โรคร้ายที่เรียกว่า เป็นแชมป์สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากที่สุดในวันนี้ คงไม่มีอะไรที่ร้ายไปกว่า “มะเร็ง” อีกแล้ว ขณะที่จำนวนของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งรายใหม่ในแต่ละปี มีแนวโน้มที่สูงและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นคณะกรรมการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 ปี 2562 จึงเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากหลายๆภาคส่วน โดยเฉพาะ “ชุมชน” ซึ่งเป็นหน่วยงานทางสังคมที่ใกล้ตัวที่สุด ในการสร้างพลังแห่งความรู้เท่าทัน และป้องกันโรคมะเร็งตั้งแต่ต้นทาง
จากสถานการณ์ภาพรวมของโรคมะเร็งในประเทศไทยวันนี้ พบว่า จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งในแต่ละปีมีอยู่ประมาณกว่า 100,000 คน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนที่พุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 70,000 – 80,000 คน ต่อปี แซงหน้าโรคหัวใจ และอุบัติเหตุ ซึ่ง นพ.อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร ประธานคณะทำงานระเบียบวาระ รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง เล่าถึงสถานการณ์ของโรคมะเร็งในวันนี้ว่า “สำหรับสาเหตุการเพิ่มขึ้น ของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยที่ ต่อเนื่องมากกว่า 20 ปีนั้น โดยรวมแล้วเกิดจากพฤติกรรม อาหารการกิน ความเครียด การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่ง ขณะที่ เรื่องสิ่งแวดล้อม สารเคมี มลพิษ ฝุ่นละออง ควันเป็นปัจจัยตามมา ส่วนประเด็นด้านพันธุกรรม คนในครอบครัวตกทอดกันมา เป็นเพียงปัจจัยร่วมเท่านั้น
กระนั้นก็ตาม โรคมะเร็ง ถือเป็นปัญหาระดับชาติที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไข หน่วยงานที่ทำเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการ หน่วยบริการทางการแพทย์ ซึ่งวันนี้ เรามีทั้งแผนป้องกันและควบคุมมะเร็งแห่งชาติเข้าสู่ฉบับที่ 3 และแผนพัฒนาระบบป้องกันสุขภาพ (Service Plan) โดยพยายามจัดระบบบริการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง ตั้งแต่ ควบคุม รณรงค์ คัดกรอง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ ซึ่งพบได้บ่อย และหากเจอก่อนอาจทำให้การรักษาหายขาดได้ นอกจากการดำเนินการข้างต้นแล้ว อีกสิ่งที่ต้องทำคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น สารเคมีทางการเกษตร ที่เรียกว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งต้องการนโยบายและความเข้มแข็งในการจัดการมาใช้ เช่น การยกเลิกสารเคมีอันตราย
ทว่า มะเร็งไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว จึงไม่ใช่แค่หน่วยงานเดียว ที่เข้ามาจัดการได้ จำเป็นต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน และนี่เองคือเหตุผลว่า ทำไม การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 นี้ ต้องมีการบรรจุระเบียบวาระ “รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” เข้ามาเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง โดยปีนี้ จะมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับปัญหามะเร็งของชุมชน ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนของภาครัฐ และภาควิชาการเข้ามาร่วมด้วย เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักเชื่อข่าวลือ เชื่อในสิ่งที่พูดปากต่อปากแบบไม่รู้ที่มาที่ไป ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการ ใช้พลังการรู้เท่าทันกัน รู้เท่าทันสื่อ ที่จะบอกได้ว่าใช่หรือไม่ เชื่อถือได้หรือไม่ และภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนช่วย ตอนนี้จึงต้องมีการรวมพลังชุมชนขึ้น เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อม มีการประชุมของชุมชน ให้ข้อมูลแบบเสียงตามสายที่ศาลาว่าการจังหวัด ตำบล ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอ อยู่ที่ว่า เขาจะหยิบประเด็นเหล่านั้นมาพูดกันเมื่อไร หรือแม้แต่เรื่องใกล้ตัวในระดับชุมชน สาเหตุของการเผาหญ้า การเกิดฝุ่นละออง เขาก็เข้าไปปราม ไปเตือน ในชุมชนของตนเองได้ แต่ในส่วนระดับประเทศ จะต้องมีการควบคุมในภาพใหญ่ อาทิ ถ้าหากมีหมอกหรือฝุ่นข้ามมาจากพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านต้องอาศัยพลังระดับประเทศ เข้ามาจัดการให้ได้ถึงที่สุด หรือแม้แต่การออกกฎหมายควบคุมการใช้สารเคมีที่ก่อมะเร็งต่างๆ”
อย่างไรก็ดี นพ.อุกฤษฏ์ ยังฝากให้คนไทยทุกคน “ช่วยกันดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงจากโรคมะเร็ง อาทิการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค รวมถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แต่หากเราเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เป็นผู้หญิงวัยกลางคน ควรมีการคัดกรอง มะเร็ง เต้านม ปากมดลูก ส่วนผู้ชายนั้น หากตรวจพบมะเร็ง ปอด ตับ ลำไส้ ในระยะแรก จะสามารถรักษาได้ทัน เพราะสมัยนี้มียาที่มีประสิทธิภาพอยู่มากสามารถรักษาให้หายขาดได้ ในขณะเดียวกัน ระบบสวัสดิการของประเทศไทยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ดีกว่าเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาดีๆได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ข้อมูลข่าวสารที่ไม่มีที่มาที่ไป ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ความเชื่อ รวมถึงเรื่องที่มีธุรกิจมาเกี่ยวข้อง ควรมีการวิเคราะห์ และตรวจสอบอย่างดีก่อน แต่หากเราเกิดเจ็บป่วยจริง อย่าคิดสั้น อย่าซึมเศร้า ต้องดูแลกันและกัน อย่างวันนี้ มีการรวมกลุ่มผู้ป่วยจิตอาสาในโรคเดียวกัน เช่น กลุ่มชมรมเพื่อนมะเร็งไทย กลุ่มมะเร็งลำไส้ กลุ่มมะเร็งเต้านม ซึ่งในกลุ่มจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีคุณหมอ พยาบาล คอยให้คำแนะนำ และมีเพื่อนที่เป็นโรคเดียวกันในกลุ่มที่พร้อมจะแนะนำและให้คำปรึกษา เพราะ จริงๆแล้วคนรอบข้างเป็นปัจจัยสำคัญโดยจะมีทั้งผู้หวังดี เอาข้อมูลที่ตัวเองเชื่อมาป้อน คิดว่าเป็นข้อมูลที่ดีที่สุด ทำให้คนไข้บางคนไม่ยอมเข้ารับการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ทำให้ผลสุดท้ายโรคได้ลุกลามจนเกินเยียวยา อีกประเภทคือพวกยัดเหยียด ต้องกินอะไร ห้ามกินอะไร ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกชีวิตอยู่ยาก จะอยู่ไปทำไม ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่มีคุณภาพชีวิต ทั้งที่สิ่งเหล่านั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าดีหรือไม่ หรือ เหมาะกับอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยหรือไม่ จริงๆแล้ว สิ่งที่ควรทำคือให้กำลังใจผู้ป่วย หรือพาเขาสู่กระบวนการรักษาอย่างถูกวิธี แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สบายใจในการรักษาหรืออยู่ใน ระยะที่ร้ายแรงแล้ว จะมีกระบวนการการดูแลแบบประคับประคองอยู่ ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถอยู่กับโรคได้อย่างเป็นสุข”
ทั้งนี้ สำหรับผู้สนใจที่ต้องการเข้ามาเรียนรู้กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และกิจกรรมอื่น ๆ สามารถร่วมงานได้ระหว่างวันที่ 18 – 20 ธันวาคม ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samatcha.org หรือโทร 02 832 9114