xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2561

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online กรมคุ้มครองสิทธิฯ จับมือ ภาครัฐ และ เอกชน จัดประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2561 ขานรับนโยบายรัฐบาเพื่อการตื่นตัวของประชาคม ระหว่างประเทศในการสร้างมาตรฐานระหว่างประเทศ

วันนี้ (19 มี.ค.) เวลา 09.30 น. ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธานการเปิดประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ. 2561 ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง, ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก ประเทศไทย บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด และมูลนิธิมานุษย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้แทนจากรัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หลักการสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบาย การบริหารความเสี่ยง และกลไกการจัดการข้อร้องเรียนของหน่วยงานต่างๆ

น.ส.ปิติกาญจน์กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นได้ว่านานาประเทศมีการแข่งขันกันพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ภายในประเทศ ซึ่งผลจากการขยายตัวจากเศรษฐกิจก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ในเชิงบวก การพัฒนาทางเศรษฐกิจย่อมทำให้เกิดรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่การเจริญเติบทางเศรษฐกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิด้านแรงงาน สิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“จากสถานการณ์ข้างต้นนำมาสู่การตื่นตัวของประชาคมระหว่างประเทศในการสร้างมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจขึ้น ตามกรอบงานขององค์การสหประชาชาติในการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยา ในปี พ.ศ. 2554 เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ หน้าที่ของรัฐ และความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการประกอบธุรกิจ”

น.ส.ปิติกาญจน์กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยนั้นมีสถิติข้อร้องเรียนของสำนักงานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ผ่านมาพบว่า ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการโดยภาคธุรกิจได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง โดยภาคธุรกิจก็มีความพยายามที่จะใช้มาตรการเพื่อตอบโต้ จัดการ และยับยั้งการร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งรัฐบาลมีความตระหนักถึงปัญหานี้ และพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว โดยได้ตอบรับข้อเสนอแนะของประเทศสวีเดนจากเวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามกลไก UPR (Universal Periodic Review) และให้คำมั่นโดยสมัครใจว่าจะกำหนดให้ประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล พร้อมมอบหมายให้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง กำหนดให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญภายใต้วาระแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่หลักการสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยจัดโครงการและกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหลักการและสาระสำคัญ ของหลักการสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น