้อมออกเดินทางต่อ เหตุการณ์ยามเช้าก็กลับมาและครั้งนี้เหมือนจะหนักหนากว่ายามเช้าของวัน ฝากระโปรงหน้ารถถูกเปิดยกขึ้นดูเหมือนว่าพี่อุไรจะคลานหายเข้าไปในห้องเครื่องเมื่อมองจากกระบะหลัง เกือบประมาณครึ่งชั่วโมงพี่อุไรจึงกลับขึ้นรถและบิดลูกกุญแจ

พาหนะนำพาคณะเดินทางอีกครั้งเพื่อเดินทางกลับ ยังไม่ทันพ้นโค้งออกจากป่าดิบคณะเราก็ต้องหยุดเพราะก้อนสีน้ำตาลแดงสองก้อน หนึ่งนอนอยู่บนถนนและอีกก้อนหนึ่งยืนลิ้นห้อยอยู่ไม่ไกลกัน

"หมาใน" เป็นคำในใจพร้อมกับกล้องถ่ายรูปซึ่งถูกยกขึ้นมา น่าเสียดายเลนส์ที่ติดอยู่กับกล้องถ่ายรูปในมือเป็นเพียงเลนส์ซึ่งมีทางยาวโพกัส 50 มิลลิเมตรเท่านั้น หมาในทั้งสองตัวลุกและวิ่งออกไปเกือบจะทันทีที่รถเริ่มเคลื่อนที่อีกครั้ง หางสีดำของมันส่ายไหวไปมาบนถนนอยู่นานอย่างน้อยกว่าครึ่งกิโลเมตรก็ไม่เกิดทีท่าว่าจะหลบเข้าไปข้างทางแต่อย่างใด พวกมันวิ่งและหลบหายเข้าไปในด่านบริเวณทุ่งโล่งหญ้าสั้น พวกมันยืนหยุดดูรถอยู่กลางทางด่านนั้นเมื่อเราเคลื่อนที่ผ่าน แต่น่าเสียดายที่อุปกรณ์ถ่ายรูปติดตัวนั้นไม่อำนวยและกว่าจะหยิบอุปกรณ์ที่เหมาะสมหมาในพวกนั้นคงวิ่งไปไกลแล้ว

"รีบกลับกันดีกว่าครับพี่ ถ้าเกิดเจ้าแงซายดื้อขึ้นมาอีก คงได้ตั้งแคมป์กันแถวนี้" ผมติดตลกกลบความกังวลใจ แม้จะไม่มีปัญหากับการตั้งแคมป์กลางป่าก็ยังคงเกรงใจสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งชอบเดินไปเดินมาใกล้ถนนในป่านี้อยู่ดี

"อย่างนี้จะเหมือนหมาในพวกนั้นที่ "โกย" หนีรถหรือเปล่า" ผมคิด


เกี่ยวกับผู้เขียน

"แต่เดิมเป็นเด็กบ้านนอกจากจั
งหวัดจันทบุรี ที่มีความมุ่งมันตั้งใจศึกษาต่อ ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากความสนใจส่วนตัวและการชักชวนจึงเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ จึงได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าหลากหลายประเภทในพื้นที่อนุรักษ์หลากหลายแห่งทั่วประเทศไทย หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กระนั้นก็ยังโหยหาและพยายามนำพาตัวเองเข้าป่าทุกครั้งที่โอกาสอำนวย"


พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น