xs
xsm
sm
md
lg

โหมโรงศักราชใหม่ “ผู้บริโภคไม่ใช้ถุงหูหิ้วพลาสติก” เหตุขยะพลาสติกในทะเลเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัฒนธรรมหิ้วถุงพลาสติก กำลังจะหมดไป
อย่างที่ทราบดี วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ทางห้างสรรพสินค้า-ร้านสะดวกซื้อและเครือข่ายสาขาทั่วไทยกว่า 50 แบรนด์ กำหนดเป็นวันดีเดย์ที่จะเริ่มต้นพร้อมกันเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค “โดยไม่ใส่สินค้าในถุงหูหิ้วพลาสติกให้กับลูกค้า”
แม้ยังพูดกันว่านี่เป็นวิธีการหักดิบที่ปลายน้ำ หลังจากที่ได้รณรงค์มาอย่างหนักตั้งแต่ต้นปี แต่ด้วยเหตุสำคัญปริมาณขยะพลาสติกในท้องทะเลไทยที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนทางนี้จึงเป็นเส้นทางลัดเพียงสายเดียวที่จะช่วยลดปริมาณได้

รถเข็นในห้าง ต่อไปจะไม่เห็นคนใช้ถุงหูหิ้วพลาสติกอีกแล้ว
โดยเฉพาะถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) ครองอันดับหนึ่งของขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเลติดต่อกันมาหลายปี และมีอัตราทวีเพิ่มขึ้นมากกว่า 460%
ในปี 2560 มี 11,578 ชิ้น ปี 2561 เพิ่มเป็น 70,940 ชิ้น ถึงแม้ในปีถัดมา (ปี 2562) ตัวเลขลดลงเหลือ 52,975 ชิ้น ซึ่งมีเหตุสำคัญจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนตามโรดแมปภาครัฐ ที่มีความชัดเจนจากนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกของประเทศ ปี 2561-2573 พร้อมออกมาสร้างกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องจนเกิดแรงกระเพื่อมให้ผู้บริโภคมีจิตสำนึก ตระหนัก และเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ทั้งเป็นบุคคล และองค์กร เพื่อลดใช้ขยะพลาสติก
ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาประมาณ 2 ปี คงได้เห็นถึงความตื่นตัวของภาคประชาชนจากการรณรงค์ของภาคเอกชนทั้งภายในองค์กร นอกองค์กร และด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่กระจายสื่อสารถึงกันอย่างรวดเร็ว จนทำให้พฤติกรรมงดใช้ถุงหูหิ้วพลาสติก พร้อมการนำถุงผ้า แก้วใช้ซ้ำ กล่องอาหาร ปิ่นโต กลายเป็นภาชนะติดตัวที่กำลังจะเป็นวัฒนธรรมของคนยุคใหม่ที่จะต้องทำเพื่อให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ในแต่ละปี ถุงหูหิ้วพลาสติก แก้วพลาสติก หลอดพลาสติกและกล่องโฟม ยังถูกตราหน้าจากในสังคมโซเชียลว่าเป็น “ตัวการก่ออันตรายต่อสัตว์น้ำในทะเลและระบบนิเวศ”

ปริมาณขยะพลาสติกในทะเล คือเหตุผลสำคัญในการเร่งรัดให้ผู้บริโภคร่วมลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า จากการออกมาตรการและแก้ปัญหาขยะทะเลและพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างจริงจังของรัฐบาล ควบคู่กับการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั่วประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถปรับอันดับประเทศที่มีขยะทะเลสูงสุดในโลกในอับดับ 6 ลงมาอยู่ที่อันดับ10 ได้สำเร็จ
“ไทยนับเป็นอีกประเทศที่มีความก้าวหน้าเรื่องการบริหารจัดการขยะอย่างเห็นผลและทำได้จริง โดยเฉพาะการยกระดับการแก้ปัญหาขยะทะเลอยู่ในระดับอาเซียนสำเร็จ ประกอบกับ สร้างการจิตสำนึกและการรับรู้การแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อนำขยะที่สามารถรีไซเคิลได้นำกลับมาใช้ใหม่หรือแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
เช่นเดียวกัน หากติดตามสถานการณ์การตื่นตัวของยักษ์ธุรกิจ ในรอบปี 2561-2562 คงจะเห็นความเคลื่อนไหวเพื่อจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น กลุ่มเอสซีจี ที่มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมพลาสติกเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โครงการนำร่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้กลับมาใช้ใหม่ ย่อยสลายได้ 100% พร้อมวางเป้าหมายยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในวันข้างหน้า ซึ่งแต่ละโครงการที่เปิดตัว สอดคล้องกับโรดแมป จัดการขยะพลาสติก 4 ประเภท ถุง-แก้ว-หลอดพลาสติก และกล่องโฟม ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้เพียงครั้งเดียวทิ้ง ต้องเลิกใช้ภายในปี 2565 และในปี 2570 การจัดขยะพลาสติกต้องเป็นศูนย์
ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล เกิดจากการอุปโภคบริโภค ทั้งบรรจุภัณฑ์อาหาร-ขวดพลาสติกเครื่องดื่ม จึงนับเป็นความท้าทายของบิ๊กธุรกิจห้าง-ร้านสะดวกซื้อที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับปัญหา ว่าจะสามารถช่วยขับเคลื่อนให้ปริมาณของขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลลดลงได้


การเปลี่ยนให้ผู้บริโภคที่เข้าไปจับจ่ายผลิตภัณฑ์สินค้าในห้าง-ร้านสะดวกซื้อโดยไม่ใช้ถุงหูหิ้วพลาสติกในวันนี้ จึงเป็นการโหมโรง ซึ่งจะส่งผลไปถึงวันข้างหน้าในการขยับขยายไปสู่ตลาดสด ร้านค้าย่อยทั่วไป จนบรรลุเป้าหมายเลิกใช้ขยะถุงหูหิ้วพลาสติกเด็ดขาดภายในปี 2564 และเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้ง 4 ประเภทดังกล่าว ภายในปี 2565


กำลังโหลดความคิดเห็น