วันนี้ (10 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (COP25) ระดับผู้นำ เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ธ.ค.62 ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสเปน โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุมกว่า 197 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มองค์กรเพื่อการป้องกันและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าร่วม คาดว่ามีผู้ร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 29,000 คน ทั้งนี้ การประชุมระดับผู้นำประเทศจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 11 ธ.ค.62 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่ของประเทศรัฐภาคีระหว่างวันที่ 2-9 ธ.ค.62 เพื่อเจรจาหาข้อสรุปก่อนเสนอระดับผู้นำให้ความเห็นชอบ ต่อไป
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผย ณ สถานที่จัดประชุม COP25 ราชอาณาจักรสเปน ว่า การประชุมครั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส่ิงแวดล้อม (รมว.ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวว่า "ประเทศไทยในฐานะประเทศรัฐภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้แสดงจุดยืนและท่าที่ประเทศไทยในการร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานไว้ในยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี อีกทั้ง ยังมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่รับผิดชอบเรื่องการคำนวณค่าคาร์บอนเดรดิต และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานกลางในการประสานงานภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการครอบคุมในทุกมิติ อันเป็นแนวทางสำคัญในการจัดการก๊าซเรือนกระจกของโลก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 14 ในปี 2017 ในภาคพลังงานและภาคขนส่ง ซึ่งเป็น 2 เท่าของที่ NAMA กำหนด และช่วงหลังปี 2020 ประเทศไทยจะเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของระบบการบริหารจัดการด้านการปรับตัวและการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายข้อตกลงปารีส
"นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและยุทธศาสตร์การพัฒนาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว อีกทั้งได้ดำเนินการเพื่อปรับปรุงด้านงบประมาณในการให้การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนผ่านกองทุนสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ยังมุ่งเชื่อมโยงไปยังมิติอื่น ๆ เช่น การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการลดสารมลภาวะอากาศที่มีอายุสั้น และขยะทะเลด้วย อนึ่ง ตนได้ประกาศต่อประเทศสมาชิกว่า ประเทศไทยไม่เคยเหน็ดเหนื่อยในการแสดงบทบาทของกลุ่มประเทศอาเซียนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการรับรอง ความร่วมมืออาเซียนต่อ United Nations Climate Action Summit และ การประชุม COP25 ในครั้งนี้ สิ่งที่ได้ ประกาศให้ทั่วโลกได้รับทราบ ประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่มประเทศอาเซียนในปี 2562 ได้ตกลงในการลดการใช้พลังงานของกลุ่มประเทศอาเซียนได้ลดลงกว่าร้อยละ 21.9 โดยเปรียบเทียบกับช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา สุดท้าย ได้กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยจะยังคงเดินหน้าร่วมกับกลุ่มประเทศรัฐภาคีในการป้องกันสภาพภูมิอากาศเพื่อโลกของเราและคนในยุคต่อไป"
ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวในฐานะรองหัวหน้าคณะผู้แทนไทยว่า นอกจากตนแล้ว ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เลขาธิการสำนักงาน นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นายสุรชัย อจลบุญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมภาคเอกชน ตลอดจนมหาวิทยาลัยเดินทางเข้าร่วมประชุม พร้อมจัดนิทรรศการและการประชุมข้างเคียงในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ หลายประเทศได้พยายามแสดงจุดยืนและท่าที่ของประเทศในการป้องกันและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ได้หารือถึงหลักการคิดคำนวณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมหาข้อสรุปเป้าหมายและแนวทางการป้องกันและการปรับตัวต่อการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ตนในฐานะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำแนวนโยบายของรัฐบาลและท่านรัฐมนตรีมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ให้หน่วยงานและจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้สามารถดำเนินการให้บรรลุต่อเป้าหมายของประเทศและข้อตกลงร่วมกันของประเทศรัฐภาคีกำหนดไว้
“การป้องกันและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ หรือของโลกจะต้องอาศัย ความร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างจริงจัง การผลิตก๊าซเรือนกระจกมาจากกิจกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ก๊าซเรือนกระจกเกิดการสะสมมาเป็นระยะเวลานานจนสร้างผล กระทบมากมายผ่านปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เราเห็นไม่เว้นแต่ละวัน ผลจากการกระทำของมนุษย์กำลังย้อนกลับมาทำร้ายพวกเราเอง ดังนั้น การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศจึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกคน เมื่อทุกคนเป็นต้นเหตุสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ทุกคนก็ควรร่วมกันแก้ไขเช่นกัน” นายจตุพร กล่าวทิ้งท้าย