13 ธันวาคม 2562 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจ“การพัฒนาความสามารถของหน่วยตรวจสอบและรับรอง”ระหว่างภาคการศึกษากับกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และนวัตกรรมด้วย NQI” (Driving BCG Economy and Innovation with NQI) ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง“โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยสู่เชิงพาณิชย์” จัดโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ชึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย หน่วยงานภาคการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 300 คน ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure) หรือ NQI เป็นระบบที่มีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแข่งขันด้วยคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น ยอมรับสินค้า การช่วยยกระดับการผลิต ลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย การส่งออกเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาอุปสรรคทางการค้า ผลักดันให้เกิดการเจริญเติบโตของความสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
ดร.สุวิทย์ฯ ปาฐกถาพิเศษ เน้นย้ำว่าปัจจุบันรัฐบาลกำลังผลักดันการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio – Circular- Green Economy โดยเตรียมจะประกาศให้ปี 2020 เป็นปี BCG Economy ปีแห่งเศรษฐกิจยั่งยืน ขับเคลื่อนความมั่งคั่งทั่วไทย เศรษฐกิจ BCG นั้นมีความพิเศษต่อประเทศไทยซึ่งมีความหลากหลายทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ตอบโจทย์ใน 6 มิติ คือ ต่อยอด เชื่อมโยง ตอบโจทย์ ครอบคลุม กระจาย และสานพลัง โดยเศรษฐกิจ BCG ประกอบด้วย 4 ตัวขับเคลื่อน ได้แก่ ด้านการพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ ด้านการเตรียมกำลังคน ด้านผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการการพัฒนาเชิงพื้นที่ และด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า 4 ตัวสนับสนุน ได้แก่ ด้านปลดล็อคข้อกำจัดทางกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการสร้างความสามารถของกำลังคน และด้านยกระดับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งการทำงานของกระทรวงจะเป็นการทำงานในรูปแบบจตุภาค (quadruple helix) ที่มีมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเป็นแกนหลักของกระทรวง อว.ดำเนินงานร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคชุมชน รวมทั้งพันธมิตรจากต่างประเทศ การที่ไทยจะพัฒนาได้ทันโลกในศตวรรษที่ 21 นื้จะต้องทำการพลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศจากทำมากได้น้อยไปสู่ทำน้อยได้มาก เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งจะเร่งให้ไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนา
วศ.ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จึงมีภารกิจสำคัญที่จะต้องดำเนินการทั้งการพัฒนา NQI ที่เกี่ยวข้องด้านมาตรฐานเดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งบูรณาการร่วมมือเพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานด้าน NQI ที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญจะต้องพัฒนาไปสู่งาน NQI เพื่อเตรียมรองรับนวัตกรรรมใหม่ๆ ในอนาคต
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานให้บริการตรวจสอบรับรองสินค้าและบริการ ตลอดจนดำเนินการวิจัยพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ออกสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการในภาคการผลิตและบริการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการนำระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพมาใช้ในการยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐาน จึงได้จัดสัมมนาฯนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ ในการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรม ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็น ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ เพื่อนำมาเป็นแนวทางสำหรับการวางแผน กำหนดนโยบายในการพัฒนาความร่วมมือร่วมกันในการนำระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ มาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืนต่อไป