วช.ร่วมมือ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ร่วมมือการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจยั่งยืนบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมมือ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดตาก ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจยั่งยืนบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย หรือ LIMEC (Luangprabang-Indochina-MawlamyineEconomicCorridor) การบูรณาการเชื่อมโยงมิติการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยอาศัยฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้อย่างยั่งยืนอันสอดคล้องตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.62 ณ ห้องประชุมศิลาอาสน์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจยั่งยืน บนเส้นทาง LIMEC ร่วมกับ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดตาก การเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย (LIMEC) เป็นส่วนหนึ่งภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) และได้ประกาศปฏิญญาเพชรบูรณ์ ภายใต้เจตนารมณ์ “ความกินดี อยู่ดีของประชาชนใน 3 ประเทศ ซึ่งต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจกันและจะเติบโตไปด้วยกัน”
"ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมเชื่อมโยงและเสริมสร้างความเข้มแข็งมั่นคงอย่างยั่งยืนใน 5 ด้าน ได้แก่ การค้าและการลงทุน การท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม การศึกษา สุขภาพ และโลจิสติกส์ จึงได้เกิดความร่วมมือของจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่างร่วมกันบูรณาการแผนยุทธศาสตร์จังหวัด กำหนดเป็นแผนกิจกรรมบริหารจัดการโครงการวิจัยเพื่อสร้างเศรษฐกิจยั่งยืน และบูรณาการเชื่อมโยงมิติการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยอาศัยฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้อย่างยั่งยืนอันสอดคล้องตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ"
ดร.วิภารัตน์ กล่าวอธิบายต่อว่า บทบาทของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นหน่วยงานภาคการวิจัยและเป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่ในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ พร้อมกับสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สังคมมีความมั่นคงสงบสุข
ทั้งนี้ ในมิติการพัฒนาเชิงพื้นที่ได้เห็นความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ประชาชนในประเทศมีคุณภาพชีวิตมีอาชีพและมีรายได้ที่สูงขึ้นซึ่งตามกรอบนโยบายรัฐที่ให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย โดยในพื้นที่อินโดจีนหรือพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดตาก
"เพื่อการเชื่อมโยงสู่การพัฒนาชุมชนบนเส้นทาง LIMEC และเป็นกลไกการพัฒนาที่ยั่งยืน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงมีความพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง ภาคการวิจัย และภาคจังหวัด ในการดำเนินการพัฒนาเชิงพื้นที่บนพื้นฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาการพัฒนาและการยกระดับคุณภาพชีวิต ระดับพื้นที่ชุมชน ได้อย่างเป็นรูปธรรม"
ภาคการวิจัยและนักวิจัย โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมร่วมดำเนินการร่วมกับทั้ง 5 จังหวัด ในการขยายผลองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมไปยังพื้นที่บนเส้นทาง LIMEC ซึ่งภาคจังหวัดมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการพัฒนา สนับสนุนข้อมูล ขยายผล และนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ขับเคลื่อนให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน ให้มีความรู้เพิ่มขึ้น และสามารถที่จะนำความรู้เหล่านั้นไปพัฒนา และสร้างอาชีพให้แก่ครอบครัวและชุมชน ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีความยั่งยืน ในการร่วมมือการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจยั่งยืนบนเส้นทาง LIMEC