xs
xsm
sm
md
lg

นำเข้าถั่วเหลือง ดีจริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นำเข้าถั่วเหลือง ปีที่ผ่านมา นำเข้าประมาณ 2.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 37 พันล้านบาท เป็นความท้าทายของภาครัฐ ถ้าห่วงสุขภาพประชาชนจริง ก็ควรแบนสินค้าเกษตรทุกชนิด และแบนสินค้าจากต่างประเทศที่ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด
 
รศ.ดร.พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช  และพืชอุตสาหกรรมน้ำมัน เปิดเผยว่า จากประเด็นร้อนเรื่องการนำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐ และเกี่ยวเนื่องกับถั่วเหลือง  เราต้องรู้ความจริงว่าการเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศ มีความจำเป็นสูงในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของไทย แต่เนื้อที่การเพาะปลูกและผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง ต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยว ที่สำคัญราคาถั่วเหลืองต่ำกว่าพืชชนิดอื่น โดยราคาถั่วเหลืองสกัดน้ำมัน ระหว่างวันที่ 18-24 ตุลาคม 2562 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 18.50 บาท ขณะที่ราคาในตลาดต่างประเทศ ถั่วเหลือง เฉลี่ยกิโลกรัมละ 10.45 บาท ดังนั้น การนำเข้าจากต่างประเทศจึงเป็นทางออกสำหรับการนำใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทย อาทิ กลุ่มสกัดน้ำมัน กลุ่มอาหารสัตว์ และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร โดยประเทศหลักที่นำเข้า ได้แก่ ประเทศบราซิล สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และแคนาดา โดยในปีที่ผ่านมา นำเข้าประมาณ 2.7 ล้านตัน (2,722,968.052 ตัน) คิดเป็นมูลค่า 37 พันล้านบาท (37,324,843,835 บาท)
 
การนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ เป็นไปตามกฎกติกาของการค้าเสรี (Free Trade) ขององค์กรการค้าโลก (WTO) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 ตามนโยบายการนำเข้าถั่วเหลืองของกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบัน ไม่คิดอัตราภาษีนำเข้า และไม่จำกัดปริมาณ โดยถั่วเหลืองที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและอาร์เจนตินา เป็นถั่วเหลือง GMOs แบบ 100% นำมาแปรรูปเป็นเต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง ซีอิ้ว เต้าเจียว และกากถั่วเหลืองนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เป็นต้น
 
ถั่วเหลืองที่นำเข้าเป็นการดัดแปลงพันธุกรรมให้มีความสามารถในการต้านทานสารกำจัดวัชพืช ไกลโฟเซต เนื่องจากในการกำจัดวัชพืชของถั่วเหลืองนั้น จำเป็นต้องใช้ไกลโฟเซต วัชพืชขึ้นแก่งแย่งแข่งขัน รุนแรง และ ยากต่อการกำจัดด้วยวิธีถอนหรือใช้เครื่องจักร หรือใช้สารกำจัดวัชพืชชนิดอื่น แต่ด้วยคุณสมบัติของไกลโฟเซตที่พืชทั่วไป ประเภทไม่เลือกทำลาย ดังนั้นเมื่อพืชปลูกดูดซึมไปแล้วจะถูกยับยั้งการเจริญเติบโต  จึงได้มีการดัดแปลงพันธุกรรมในถั่วเหลืองให้ต้านทานไกลโฟเซต ทำให้ถั่วเหลืองนั้น สามารถเติบโตต่อไปได้แม้ได้รับสารไกลโฟเซตไปแล้วก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาวัชพืชต้านทานไกลโฟเซต จึงต้องมีการใช้สารพาราควอต เพื่อปราบวัชพืชดื้อยา และมีการใช้พาราควอต ทำให้ใบถั่วเหลืองร่วงจึงจะเก็บเกี่ยวได้ ที่เลือกใช้พาราควอตช่วงเก็บเกี่ยวเพราะไม่ใช้สารดูดซึม ที่จะสะสมเข้าไปในเมล็ดถั่วเหลือง
 
สำหรับประเทศไทย กำลังจะยกเลิกสารไกลโฟเซต และพาราควอต ไม่ให้เกษตรกรในประเทศใช้ ด้วยวาทะกรรมของกลุ่มคนที่มีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชนคนไทย แต่ ประเทศไทยก็ยังอนุญาตให้นำเข้าถั่วเหลือง และสินค้าที่มีการใช้สารทั้งสองดังกล่าว แบบนี้ก็เท่ากับว่าสินค้าที่นำเข้าจากหลายๆ ประเทศที่ยังมีการใช้ไกลโฟเซต และพาราควอต ก็นำเข้าได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องสุขภาพของประชาชนใช่หรือไม่  นี่คือสิ่งที่เราควรหันกลับมาอยู่ในความจริงที่ต้องหาทางออกที่ดีกว่าการแบน และห้ามเกษตรกรในประเทศใช้
 
สาระสำคัญของเรื่องไม่ใช่สหรัฐจะมีมาตรการอย่างไร แต่ประเด็นสำคัญคือไทยกำลังจะสูญเสียศักยภาพในการส่งออกสินค้าหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลทราย ข้าวโพดหวานกระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และมันเส้น จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในแง่ผลกระทบที่ไม่ให้เกษตรกรใช้ ผลกระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การผลิตเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้ง ข้อเท็จจริงด้านความปลอดภัยของสารกำจัดวัชพืช ไกลโฟเซต และพาราควอต ในระดับสากล แม้ประเทศไทยจะแบนไป แต่อุตสาหกรรมเกษตรระดับโลกในหลายประเทศยังคงใช้สารดังกล่าวอยู่.
กำลังโหลดความคิดเห็น