นอกจากแสงไฟประดับประดาเตรียมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนปีใหม่แล้ว “ต้นคริสต์มาส” ก็เป็นอีกไม้ประดับสร้างสีสันและบรรยากาศ ซึ่งแหล่งใหญ่ที่ปลูกต้นไม้สีเขียว-แดงนี้อยู่ที่ อ.ภูเรือ จ.เลย แต่ถึงแม้จะปลูกได้ดี เกษตรกรผู้เพาะปลูกเห็นว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงพันธุ์บ้างแล้ว เพราะต้นแม่พันธุ์ที่ใช้มีอายุถึง 30 ปีแล้ว
“ต้นคริสต์มาส” (poinesettia) ถือเป็นพืชเกษตรที่โดดเด่นของเกษตรกรใน อ.ภูเรือ จ.เลย จนมีการจัดงานเทศกาลต้นคริสต์มาสขึ้นทุกปี จนถึงปี พ.ศ.2562 นับเป็นครั้งที่ 8 แล้ว โดยการจัดงานล่าสุดฝ่ายจัดงานได้รับซื้อต้นคริสต์มาสจากเกษตรกรมาประดับประดามากถึง 20,000 ต้น
นางเสถียร ธัญญารักษ์ เกษตรกรชาวภูเรือผู้ปลูกต้นคริสต์มาสจำหน่าย กล่าวว่า อ.ภูเรือเป็นแหล่งปลูกต้นคริสต์มาสแหล่งใหญ่ของประเทศ โดยมีพื้นที่ปลูกมากถึง 284 ไร่ โดยเมื่อก่อนปลูกเป็นอาชีพเสริม แต่กลายเป็นรายได้หลัก เพราะสร้างรายได้มากกว่าอาชีพหลัก ส่วนหนึ่งเพราะตั้งราคาเองได้ ต้นพันธุ์ไม่แพง และสามารถปักชำได้ แต่มีช่วงเวลาจำหน่ายที่จำกัดเพียง 2 เดือน และต้องจำหน่ายให้หมดก่อนวันที่ 25 ธ.ค.
ทว่าแม้ต้นทุนการปลูกจะไม่สูง และต้นคริสต์มาสค่อนข้างทนต่อโรคในพื้นที่อ.ภูเรือ แต่นางเสถียรเผยว่า อยากได้พันธุ์ต้นคริสต์มาสใหม่ๆ และอยากให้มีการปรับปรุงพันธุ์ทุกๆ 5 ปี เพราะต้นแม่ที่ใช้ปักชำนั้นมีอายุกว่า 30 ปีแล้ว โดยได้ฝากโจทย์ไปยัง ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) เพื่อให้นักวิจัย วว.ช่วยปรับปรุงพันธุ์ต้นคริสต์มาส เช่น ปรับปรุงให้ทนต่อโรค หรือปรับปรุงให้มีสีหรือลักษณะใหม่
ดร.ชุติมายังเผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงบทบาทของ วว. ในการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ผ่านโครงการการพัฒนาเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Innovative Agriculture: InnoAgri) ไปส่งเสริมและพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ รวมทั้งสร้างกลุ่มเกษตรกรไฮเทค (InnoAgri farmer) และสร้างชุมชนต้นแบบ 13 กลุ่มในพื้นที่ จ.เลย ที่สามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะกับยุคสมัย ไปใช้ลดต้นทุนและสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ช่วยลดต้นทุนผลิต เพิ่มมูลค่าไม้ดอกไม้ประดับ และเป็นต้นแบบในการนำเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปใช้จริง
ด้าน ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสรร้งสรรค์ วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการ InnoAgri ระบุว่า วว.ได้นำงานวิจัยไปถ่ายทอด
แก่เกษตรกรในพื้นที่ จ.เลย 6 ด้าน คือ 1.การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตต้นกล้าพันธุ์ 2.การดอกไม้เป็นของจวัญ เพื่อการใช้ประโยชน์ไม้ดอกไม้ประดับในท้องถิ่น 3.การแปรูปและพัฒนาดอกไม้จากพันธุ์ไม้ที่มีการปลูกเลี้ยง เช่น กาแฟ ดาวเรือง 4.การทำภาชนะปลูกจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น ดินเหนียว ฟางข้าว และกก 5.การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีระดับครัวเรือน และการป้องกันโรคและแมลง
วว.ยังได้ร่วมพัฒนากลุ่มเกษตรไม้ดอกไม้ประดับ 13 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงเบญจมาศ 4 กลุ่ม โดยส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเบญจมาศที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการวิจัยของ วว. ที่มีจุดเด่นของพันธุ์ในด้านดอกสวย สีสด ทรงพุ่งสวย กลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงลิเซียนทัส หรือกุหลาบเวียดนาม ที่ไร้หนามและไร้กลิ่น 2 กลุ่ม กลุ่มผู้เลี้ยงเยอบีร่า 1 กลุ่ม กลุ่มผู้รับการพัฒนาระบบการขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 1 กลุ่ม กลุ่มผู้รับการพัฒนาการแปรรูปชาจากดอกไม้ 3 กลุ่ม และกลุ่มผู้รับการพัฒนาภาชนะปลูกจากธรรมชาติ 2 กลุ่ม