“ข้าวโพดหวาน” ที่เราคุ้นเคยนั้นมีสีเหลืองสวยงาม และด้วยรสชาติที่หวาน มีคุณค่าทางทางโภชนาการ ทำให้เป็นข้าวโพดที่นิยมปลูกและนำมารับประทานมากที่สุดในบรรดาข้าวโพดชนิดต่างๆ แต่มีน้อยคนนั้นที่จะรู้ว่านอกจากสีเหลืองแล้ว ยังมี “ข้าวโพดหวานสีแดง” อีกด้วย
ข้าวโพดหวานสีแดงดังกล่าวมีชื่อว่า “ราชินีทับทิมสยาม” และเป็นข้าวโพดหวานสีแดงพันธุ์แรกของโลก ที่มีเมล็ดสีแดงเหมือนทับทิมตามชื่อ อีกทั้งยังมีรสหวานที่อร่อย ไม่แพ้ข้าวโพดหวานชนิดอื่นๆโดยเป็นผลงาน ของ ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำวิจัยในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวาน
ดร.ทวีศักดิ์กล่าวถึงความเป็นในการวิจัยข้าวโพดหวานว่า เมื่อก่อนนั้นข้าวโพดหวานของไทยไม่เป็นที่นิยมรับประทาน เนื่องจากมีเนื้อที่เหนียวและรสหวานน้อยมาก ส่งออกต่างประเทศไม่ได้เพราะชาวต่างชาติไม่นิยมบริโภค จึงนำไปผลิตเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้อย่างเดียว
ดร.ทวีศักดิ์ได้วิจัยเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว จนได้ข้าวโพดหวานพันธุ์เอทีเอส 2 (ATS2) และเป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไปและชาวต่างชาติว่า มีรสหวานสามารถรับประทานได้ และกลายเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ข้าวโพดหวานที่เกษตรกรใช้เพราะปลูก และส่งผลผลิตออกจากจำหน่ายต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าในการส่งออกถึงปีละ 7,000 ล้านบาท และหลังจากปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานจนเป็นที่ยอมรับ ก็ได้พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์จนเกิดพันธุ์ข้าวโพดหวานสีแดงนี้
"ผู้คนในแวดวงการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโพดคิดว่าไม่มีใครสามารถทำได้ แต่ก็เป็นไปได้ ด้วยการตัดต่อยีน ซึ่งแต่เดิมข้าวโพดหวานจะมียีนควบคุมความหวาน 2 ยีน ที่มีความเชื่อมโยงกัน ทำให้พันธุกรรมข้างโพดหวานไม่สามารถสร้างสารแอนโธไซยานิน ที่ทำให้เกิดสีแดงในชั้นของเปลือกเมล็ดได้ แต่ด้วยความรู้งานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ประกอบเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น จึงสามารถแยกการเชื่อมโยงของยีนควบคุมความหวานออกจากกันได้ ทำให้ข้าวโพดสามารถสร้างสารแอนโธไซยานินได้สำเร็จ จนได้ข้าวโพดหวานมีสีแดงสวยเหมือนทับทิม และได้ตั้งชื่อว่า “ราชินีทับทิมสยาม” ดร.ทวีศักดิ์กล่าว
“ข้าวโพดหวานสีแดง กับข้าวโพดข้าวเหนียวสีแดง นั้นคือคนละชนิดกันทำให้หลายคนมักจะเข้าใจผิดและเกิดการสับสน ซึ่งเป็นคนละชนิด และข้าวโพดข้าวเหนียวก็มีเมล็ดสีแดงหรือสีม่วงที่ไม่สม่ำเสมอ ต้องนำไปทำให้สุกก่อนรับประทาน ส่วนข้าวโพดหวานสีแดงสามารถรับประทานสดได้เลย อีกทั้งสารแอนโธไซยานิน ที่เป็นสีแดงในชั้นของเปลือกเมล็ดข้าวโพดยังเป็นที่รู้จักกันดีในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงทำให้ข้าวโพดหวานสีแดงราชินีทับทิมสยาม กลายเป็นที่นิยมในการบริโภคเพื่อสุขภาพอีกด้วย” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวเสริม
ดร.ทวีศักดิ์กล่าวอีกว่า การปลูกข้าวโพดหวานนั้นง่ายมาก จนมีคำกล่าวว่า “หากปลูกข้าวโพดหวานไม่ได้ ก็ปลูกได้อย่างเดียวคือถั่วงอก” โดยวิธีปลูกนั้นเพียงเตรียมดิน และนำเมล็ดข้าวโพดหยอดลงหลุมที่เตรียมไว้ จากนั้นก็ดูแลรักษา รอเก็บเกี่ยวผลผลิต และยังเป็นพืชที่ไม่มีโรครุนแรง สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่สามารถปลูกได้เพียงแค่ปีละครั้ง ซึ่งในภูมิภาคเอเชียไทยส่งออกข้าวโพดหวานเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยอันดับ 1 คือประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้วยการวิจัยปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดหวาน จนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้ผลงานวิจัยการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดหวาน ของ ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีเด่น 60 ปี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จากทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีนักวิจัยเก่ง ที่สามารถต่อยอดให้เกษตรกรไทย สร้างผลผลิตสู่ตลาดโลกได้