เหลือเวลาอีกแค่เดือนเดียว จะถึง #ดีเดย์งดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว1ม.ค.2563 โดยทางภาคีเครือข่าย ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ 47 แห่ง ยืนยันพร้อมใจกันงดใส่ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งให้ฟรีๆ (ถุงพลาสติกหูหิ้ว หรือถุงก๊อบแก๊บให้กับลูกค้า)
ความพร้อมคนไทยงดแจกถุงพลาสติก
แม้ค้าปลีกหลายรายจะออกมาแสดงจุดยืนงดแจกถุงพลาสติกอย่างจริงจัง เปรียบเสมือนเป็นกฎเหล็กออกมาสร้างพฤติกรรมและจิตสำนึกคนไทยรักษ์สิ่งแวดล้อม
แต่ใกล้เวลาดีเดย์ก็ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ทราบ ยังคุ้นชินกับการไปซื้อแล้วแล้วต้องได้ถุงพลาสติก เพราะการใช้งานบางครั้งนำถุงพลาสติกดังกล่าวมาใส่ขยะต่อได้ และบางคนยังคุ้นชินกับความสะดวกสบายที่ค้าปลีกต้องมีบริการ
และคงมีคนอีกจำนวนไม่น้อย ไม่ยอมเสียเงินค่าถุงพลาสติก ไม่ว่าจะเป็น 2- 3 บาท เพื่อแลกการมีถุงพลาสติกหิ้วของกลับบ้าน ในขณะที่ค้าปลีกในต่างประเทศใช้แนวทางดังกล่าวมานานแล้ว สำหรับลูกค้าที่ต้องการถุง ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อถุงพลาสติก เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ
การมีถุงพลาสติกเป็นเหมือนบริการอย่างหนึ่งสำหรับธุรกิจค้าปลีกมอบให้กับลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย นั่นคือเหตุผลที่ค้าปลีกหลายราย ไม่ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนสำหรับการงดแจกถุงไปเลย
ในเมื่อครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ห้างร้านในภาคีเครือข่าย “งดใส่ถุงให้ฟรี” แต่ในเมื่อยังเป็นมาตรการขอความร่วมมือ เชื่อว่าแทบทุกห้าง ยังไม่กล้างัดไม้แข็งจนถึงขั้นไม่มีถุงพลาสติกให้ลูกค้า แต่จะเป็นการคิดค่าถุง และนำเงินที่ได้จากค่าถุงไปบริจาค ทำนองเดียวกับ 7-ELEVEN และเดอะมอลล์ ใช้อยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับมีข้อเสนอแนะให้ลูกค้าเตรียมถุงผ้ามาใช้แทน หรือภาชนะอื่นๆ มาใส่แทนถุงในครั้งต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาห้างร้านทั้งสองแห่งได้ผลลัพธ์ลดใช้ถุงหูหิ้วในปริมาณมากอย่างน่าพอใจ
คนกรุงเทพฯ ใช้ถุงหูหิ้วคนละ 8ใบต่อวัน
ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน ทำให้เกิดขยะพลาสติกใหม่ทุกวันมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน
คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ปริมาณขยะถุงพลาสติกหูหิ้วลดลง 45,000 ล้านใบต่อปี ส่งผลให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดลดลง 225,000 ตันต่อปี หน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ 340 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอยในการฝังกลบได้ประมาณ 616 ไร่
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคเอกชนร่วมกันรณรงค์ ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ ในช่วง 4 เดือนก่อนหยุดให้ถุงพลาสติกในพื้นที่กทม. และ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนผู้ประกอบการห้างอื่นๆ นอกเหนือจาก 47 ราย รวมทั้งร้านขายของชำและตลาดสด ให้กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชน ร่วมกันรณรงค์และประชาสัมพันธ์ และให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ร่วมกับภาคเอกชนในจังหวัด ร่วมประชาสัมพันธ์ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563
ขณะเดียวกันกรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็น ในลักษณะ road-show ทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการยก (ร่าง) พ.ร.บ.การจัดการขยะพลาสติก โดยกำหนดเป้าหมายให้ถุงพลาสติกหูหิ้วหมดไปจากท้องตลาด ในวันที่ 1 มกราคม 2564
ส่วนในรายงานจากกรีนพีซระบุว่า ทั่วโลกผลิตขยะพลาสติกประมาณ 6,300 ล้านตัน ในจำนวนนี้ถูกนำไปรีไซเคิลราว 9% เข้าโรงงานเผาขยะ 12% และหลงเหลือปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม 79% ถ้าแนวโน้มการผลิตและการจัดการขยะยังดำเนินต่อไปแบบปัจจุบัน คาดการณ์ว่าภายในปี 2593 ขยะพลาสติกประมาณ 12,000 ล้านตันจะยังคงหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม
ด้านประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน แบ่งเป็นถุงพลาสติก 80% หรือ 5,300 ตันต่อวัน หรือประมาณ 2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็นขยะโฟมประมาณ 700,000 ตัน ซึ่งต้องใช้เวลาย่อยสลายยาวนานถึง 450 ปี ที่น่าตกใจยังพบว่าขยะพลาสติก 50% กำจัดไม่ถูกวิธี ที่สำคัญหากใช้วิธีฝังกลบจะใช้พื้นที่มากกว่าขยะปกติถึง 3 เท่า หรือหากนำไปเผาทำลายจะทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมาก รวมทั้งมีสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากถุงพลาสติกทำจากเม็ดปิโตรเลียม ทำให้มีการปนเปื้อนของสารตกค้างในดินและน้ำ ส่งผลก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน