xs
xsm
sm
md
lg

“ก่อน BNK48” ชวนคนไทยเลิกตีตรา “เอชไอวี” ย้ำใช้ชีวิตร่วมกันได้ บังคับตรวจเชื้อก่อนทำงานละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ก่อน BNK48” ร่วมรณรงค์ยุติตีตรา “ผู้ติดเชื้อเอชไอวี” ชี้โรคไม่ได้น่ากลัว สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ การติดเชื้อต่อกันไม่ใช่เรื่องง่าย ย้ำ บังคับตรวจเชื้อก่อนเข้าเรียน - ทำงานละเมิดสิทธิ กรมควบคุมโรค เผย สังคมยังตีตราอยู่ถึง 58% ด้านอนุฯ คุ้มครองสิทธิเอดส์ เผยเอกชนเข้าใจมากขึ้น แต่ไม่กล้าประกาศต่อสาธารณะว่ารับผู้ติดเชื้อ หวั่นกระแสสังคมโจมตี แนะต้องเปลี่ยนความคิดสังคม

วันนี้ (28 ก.พ.) ที่โรมแรมทีเคพาเลซ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จัดงานแถลงข่าว “หยุดบังคับตรวจเอชไอวี ลบหรือบวกไม่สำคัญ ทำงานได้” โดยมี น.ส.วฑูศิริ ภูวปัญญาศิริ หรือ น้องก่อน สมาชิกวง BNK48 ซึ่งเคยได้รับเสียงชื่นชมจากการออกมาโพสต์ให้กำลังใจผู้ติดเชื้อเอชไอวี ว่า สมาชิกวง BNK48 ยินดีจับมือในงานจับมือ และไม่ได้กังวลกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้มาร่วมรณรงค์ยุติการเลือกปฏิบัติด้วย โดยการทำท่าผีเสื้อแสดงสัญลักษณ์

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 1 มี.ค. ของทุกปี เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ แต่ปัญหาการเลือกปฏิบัติยังคงมีอยู่ ซึ่งจากการสำรวจทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี/เอดส์ปี 2557 พบว่า ร้อยละ 58 มีเจตคติรังเกียจผู้มีเชื้อเอชไอวี และจากระบบเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี ปี 2559 พบว่า กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง เคยประสบเหตุการณ์การถูกรังเกียจ กีดกันในสถานที่ทำงาน/สถานศึกษา ร้อยละ 13 และ 19 ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้จากการร้องเรียนที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคม โดยเฉพาะการบังคับตรวจเลือดก่อนรับเข้าทำงานหรือมีนโยบายตรวจเลือดพนักงาน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์การตีตราและเลือกปฏิบัติในระบบบริการสุขภาพ ปี 2560 พบว่า บุคลากรผู้ให้บริการ ร้อยละ 21 ยังคงมีพฤติกรรมการให้บริการที่แสดงการรังเกียจ และเลือกปฏิบัติต่อผู้มีเชื้อเอชไอวี ขณะที่ผู้มีเชื้อเอชไอวีร้อยละ 11 มีประสบการณ์การถูกรังเกียจ เลือกปฏิบัติในการให้บริการในสถานพยาบาล ปัจจุบันประเทศไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560 - 2573 คือ “ร่วมยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2573 ที่คำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ” โดยตั้งเป้าหมายลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกิน 1,000 รายต่อปี ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่เกิน 4,000 รายต่อปี และลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะ โดยร้อยละของประชาชนที่มีเจตคติรังเกียจผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือไม่เกินร้อยละ 5.8

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า มาตรการหลักที่สำคัญในการยุติการเลือกปฏิบัติ คือ 1. มาตรการในเชิงการป้องกันการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจเรื่องการตีตราและการเลือกปฏิบัติในทุกระดับทุกหน่วยของสังคม เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับเอดส์ และ 2. มาตรการในเชิงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือมีการร้องเรียนการละเมิดสิทธิเกี่ยวกับเอดส์ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการสนับสนุนจากกลไกเชิงนโยบาย

น.ส.วฑูศิริ ภูวปัญญาสิริ หรือ น้องก่อน สมาชิกวง BNK48 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มีแฟนคลับท่านหนึ่งโพสต์ในโซเชียลฯ ระบุว่า รู้สึกไม่ดีที่ต้องมาจับมือกับพวกเรา เนื่องจากป่วยเป็นเอชไอวี ซึ่งเมื่อได้เห็นโพสต์ก็รู้สึกไม่ดีที่เขาคิดแบบนั้น เนื่องจากการติดเชื้อไม่ได้ติดง่ายๆ และไม่อยากให้ทุกคนกลัว จึงขอเป็นตัวแทนวงที่ต้องจับมือกับแฟนๆ ทุกคนว่า เราทุกคนไม่ได้กังวลกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเราขอเป็นกำลังใจให้สู้ต่อไป และตัวก่อนเองก็ได้เขียนข้อความนั้นขึ้นมาว่า รู้สึกอย่างไรกับผู้ป่วยเอชไอวี ซึ่งปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ ในการดูแลรักษา ในการป้องกันการติดเชื้อ ดังนั้น เชื้อเอชไอวีจึงไม่ได้น่ากลัว ส่วนเรื่องการบังคับตรวจเชื้อเอชไอวีก่อนเข้าเรียนหรือทำงาน ตนมองว่าเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิ เป็นการตีตรา ซึ่งอย่างที่บอกว่าผู้ติดเชื้อก็เป็นเหมือนคนปกติที่ใช้ชีวิตร่วมกับเราได้ และการติดเชื้อก็ไม่ได้ติดกันง่าย อยากให้ทุกคนคิดว่าการที่เราเลือกปฏิบัติหรือตีตราคนอื่นนั้นเขาจะรู้สึกอย่างไร อยากให้คำนึงถึงจิตใจของคนอื่นด้วย

“เมื่อก่อนหนูก็เคยมีความคิดเหมือนคนอื่นทั่วไป ที่ถูกสังคมไซโคว่าเราไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่จากการเรียนวิชาสุขศึกษา คุณครูได้มาเปิดมุมมองใหม่ให้แก่หนูและเพื่อนๆ ว่า จริงๆ แล้วเอชไอวีไม่ได้น่ากลัว เพราะครูเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนแก่พวกเรา ซึ่งครูเขาก็มีเพื่อนสนิทที่เป็นผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้เหมือนอย่างคนปกติ ทั้งนี้ หนูในฐานะศิลปินขอร่วมรณรงค์และเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนเข้าใจว่าเชื้อเอชไอวีไม่ได้น่ากลัว และร่วมยุติการตีตราผู้ติดเชื้อต่อไป” น.ส.วฑูศิริ กล่าว

ด้าน น.ส.จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้แทนคณะอนุกรรมการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ไม่ใช่โรคที่ทำร้ายผู้ติดเชื้อ แต่เป็นโลกที่ทำร้ายเขา การที่ผู้ติดเชื้อรู้สึกเช่นนี้ สะท้อนว่า ปัจจุบันสิ่งที่เป็นปัญหาไม่ใช่ความเจ็บป่วย แต่เป็นการใช้ชีวิตในสังคม ชุมชน ไปสมัครงาน ไปเรียน ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียนไม่ให้เข้าทำงาน หรือบางคนแม้จะผ่านโปรพอก็ยังถูกบังคับให้ไปตรวจ หากตรวจเจอก็ไม่ผ่านงานอีก เรื่องเหล่านี้มีการร้องเรียนกันแบบรายวัน สะท้อนว่าคนยังไม่เข้าใจปัญหาเอดส์อยู่มาก ทั้งนี้ มองว่าการยุติปัญหาการตีตราต้องเปลี่ยนมุมมองคนเราด้วยกันก่อน ไม่ใช่แค่ สธ. อย่างเดียว แต่ทุกกระทรวง กรม ต้องเป็นตัวอย่างในการไม่เลือกปฏิบัติ อย่างการสื่อสารในครั้งนี้ คือ ลบบวกไม่สำคัญ ทำงานได้ ก็ต้องพูดสื่อสารออกไปเหมือนๆ กันในทุกหน่วยงานรัฐ และที่ต้องดำเนินการต่อก็คือสถานประกอบการ ที่ผ่านมาเมื่อเกิดการร้องเรียนก็พบว่าสุดท้ายจะมีสถานประกอบการที่เข้าใจเรื่องนี้ และยินดีรับผู้ติดเชื้อเข้าทำงาน แต่เมื่อถามว่าพร้อมประกาศตัวหรือไม่ว่ายินดีรับผู้ติดเชื้อไม่เลือกปฏิบัติก็ไม่กล้าประกาศต่อสาธารณะ เพราะยังกังวลต่อกรอบความคิดของสังคม ที่ยังตีตราอยู่ กังวลว่าเขาจะไม่มาใช้ซื้อสินค้ารับบริการ ดังนั้น หากทำให้สถานประกอบการกล้าประกาศต่อสาธารณะ เลิกกลัวต่อการตีตรา และเปลี่ยนความคิดของสังคมได้ก็ไม่ใช่เรื่องยากในการยุติการตีตรา ซึ่งขอย้ำว่าการยุติการตีตราเท่ากับยุติปัญหาเอดส์





กำลังโหลดความคิดเห็น