เพชรบุรี - อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในท้องถิ่น พร้อมปล่อยปู 1 แสนตัว ปลากะพงขาว 2 หมื่นตัว และกุ้งแชบ๊วยทะเล 1 ล้าน 1 แสนตัว ลงทะเลเมืองเพชรบุรี
วันนี้ (23 มี.ค.) นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ ผู้อำนวยการอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรและศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ นายชัชนันท์ ตระกูลอยู่สบาย หัวหน้ากลุ่มภูมิทัศน์และอาคารสถานที่ กล่าวเปิดการประชุมให้ความรู้ผู้นำชุมชน และท้องถิ่นเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในท้องถิ่น พร้อมปล่อยกุ้งขาว 1 ล้านตัว ปลากะพง 2 หมื่นตัว ปูม้า 1 แสนตัว ณ ธนาคารปูม้า ชุมชนหาดเจ้าฯ-แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี พร้อมด้วยผู้นำชุมชนในพื้นที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ตัวแทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หัวหน้ากลุ่มงาน และเจ้าหน้าที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
สืบเนื่องจากปัจจุบันเกิดการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลกเป็นจำนวนมากทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ปริมาณน้ำทะเลสูงขึ้น ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง เกิดภัยแล้ง และภาวะน้ำท่วม เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่า ไม่มีต้นไม้ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตตามชายฝั่งทะเลที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพลดลง จึงทำให้เกิดความไม่สมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลก
อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้เล็งเห็นความสำคัญ และตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการนักอนุรักษ์สองมือหนึ่งใจคืนชีวิตสู่ธรรมชาติ รับผิดชอบโดยกลุ่มงานภูมิทัศน์และอาคารสถานที่ และกลุ่มพัฒนารายได้และบริการ เพื่อให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำประจำท้องถิ่นให้แก่ชุมชนในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ เพื่อสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม เกิดความตระหนักรู้ร่วมกันถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์น้ำกับวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อภาวะความมั่นคงทางอาหารของโลก
สำหรับอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมด้านการขนฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการอนุรักษ์พลังงาน ตามแนวพระราชดำริระดับสากลสร้างสรรค์นวัตกรรมเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
โดยมีเครือข่ายการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทั้งใน และต่างประเทศ ในโครงการนักอนุรักษ์สองมือหนึ่งใจคืนสู่ธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำประจำท้องถิ่น ในพื้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติให้เป็นต้นแบบ ตัวอย่างของการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำประจำท้องถิ่น ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์ และสร้างเครือข่ายชุมชนโดยกำหนดการกิจกรรมสัมมนาภายใต้หัวข้อ การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำประจำท้องถิ่น