ทรู ดิจิทัล ผุดหมู่บ้านเทคโนโลยี (Tech Village) นำเสนอ IoT โซลูชัน จับ 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ประเดิมด้วยภาคการเกษตรในการนำ IoT เข้าไปศึกษาพฤติกรรมในสถานปศุสัตว์ เพื่อต่อยอดให้เกิดการสร้างรายได้ เชื่อปีหน้าธุรกิจ IoT จะเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสู่การคอนเวอร์เจนซ์มากขึ้น
นายเอกราช ปัญจวีณิน กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจไอโอทีและดิจิทัลโซลูชัน บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาด IoT ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2020 คือจะได้เห็นการนำ IoT ไปใช้งานในรูปแบบของการคอนเวอร์เจนซ์มากขึ้น ด้วยการนำ IoT ไปใช้งานร่วมกับโซลูชัน เพื่อต่อยอดจากเทคโนโลยีต่างๆ
“ปีหน้าถือเป็นปีที่ IoT จะเกิดการรีฟอร์มใหม่ จากเดิมที่ตลาด IoT เติบโตในส่วนของอุปกรณ์ จะกลายมาเป็นการเติบโตในรูปแบบของอีโคซิสเตมส์มากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีอย่าง AI Blockchain มาช่วยนำข้อมูลไปวิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลผ่านโครงข่ายต่างๆ”
ตอนนี้ ทรู ดิจิทัล อยู่ในจุดที่ดีที่สุดในตลาดในการเป็นผู้ให้บริการ IoT เพื่อทำคอนเวอร์เจนซ์ ด้วยการนำบริการภายในกลุ่มทรูมาเสริม เพื่อต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการเข้าไปร่วมกับพันธมิตรที่เป็นผู้นำทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมานำโซลูชันมาให้บริการ
สำหรับ วิสัยทัศน์หลักของ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป คือ “Digital is a Core” หรือมุ่งเน้นดิจิทัลเป็นแกนหลักในการพัฒนาธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ด้วยการนำเสนอ หมู่บ้านเทคโนโลยี (Tech Village) เพื่อรวบรวม IoT และ การนำเสนอดิจิทัลโซลูชันในรูปแบบต่างๆ ตามแต่ละอุตสาหกรรม
เบื้องต้น Tech Village จะมุ่งเน้นไปยัง 7 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร (Agriculture), การค้าปลีก (Retail), การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain), อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing), อสังหาริมทรัพย์ (Property), การสาธารณสุข (Healthcare) และกลุ่มผู้บริโภค (Consumer) ด้วยการนำโครงข่ายและเทคโนโลยี IoT, Analytics, AI และ Blockchain มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน
“ทั้งนี้ ภายใน Tech Village ของทรู ดิจิทัล จะมีทั้งการนำเทคโนโลยีที่คิดคิดและพัฒนาขึ้นจากภายในองค์กร รวมถึงการเข้าไปเป็นพันธมิตรกับผู้นำในตลาด ที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ในการเข้ามาร่วมลงทุนให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล ในลักษณะของพันธมิตระยะยาว”
โดยรูปแบบการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และโซลูชันต่างๆ จะเน้นให้บริการในรูปแบบของแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้งานได้แบบออนดีมานด์ ที่จะช่วยควบคุมค่าใช้จ่าย และประหยัดเงินลงทุนตามขนาดของธุรกิจ
เริ่มจากในอุตสาหกรรมการเกษตร ด้วยการเข้าไปร่วมกับทาง ออลเฟล็กซ์ (AllFlex) ผู้พัฒนาระบบบริหารจัดการฟาร์มปศุสัตว์ ในการนำโซลูชันติดตามพฤติกรรมปศุสัตว์มาใช้งานในประเทศไทย เริ่มจากฟาร์มโค ด้วยการร่วมกับทาง ซีพีเอฟ เพื่อนำร่องโซลูชันดังกล่าวไปใช้งาน
การนำโซลูชันมาช่วยศึกษาพฤติกรรมของสัตว์จะช่วยให้เจ้าของฟาร์มสามารถวางแผนกระบวนการผลิตนมโค ควบคุมคุณภาพ และกำลังการผลิตเพื่อช่วยให้สามารถแข่งขันได้สูงขึ้น และต่อยอดไปยังการขยายฟาร์มให้รองรับกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น
“สิ่งที่ทรู ดิจิทัล อยากเห็นคือ การนำเทคโนโลยีที่เราสร้างไปต่อยอด เพื่อที่คนไทยจะได้นำเทคโนโลยีไปช่วยเพื่อก่อให้เกิดรายได้ต่อไป ซึ่งปัจจุบันคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้เกิดการนำเทคโนโลยีไปใช้งานในทุกภาคส่วน”
นอกจากนี้ ในปีหน้าทรู ดิจิทัล จะเริ่มนำเสนอโซลูชันให้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มุ่งเน้นอย่างธุรกิจค้าปลีก ที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยปรับปรุงให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีขึ้น ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพที่ผู้บริโภคในปัจจุบันเริ่มให้วามใส่ใจมากขึ้น ในการรักษาสุขภาพให้ดีไม่ต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล เป็นต้น