ซีพีเอฟกำหนดนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกขั้นตอนการผลิต โดยเน้นบริหารจัดการการใช้น้ำช่วยลดปริมาณการใช้น้ำต่อตันผลผลิตราว 5 ลบ.ม./ตัน
นายจารุบุตร เกิดอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และพลังงาน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ โดยได้กำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน เพื่อให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นหลักและแนวทางในการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำของทุกหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยด้วยเครื่องมือระดับสากล Global Water Tools ของ WBCSD รวมทั้งการประเมิน Water footprint ในระดับหน่วยงาน เพื่อพิจารณาความเสี่ยงด้านการขาดแคลนน้ำที่อาจกระทบต่อชุมชนโดยรอบและการดำเนินธุรกิจ เพื่อนำไปสู่กิจกรรมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการดำเนินงานมาตรฐานการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน (CPF SHE&En Standard)
นอกจากนี้ ได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ อาทิ การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ด้วยการนำระบบลมเย็น (Air Chill) มาใช้แทนการใช้น้ำเย็น (Water Chill) เพื่อลดอุณหภูมิไก่ ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำลงประมาณ 15% จากการผลิตเดิม และการปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยการลดการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยผลผลิต และเพิ่มสัดส่วนการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ในการเลี้ยงใหม่ นับเป็นส่วนสำคัญของการลดการนำน้ำมาใช้ของซีพีเอฟ ทำให้ในปี 2560 ซีพีเอฟสามารถลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อตันผลผลิตจาก 25.17ลูกบาศก์เมตรต่อตันในปีที่ผ่านมาลงเหลือ 20.71 ลูกบาศก์เมตรต่อตัน และมีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (Recycled water) สูงถึงประมาณ 13% ของปริมาณน้ำที่ดึงมาใช้ทั้งหมด
ทั้งนี้ ซีพีเอฟร่วมสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) และได้กำหนดเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นลดการใช้ทรัพยากรต่อตันผลผลิตลงเทียบกับปี 2558 ครอบคลุมการลดปริมาณการใช้พลังงาน 5% ลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ 10% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5% และลดปริมาณของเสียฝังกลบ 30% ซึ่งทุกหน่วยงานในซีพีเอฟต้องร่วมมือกำกับดูแล ควบคุมการดำเนินงาน รวมถึงดำเนินโครงการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Operational Eco-efficiency) เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดภายในปี 2563
องค์การสหประชาชาติเล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ทวีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1992 สมัชชาสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันน้ำของโลก” หรือ “World Day for Water” เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ