xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการหนุน “งดแจกถุงพลาสติก” แต่ ... คนละเรื่องกับ “เบลอภาพถุงพลาสติก”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



... รายงานพิเศษ

1 มกราคม 2563 เป็นวันดีเดย์ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ และห้างสรรพพสินค้าต่างๆ ออกมาตรการ “งดแจกถุงพลาสติก”

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ต้นเหตุของปัญหาไม่ใช่การงดใช้พลาสติกทุกประเภท แต่เรากำลังพูดถึง “ขยะพลาสติก” หรือ Single Use Plastic เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เท่านี้ก่อน เพราะไปสร้างปัญหาขยะมากมายรวมทั้งเป็นหนึ่งในขยะที่ลงสู่ท้องทะเล

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ... “งดแจกถุงพลาสติก” โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ มีทั้งกระแสการใช้ถุงผ้า กระแสประชันการนำภาชนะอื่นๆ ไปใส่สินค้า รวมทั้งกระแสวิจารณ์ที่มองว่าไม่ได้ผล และเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค ...

มาตรการนี้จะลด “ขยะพลาสติก” ได้จริงหรือไม่ มาฟังความเห็นผู้เชี่ยวชาญดู


“ถ้ากติกา คือ งดแจกถุงฟรี ยังไงก็ปรับพฤติกรรมได้” เป็นคำตอบที่แสดงความมั่นใจของ ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการ “Chula Zero Waste”

ดร.สุจิตรา บอกถึงเหตุผลที่เธอเชื่อว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนได้ เพราะมาตรการคล้ายกันนี้ ถูกนำมาทดลองใช้ที่จุฬาฯ มาแล้วและได้ผลดี คือ เมื่อผู้บริโภคลืมนำถุงผ้ามา ก็มีถุงพลาสติกจำหน่ายให้ไปก่อน ซึ่งเห็นว่าควรเป็นถุงพลาสติกอย่างหนาที่นำกลับมาใช้ได้อีก และเมื่อผู้บริโภครายเดิมที่เคยต้องจ่ายค่าถุงพลาสติกกลับมาซื้ออีก ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากต้องจ่ายเงินค่าถุงอีก ก็จะนำถุงผ้ามาเองในภายหลัง

แต่การจะลดขยะพลาสติกในระยะยาวให้เห็นผล ดร.สุจิตรา ย้ำว่า นี่เป็นเพียงมาตรการหนึ่งเท่านั้น รัฐต้องมีนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อลดขยะพลาสติกจากต้นทาง คือ ต้องทำควบคู่กันไปทั้งการลดขยะพลาสติก และการคัดแยกพลาสติกออกจากขยะทั่วไป ซึ่งถูกวิจารณ์มากว่า แยกได้ยาก เพราะในพลาสติกก็มีเศษอาหารหรือน้ำอยู่

และถึงประชาชนแยกไปก็ถูกรถเก็บขยะนำไปเทรวมกันอยู่ดี ซึ่งเธอมองว่า กรณีของการคัดแยก ก็ต้องให้ความรู้เพิ่มเติม อย่างแก้วกาแฟก็มีหลายประเภท และทางที่ดีที่สุด คือ นำแก้วไปเอง ส่วนปัญหาการนำขยะที่คัดแยกไปเทรวมกัน เกิดจากโครงสร้างการจัดการการเก็บขยะของท้องถิ่น ซึ่งรัฐต้องออกแบบให้เหมาะสม เช่น ในต่างประเทศ ก็มีกระบวนการเก็บขยะด้วยการแยกวันเก็บไปเลย ระหว่างขยะครัวเรือนกับขยะที่ถูกคัดแยกไว้

ประเด็นที่สำคัญในทางกฎหมายและนโยบาย ซึ่ง ดร.สุจิตรา มองว่า ต้องเร่งทำคือ รัฐต้องเร่งการเพิ่มภาษีนำเข้าขยะ และหันมาสนับสนุนกระบวนการคัดแยกขยะภายในประเทศแทน โดยเฉพาะกลุ่มซาเล้ง ที่แยกขยะได้มีประสิทธิภาพ แต่กำลังจะหมดไป เพราะโรงงานอุตสาหรรมซื้อขยะที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ

ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste ยกตัวอย่างว่า เมื่อรัฐรณรงค์ให้เปลี่ยนพฤติกรรมในฝั่งผู้บริโภคแล้ว รัฐต้องส่งเสริมหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตด้วย หรือที่เรียกว่า EPR (Extended Producer Responsibility) คือ หลักที่บังคับให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบจัดการสินค้าของตัวเองด้วย

ซึ่งถ้าผลิตสินค้าที่ยากต่อการรีไซเคิลออกมา และต้องรับผิดชอบ ก็จะกดดันให้ผู้ผลิตเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ไปเอง เช่น ขวด PET (Polyethylene Terephthalate) ที่บรรจุน้ำดื่มต่างๆก็ยังหุ้มด้วย PVC ซึ่งถ้าต้องกำจัดเอง ผู้ผลิตก็จะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


ด้าน “ดาวัลย์ จันทรหัสดี” เจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิบูรณะนิเวศ เห็นด้วยเช่นกันว่า มาตรการงดแจกถุงพลาสติก จะช่วยให้ลดปริมาณขยะพลาสติกลงไปได้จำนวนหนึ่ง และอาจช่วยปรับพฤติกรรมผู้บริโภคได้ แต่ในเวลาเดียวกัน รัฐก็ควรมีมาตการอื่นๆ ตามมาทั้งระบบ เช่น ต้องไปสนับสนุนให้การใช้บรรจุภัณฑ์อื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีราคาถูกลง และต้องไม่สนับสนุนให้มีโรงงานประเภทหล่อกหลอมพลาสติกเพิ่ม เพราะนำมาซึ่งการนำเข้าพลาสติกจากต่างประเทศ

“ปีที่แล้วทั้งปี รัฐปล่อยให้เปิดโรงงานประเภท 53 (หล่อหลอมพลาสติก) เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งโรงงานประเภทนี้ก็มีหลายรูปแบบ ทั้งการนำเข้าพลาสติกมาทำเป็นเม็ดพลาสติก การรีไซเคิลพลาสติกเป็นกระป๋อง ก็ใช้ความร้อนในแบบที่เรียกว่า “หนืด” คือ ไม่ใช้ความร้อนสูงในการเผาไหม้ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศมาก และโรงงานเหล่านี้เปิดใหม่เยอะมาก” ดาวัลย์ กล่าว

พลาสติกอีกประเภทถูกตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งไม่อยู่ในข่าย “เลิกแจก” แบบถุงหูหิ้ว เพราะไม่ได้จัดอยู่ในประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง นั่นคือ “กล่องใส่อาหารสำเร็จรูป” ที่ขายพร้อมการนำไปอุ่นร้อนก่อนจะรับประทานได้เลย ซึ่งดาวัลย์ มองว่า ในหลายพื้นที่มีขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นมาก เพราะพฤติกรรมการบริโภคที่ง่ายขึ้น เหมาะกับวิถีคนในปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าบรรจุภัณฑ์เหล่านี้จะล้างเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่มีคนที่ใช้แล้วนำไปล้างเก็บไว้ใช้ใหม่จริงน้อยมาก เพราะซื้อมาในรูปแบบอาหารสำเร็จรูป ซื้อใหม่ทุกวัน จนไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ ซึ่งรัฐอาจจะต้องหารือกับร้านสะดวกซื้อ เพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย


ปัญหาเรื่องกล่องใส่อาหารอุ่นร้อน ดร.สุจิตรา ให้ข้อมูลเพิ่มว่า เห็นด้วยว่าถูกนำไปใช้ใหม่จริงได้น้อย จึงแนะนำให้ผู้บริโภคที่จำเป็นต้องบริโภคอาหารในรูปแบบนี้ ช่วยล้างบรรจุภัณฑ์ละแยกขยะกลุ่มนี้ไว้ มีบางส่วนที่ขายได้ แต่แม้จะขายไม่ได้ ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมพลังงานได้ คือ ผลิตกระแสไฟฟ้า และใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์

สุดท้าย... รัฐให้สถานีโทรทัศน์ “เซ็นเซอร์ภาพถุงพลาสติก” ในทีวี ... ทั้งสองคน คิดว่ายังไง

ดาวัลย์ บอกว่า “มันตลก” ถ้าเราเห็นนักแสดงถือถุงพลาสติกมากแล้วถูกเบลอภาพ คงรู้สึกเหมือนถือศรีษะคนตายมามากกว่า รัฐควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในทางกฏหมายและนโยบายต่อผู้ผลิตด้วยมากกว่า

ส่วน ดร.สุจิตรา บอกว่า การเซ็นเซอร์ในทีวี “ไม่น่าจะมีประโยชน์เลย” ถ้าให้ดีควรส่งเสริมให้ตัวแสดงในสื่อต่างๆ เปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ถุงผ้าไปเลยจะดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น