เยอรมันเดินหน้าช่วยไทยทำโครงการสู้และปรับตัวรับโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สนับสนุนทุน 690 ล้านบาทภายในระยะเวลา 4 ปี พัฒนาโครงการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย เปิดตัวโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมันด้านเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Thai-German Climate Programme) เมื่อค่ำวันที่ 23 เม.ย.61 ณ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย
ฯพณฯ เพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่าเยอรมันมีความร่วมมือและสนับสนุนทางด้านวิชาการและการเงินแก่ไทยมา 60 ปีแล้ว และปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยโตเร็ว ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทยต้องสนับสนุนนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ แสดงเจตจำนงว่าจะร่วมกับพันธมิตรลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อรับมือในการหาแหล่งพลังงาน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์
ด้าน สเตฟาน คอนเทียส กรรมาธิการวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยจากปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐ เยอรมนี กล่าวเสริมว่า ไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญในแผนการป้องกันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับสากลตั้งแต่ พ.ศ.2552 ซึ่งเยอรมันได้ให้การสนับสนุนไทยทำโครงการ 13 โครงการ เป็นเงิน 1,900 ล้านบาท เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และเพื่อสร้างความสามารถในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและการอนุรักษ์ผืนป่า
ด้าน ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า GIZ สนับสนุนไทยอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานป้องกันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งกระทรวงทรัพฯ จะนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับนโยบายระดับชาติ เพราะไทยตั้งเป้าลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความตกลงปารีส และ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และแผนการปรับตัวรับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 2564-2573 ซึ่งตั้งเป้าว่าก่อน พ.ศ.2573 ไทยจะลดการปลดปล่อยให้เหลือ 20-25% ของปัจจุบัน
ส่วน ทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่าแผนความช่วยเหลือด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่สนับสนุนนี้ จะมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสาขาพลังงาน การจัดการน้ำ การจัดการขยะและการเกษตร รวมถึงเชื่อมโยงการดำเนินงานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับจังหวัด ท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาระบบตรวจวัดและรายงานผล และการทวนสอบที่เหมาะสม
"โครงการนี้กระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ เยอรมนีสนับสนุน 690 ล้านบาทเพื่อการดำเนินงานในระยะ 4 ปี ระหว่าง พ.ศ.2561-2564 โดยจะดึงรัฐ เอกชนและภาคสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม" นายมาเลอร์กล่าว
ในส่วนของไทยนั้นมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมการข้าว เข้าร่วมในความร่วมมือครั้งนี้