xs
xsm
sm
md
lg

WWF ย้ำเตือนเรากินพลาสติกเท่าบัตรเครดิตทุกสัปดาห์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



WWF เตือนเรากินพลาสติกเท่าบัตรเครดิตทุกสัปดาห์โดยไม่รู้ตัว พบพลาสติกอยู่ในทุกอย่าง ทั้งน้ำ อาหารและอากาศที่หายใจ พร้อมรณรงค์ลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย หรือ WWF ประเทศไทย จัดงานรณรงค์กิจกรรม #กินอยู่ไม่รู้ตัว #YourPlasticDietCampaign เมื่อวันที่ 9 ม.ค.63 ณ สามย่าน โค-ออป Co-Learning Space

พิมพ์พาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WWF ประเทศไทย กล่าวว่า ใต้มหาสมุทรมีสิ่งมีชีวิตกว่า 99% ของโลกใบนี้อาศัยอยู่ มีวิวัฒนาการและเติบโต สร้างวงจรชีวิต ที่โยงใยถึงระบบห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดิน 50 ปีที่ผ่านมา หลังอุตสาหกรรมพลาสติกเติบโต ความสะดวกสบายของมนุษย์ก็เพิ่มขึ้น พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่เร่งรีบง่ายดาย และในความง่ายนั้นเราอาจจะไม่รู้ตัวว่า เราได้เบียดเบียนธรรมชาติมากขึ้น จากการทิ้งขยะพลาสติกที่มาจากความสะดวกสบายเหล่านี้ โดยปราศจากกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากพอ 

"8 ล้านตัน คือตัวเลขของขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลในแต่ละปี ซึ่งเทียบเท่ากับรถบรรทุกเต็มคัน เราทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลทุกๆ 1 อาทิตย์ และไม่ใช่ขยะทุกชนิดจะสามารถย่อยสลายได้ ขยะพลาสติกที่แตกตัวเป็นพลาสติกขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก ล่องลอยอยู่ในทะเล ปะปนเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล ซึ่งเราปฎิเสธไม่ได้ว่า ท้ายที่สุดมันจะโคจรมาสู่ระบบห่วงโซ่อาหารของมนุษย์  WWF ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการดูแลธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของขยะทะเล ที่กำลังสร้างผลกระทบทั้งในประเทศและระดับผู้บริโภค"

พิมพ์พาวดีกล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าขยะมากในอันดับต้นๆ ของเอเชีย และไม่มีมาตรการในการกำจัดหรือการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ขณะเดียวกัน ในฝั่งผู้บริโภค ก็ยังคงต้องปรับเปลี่ยนและสร้างทัศนคติในการลดการสร้างการทิ้งขยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียว หรือที่เราเรียกกันว่า single use plastic ซึ่งการรณรงค์ภายใต้โครงการ #กินอยู่ไม่รู้ตัว หรือ #YourPlasticDietCampaign มีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักรู้ผ่านงานวิจัยที่เปิดเผยปริมาณพลาสติกขนาดเล็กที่เข้าสู่ร่างกายของสิ่งมีชีวิต

"ท้ายที่สุดนี้ ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวันนี้คนไทยที่กำลังนับหนึ่งในปีใหม่ตามนโยบายของรัฐบาลในภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกจะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเริ่มต้นลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะรั่วไหลลงสู่ทะเลและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศรวมถึงสัตว์ทะเลในที่สุด”

ดวงกมล วงศ์วรจรรย์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรเพื่องานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทยกล่าวถึงที่มาของการรณรงค์กินอยู่ไม่รู้ตัวว่า จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (New Castle) ประเทศออสเตรเลีย พบว่าในแต่ละ 1 สัปดาห์มนุษย์บริโภคพลาสติกเป็นปริมาณเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นข่าววาฬนำร่องที่ตายจากการกินพลาสติก เป็นเรื่องที่จุดประเด็นทำให้ทั่วโลกหันมาตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก

"เราอาจจะสงสัยว่าการตายของสัตว์หนึ่งตัวเกี่ยวอะไรกับเราที่นั่งอยู่ในเมืองใหญ่ๆ แบบนี้ จริงๆ เรื่องของกวางในอุทยานบ้านเราที่กินพลาสติกจนตายไปหรือช้างที่ขับถ่ายออกมาแล้วเราได้เจอขยะพลาสติก WWF จึงทำงานวิจัยเพื่อที่จะหาคำตอบว่าจริงๆ แล้วพลาสติกที่มีอยู่ทุกวันนี้มันได้มีกระบวนการในการเข้าสู่ร่างกายมนุษย์มากน้อยแค่ไหน และมันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเราอย่างไร ซึ่ง WWF ประเทศไทย ก็ได้ให้ความสำคัญในการทำงานวิจัยร่วมกับบุคคลที่มีชื่อเสียง นักวิชาการ เพื่อที่จะเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ในสังคมในวงกว้างต่อไป"

"สิ่งที่เราเจอก็คือทุกวันนี้พลาสติกไม่ได้อยู่แค่ในทะเล แต่พลาสติกอยู่แม้กระทั่งในอากาศที่เราหายใจ น้ำที่เราดื่ม หรือในอาหารทะเล พลาสติกปนเปื้อนอยู่ทุกที่เป็นโมเลกุลเล็กๆ ปะปนลงสู่ท้องทะเล จากขยะที่เราทิ้งและไม่ได้รับการจัดเก็บที่ดีพอ ปะปนจากการที่เราใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไมโครพลาสติกขนาดเล็กโดยที่เราไม่รู้ตัว และไมโครพลาสติกเหล่านั้นไม่ได้ย่อยสลายไปไหนแต่เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเลที่เรากินและมันก็กลับเข้าสู่กระเพาะลำไส้ของเรานั่นเอง”

ภายในงานยังมีกิจกรรมสัมภาษณ์พิเศษ โดย วรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุจากโครงการ Chula Zero Waste โดยวรุณได้ให้สัมภาษณ์ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสังคมใหญ่ มีคนอยู่ 45,000 คน นักศึกษา 37,000 คน สร้างขยะอยู่ 2,000 ตันต่อปี ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกหรือขยะอาหาร (Food Waste) ซึ่งเป้าหมายของโครงการ Chula Zero Waste หลักๆ คือตั้งใจจะลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละปี

"ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ สิ่งที่เราได้ก็คือวิธีการจัดการขยะ เราเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลใน 4 เดือนแรก สุดท้ายเราได้ข้อมูลที่มั่นใจว่านี่คือตัวแทนของขยะในมหาวิทยาลัย ใน 3 ปีเราพบว่าขยะถุงพลาสติก แก้วกาแฟ ขวดน้ำ หลอด เยอะมาก หลังจากนั้นเราก็เริ่มโครงการที่จะจัดการแต่ละชนิด ข้อมูลเบื้องต้นบอกว่า จุฬาแจกถุงอยู่ 130,000 ใบต่อเดือน ในร้านสะดวกซื้อ ร้านสหกรณ์ ยังไม่รวมถึงตลาดนัด เราเริ่มต้นด้วยการรณรงค์ ผลคือขยะจากถุงพลาสติกเหลือ 90,000 ใบต่อเดือน หลังจากนั้นเราก็เชื่อว่าคนไทย "งก" เราจึงคิดมาตรการที่ว่า เราจะเก็บเงินทุกๆการแจกถุง 1 ครั้ง ครั้งละ 2 บาท จาก 130,000 ใบ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พอเริ่มรณรงค์ เหลือ 90,000 ใบ และพอเก็บเงิน เหลือ 10,000 ใบซึ่งลดลงไปเกือบ 90% ซึ่งส่วนใหญ่เด็กๆจะปรับตัวได้เร็ว สุดท้ายเราก็พบว่าความงกไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง"

ส่วน อวัช รัตนปิณฑะ ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากนาดาวบางกอก ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเขาใช้เวลาอยู่พอสมควรในการปรับตัว โดยเริ่มจริงจังได้ประมาณ 2 ปี เริ่มมาจากการที่เขาเป็นคนชอบทะเล ชอบดำน้ำ เขาจึงเริ่มซึมซับมาเรื่อยๆ เมื่อเขาลงไปดำน้ำแล้วเริ่มเจอกับขยะพลาสติกในทะเล ทำให้เปลี่ยนความรู้สึกเขาไปมาก จากความรู้สึกที่ว่าทะเลสวย วันนี้เหมือนมีสัญลักษณ์บางอย่างบอกเราว่าทะเลไม่เหมือนเดิมแล้ว

"เลยเป็นจุดที่ผมอยากเปลี่ยนตัวเอง เราเลยอยากเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่เรารัก มันถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ตัวเอง เริ่มง่ายๆ เป็นอย่างแรกเลยผมเป็นคนกินกาแฟทุกวัน เริ่มจากการพกแก้ว ตอนเช้าพกแก้วไปกินกาแฟ ตอนบ่ายกินน้ำ แล้วมันจะมีกลิ่นกาแฟติดมา ผมเลยเปลี่ยนเป็นพก 2 แก้วเลย แก้วนึงไว้กินกาแฟ แก้วนึงไว้กินน้ำ แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างเวลาอยากกินอาหารสตรีทฟู้ด เช่น หมูปิ้ง ซึ่ง 90% ของร้านเหล่านี้ใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งในตอนที่เราเริ่มทำนั้น มีความพยายามที่ต้องต่อสู้กับตัวเองว่า เราจะเอาชนะความมักง่ายของตัวเองได้ไหม เราจะเอาชนะความสบายของตัวเองได้ไหม คือเหมือนเราเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง เราต้องมีระเบียบในการทำสิ่งนั้น"

"ช่วงแรกๆ ถ้าผมลืมพกกล่องของตัวเองไป ผมก็จะหักดิบกับตัวเองโดยการไม่กินสิ่งนั้นไปเลย ผมคิดว่าพอเราเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองกับสิ่งที่อยู่กับเรามาทั้งชีวิตนั้นต้องอาศัยความอดทนและความพยายาม การเตือนสติตัวเองในทุกๆ ครั้ง ทำให้เราสามารถเปลี่ยน จากการที่เราอดทนว่าวันนี้เราไม่เตรียมตัวมาเราก็ไม่ควรที่จะได้รับสิ่งนั้น พอเราเริ่มทำแล้วคนรอบตัวมาเห็น เค้าก็จะเกิดความสงสัย ว่าทำไม สุดท้ายเราก็อธิบายให้เขาฟัง มันอาจจะไม่ได้ผลเลยทันที แต่มันจะกลายเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในสักวันหนึ่ง”

ด้าน นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข หรือ หมอตั้ม ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับในทางการแพทย์ โดยให้สัมภาษณ์ว่า ในปัจจุบันพลาสติกยังมีรายงานวิชาการในทางการแพทย์ค่อนข้างน้อย สารที่เราเจอแล้วมีผลกับร่างกายคือมีโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนในร่างกายเรา เมื่อเข้าไปอยู่ในเลือดร่างกายเราจะตรวจว่ามีฮอร์โมนเข้ามาเรื่อยๆ เกินกว่าปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ หากฮอร์โมนตัวนี้เป็นฮอร์โมนเพศ ในส่วนของผู้ชายคือฮอร์โมนตัวนี้คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง เมื่อรับเข้าไปในปริมาณมาก จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกับผู้หญิงคือมีเต้านมหรือการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมากผิดปกติ ในแง่ของผู้หญิงเมื่อมันรับฮอร์โมนเข้ามามากๆ ก็จะพบว่าอัตราการเป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้น

"การที่เราเจริญวัยก่อน หรือเป็นสาวเร็วขึ้น จริงๆ แล้วไม่ดีเลยเพราะทำให้วัยรุ่นสมัยนี้สามารถพบเจอกับโรคภัย เช่น โรคซิสต์ โรคมะเร็งปากมดลูกเร็วขึ้น และอย่างที่เราทราบกันว่า ไมโครพลาสติกมีในน้ำประปาเยอะ ในกุ้ง ในหอย ในปลาเยอะ ซึ่งสัตว์ทะเลพวกนี้กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร แพลงก์ตอนเหล่านี้ไม่สามารถแยกแยะไมโครพลาสติกออกจากอาหารที่กินได้ ซึ่งในปัจจุบันไมโครพลาสติกเหล่านี้ก็เข้าไปสะสมอยู่ในกระเพาะ ในลำไส้ของปลา ของกุ้งเยอะ แต่ในปัจจุบันเราก็ไม่สามารถเลี่ยงอาหารเหล่านี้ได้ เพราะเป็นอาหารที่มีแหล่งโปรตีนสูงและมีประโยชน์กว่าในสัตว์จำพวก เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ถ้าพูดถึงน้ำดื่มสิ่งที่เราทำได้คือบริโภคน้ำดื่มที่ผ่านการกรองที่มีมาตรฐาน มันจะมีเครื่องกรองที่สามารถกรองไมโครพลาสติกได้" หมอตั้มกล่าว

นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข หรือ หมอตั้ม ให้ความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับอันตรายจากการได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย

วรุณ วารัญญานนท์ เล่าถึงโครงการ Chula Zero Waste

อวัช รัตนปิณฑะ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ เล่าประสบการณ์ปรับเปลี่ยนเพื่อลดการใช้พลาสติก

ดวงกมล วงศ์วรจรรย์ เล่าถึงงานวิจัยที่พบว่าเรากินพลาสติกในปริมาณเท่าบัตรเครดิตโดยไม่รู้ตัว

พิมพ์พาวดี พหลโยธิน มอบของที่ระลึกให้อวัช รัตนปิณฑะ

พิมพ์พาวดี พหลโยธิน มอบของที่ระลึกให้หมอตั้ม




กำลังโหลดความคิดเห็น