xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์” นำยุวชนอาสากาฬสินธุ์แก้ปัญหาการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแก้ยากจน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุวิทย์” นำยุวชนอาสากาฬสินธุ์แก้ปัญหาการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแก้ยากจน นำเทคโนฯ ช่วยเพิ่มผลผลิตจาก 120 กิโลกรัมต่อไร่เป็น 200 กิโลกรัมต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิตจาก 230 บาทเหลือเพียง 190 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มอัตราการรอดตายของลูกกุ้งจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 45 แถมเป็นต้นแบบให้อีก 3 หมู่บ้าน

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่โครงการยุวชนอาสา จ.กาฬสินธุ์ ดูโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการเพิ่มมูลค่าการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบบูรณาการในพื้นที่ บ้านโคกก่อง และ บ้านโพธิ์ชัย ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ซึ่งมีจำนวนคนจนตามตามระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) จำนวน 120 คน เพื่อแก้ปัญหาความยากจน

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ก่อนที่ชาวบ้านจะเริ่มโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการเพิ่มมูลค่าการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามฯ พบปัญหากุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงนำมาจำหน่ายในตลาดมีขนาดเล็ก น้ำหนัก 25 – 30 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งยังไม่เป็นที่พอใจของผู้บริโภค แถมมีราคาสูง ไม่แน่นอน การอนุบาลลูกกุ้งมีอัตราการรอดตายต่ำ ปัญหาสายพันธุ์ลูกกุ้งไม่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ไปจนถึงปัญหาคุณภาพน้ำจากเขื่อนลำปาว

ก่อนหน้านี้โครงการ “หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ของ อว. ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการผลิตกุ้งก้ามกรามร่วมกับชาวบ้าน จนกระทั่งได้ผลผลิตที่ดีขึ้น จากนั้นจึงต่อยอดโดยการนำนักศึกษาในโครงการยุวชนอาสาลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านพร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบพัฒนาที่ได้มาตรฐานเข้าไปใช้ตั้งแต่การเตรียมบ่อเลี้ยง การจัดหาลูกกุ้ง อาหารรวมทั้งการติดตั้งระบบเติมอากาศที่ประดิษฐ์จากนักศึกษาเข้าไปและนำเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์กุ้งก้ามกรามเพื่อเพิ่มมูลค่า การจัดทำระบบบัญชี

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า กุ้งก้ามกรามมีผลผลิตเพิ่มจาก 120 กิโลกรัมต่อไร่เป็น 200 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถลดต้นทุนการผลิตจาก 230 บาทต่อกิโลกรัมเหลือเพียง 190 บาทต่อกิโลกรัม รายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง สูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 สามารถเพิ่มอัตราการรอดตายของลูกพันธุ์กุ้งจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 45 ขนาดของกุ้งสม่ำเสมอ สามารถขายได้ทั้งบ่อพร้อมกัน ที่สำคัญสามารถเป็นต้นแบบให้กับหมู่บ้านอื่นๆ ได้อีกอย่างน้อย 3 หมู่บ้าน

ต่อมา ดร.สุวิทย์ เดินทางเยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกิดจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาความยากจนใน จ.กาฬสินธุ์ ที่สนับสนุนงบประมาณผ่านจากจังหวัดมายังมหาวิทยาลัย เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนและส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาผ้าทออย่างเป็นระบบโดยนักศึกษามีส่วนร่วมเรียนรู้ทุกขั้นตอน โดยนักศึกษาในโครงการยุวชนอาสา ได้มาร่วมกิจกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและร่วมเรียนรู้กับชาวบ้านทุกขั้นตอน ทั้งเทคนิคการทอดั้งเดิมและผลิตชิ้นงานรวมทั้งการเป็นผู้ช่วยวิทยากรในการให้ความรู้และการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ

“โครงการยุวชนอาสา อว.ส่งนักศึกษา 800 คนลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชาวบ้าน 1 ภาคการศึกษา จำนวน 83 โครงงาน ลงชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย 83 ตำบล ใน 15 อำเภอ จาก ทั้งหมด 18 อำเภอ ของจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งประสบปัญหาด้านความยากจน ความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมเฉลี่ยต่อคนต่อปีเพิ่มสูงขึ้น โดยค่าเป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และลดสัดส่วนคนจนลดลง มีค่าเป้าหมาย ลดลงร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยจะมุ่งพัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ยกระดับคุณภาพและรายได้ด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมการค้า การลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่มีความมั่นคงและสงบสุข” ดร.สุวิทย์ กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น