จากความต้องการทรัพยากรเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับทรัพยากรที่เหลืออยู่น้อยและใกล้จะหมดไป ทำให้นานาประเทศและหลายองค์กรเร่งให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเดิม (Linear Economy) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากร-ผลิต-ทิ้ง (Take- Make-Dispose) เริ่มถูกแทนที่ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มากขึ้น
จากข้อมูลเผยแพร่ของสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อธิบายว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนหมายถึงระบบอุตสาหกรรมที่วางแผนและออกแบบมาเพื่อคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่าง ๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ แทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค ซึ่งประเทศที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ เยอรมนี ญี่ปุ่นและจีน โดยภายใต้หลักการเศรษฐกิจนี้วัสดุที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์จะถูกหมุนเวียนและสร้างคุณค่าใหม่เป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่เหลือเป็นของเสีย
เศรษฐกิจหมุนเวียนจะให้ความสำคัญในการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในกระบวนการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากของเสียและมลพิษทั้งในกระบวนการของสินค้าและบริการ ซึ่งมีตัวอย่างภาคธุรกิจในประเทศพัฒนาแล้วที่นำแนวคิดของเศรษฐกิจใหม่นี้มาใช้ อย่างผู้ผลิตสินค้าทางด้านกีฬารายใหญ่บางรายได้กำหนดให้วัตถุดิบของเสื้อผ้าและรองเท้าต้องใช้วัสดุรีไซเคิล 71% และเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงจากเศษวัสดุเหลือใช้ในโรงงาน หรือผู้ผลิตรองเท้ากีฬาบางรายได้ผลิตรองเท้ารุ่นพิเศษจากขยะและตาข่ายจับปลาในทะเล
นอกจากนี้เศรษฐกิจหมุนเวียนยังเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน
จากหลักการเศรษฐกิจหมุนนี้ กลุ่ม ปตท. ได้นำมาปรับใช้อย่างเห็นได้ชัดในการจัดการพลาสติก โดยบริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือเพื่อดำเนินงานภายใต้หลักการ Plastic Circular Economy มุ่งส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
จากความร่วมมือดังกล่าวได้ส่งเสริมการคัดแยกขยะพลาสติกในพื้นที่อาคารสำนักงานกลุ่ม ปตท. ตลอดจนผลักดันให้เกิดโครงการนำร่อง การนำพลาสติกรีไซเคิลชนิด PET และ PE จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มาเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในกิจกรรมของพนักงาน หรือกิจกรรมกลุ่ม ปตท.
การดำเนินงานงานภายใต้หลักการ Plastic Circular Economy ของกลุ่ม ปตท. นี้ ริเริ่มโดยโครงการบริหารการสร้างประโยชน์ร่วมธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น (PRISM) ที่ทำโครงการนำร่อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ โดยต่อยอดจากโครงการ “PTT Touch Green” ซึ่งเป็นโครงการภายใน ที่รณรงค์ให้พนักงานปฏิบัติในพื้นที่ต่างๆ คัดแยกขวดพลาสติก PET และนำมาส่งทุกวันพุธสิ้นเดือน การดำเนินโครงการนำร่องนี้ มีระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่มีนาคม – มิถุนายน 2562
ขวดพลาสติกที่ได้จากพนักงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ ของ ปตท. ได้แก่ ปตท. สำนักงานใหญ่ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก สำนักงานพระโขนง และสถาบันนวัตกรรม ปตท. นำมาผลิตเป็นเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล ด้วยวิธีสร้างมูลค่าให้พลาสติก (Plastic Upcycling) โดยนำขวดพลาสติก PET ไปบดเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นปั่นให้เป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และนำไปทอเป็นผืนผ้า พร้อมแปรรูปเป็นสินค้าหลากหลายดีไซน์
จากการดำเนินโครงการ สามารถรวบรวมขวดพลาสติก PET ได้จำนวน 1,600 กิโลกรัม คิดเป็นการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHG) ได้ถึง 1,390.40 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (คำนวณโดยวิธี LESS) ซึ่งขวดพลาสติก PET ที่รวบรวมได้ถูกนำมาผลิตเป็นกระเป๋าผ้าที่ผลิตจากเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล โดยขวดพลาสติกจำนวน 9 ใบ สามารถนำมาผลิตเป็นกระเป๋าผ้าได้ 1 ใบ และ ปตท. ได้ผลิตกระเป๋าผ้าที่ผลิตจากเส้นใยพลาสติกรีไซเคิลทั้งสิ้นจำนวน 1,000 ใบ เพื่อมอบให้แก่มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยในการออกแบบกระเป๋าผ้า โดยได้รับเกียรติจากนักแสดงสาวสวย คุณหยาดทิพย์ ราชปาล หนึ่งในผู้สนับสนุนของมูลนิธิฯ ออกแบบลวดลายลงบนกระเป๋า โดยผู้ร่วมสมทบทุนโครงการมื้อเช้าเพื่อน้องท้องอิ่ม ของมูลนิธิฯ จำนวน 20 มื้อ จะได้รับกระเป๋าผ้าเป็นของที่ระลึก ทั้งนี้ สามารถร่วมสมทบทุนกระเป๋าผ้าได้ที่ Email : info@worldvision.or.th / Line : @worldvision-thai โดยระบุว่า โครงการ PTT Plastic Circular Economy