เครือข่าย People Go ยื่นคำร้อง กสม.สอบ จนท.รัฐคุกคามชาวบ้านร่วมกิจกรรม “we walk เดินมิตรภาพ” ตามเช็กถึงบ้าน จี้หยุดพฤติกรรม พรุ่งนี้เดินสายทวงถามหน่วยที่เกี่ยวข้องต่อ
วันนี้ (19 ก.พ.) เครือข่ายประชาชน people go network นำโดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม และคณะ เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผ่านนางอังคณา นีละไพจิตร กสม. ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวของกับกิจกรรม we walk เดินมิตรภาพ และหามาตราการประสานงาน เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นายนิมิตร์กล่าวว่า ในระหว่างการจัดกิจกรรมเดินมิตรภาพจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ไปยังจังหวัดขอนแก่น พบว่าจะมีตำรวจ ทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาติดตามการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และแสดงท่าทีในการที่จะขัดขวาง คุกคามชาวบ้านที่ร่วมกิจกรรม แม้ต่อมาศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมาก็ยังพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการคุกคามประชาชน มีการถ่ายรูปทะเบียนรถแล้วนำไปหาที่อยู่เพื่อตามไปที่บ้าน และพูดกับคนในครอบครัวในลักษณะว่าไปร่วมกิจกรรมทำไม กิจกรรมดังกล่าวผิดกฎหมาย ขัดคำสั่ง คสช. ผู้ปกครองนักศึกษาบางรายที่มาร่วมชุมนุมถูกตำหนิว่าสนับสนุนให้ลูกมากระทำความผิด อีกทั้งยังมีการไปพบกับ ผอ.ของโรงพยาบาลของกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มาร่วมกิจกรรม สอบถามว่าผู้ที่ร่วมกิจกรรมพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือไม่ ทำให้ผู้ติดเชื้ออื่นๆ เกิดความไม่สบายใจ จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง ทั้งที่ในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำสั่งคุ้มครองไว้แล้ว ดังนั้นจึงอยาก
ให้ กสม.เข้าไปตรวจสอบและเบื้องต้นช่วยประสานเจ้าหน้าที่ให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าวในทันที รวมทั้งขอเรียกร้องให้รัฐยุติการคุกคาม ติดตามชาวบ้านที่เข้าร่วมกิจกรรม หากเจ้าหน้าที่เป็นว่าการกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายก็ขอให้มาติดตามทางแกนนำ
ด้านนายดิเรก พรหมเงิน ตัวแทนเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ชาวบ้านได้จัดกิจกรรมในพื้นที่เพื่อที่จะผลักดันร่างฯกฎหมายเกี่ยวที่ดินทำกิน 4 ฉบับ และเป็นการให้กำลังใจกลุ่ม we walk แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาบอกกับชาวบ้านที่กำลังทำกิจกรรม ว่าขัดคำสั่ง คสช. และไม่ได้มีการแจ้งการทำกิจกรรมล่วงหน้า เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้มาให้การคุ้มครอง ก่อนที่จะทั้งหมดไปแจ้งชื่อกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งในตอนแรกชาวบ้านไม่ยอมไป วันรุ่งขึ้นก็ให้ผู้ใหญ่บ้านมาแจ้งใหไปเมื่อชาวบ้าน 10 คนไปแจ้งชื่อก็กลับถูกควบคุมตัวแล้วแจ้งความดำเนินคดีว่ากระทำผิดคำสั่ง คสช. มีการฟ้องต่อศาลและคัดค้านการประกันตัว แต่ศาลก็เห็นว่าไม่ได้เป็นความผิดที่ร้ายแรง จึงให้ประกันตัวในวงเงินคนละ 5,000 บาท คิดว่าการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐที่หลอกชาวบ้านไปดำเนินคดี ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ คุกคาม สร้างคามหวาดกลัวเพื่อรายอื่นจะได้ไม่ทำตาม
ด้านนางอังคณาได้ชี้แจงว่า ในกรณีเร่งด่วน ทาง กสม.ก็จะมีการประสานไปยังรอง ผบก.ภาค เพื่อสอบถามว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามที่มีการกล่าวหาหรือไม่ ก่อนหน้าที่นี้ตนได้มีการพูดคุยกับ รอง ผบก.ภาคแล้วก็บอกว่าเห็นด้วยกับคำสั่งคุ้มครองของศาลปกครองสูงสุด และยังไม่พบว่าการเคลื่อนไหวมีอะไรที่จะขัดกฎหมาย แต่เมื่อหลังการชุมนุมเสร็จสิ้นแล้วมีการร้องเรียนว่าชาวบ้านถูกคุกคามก็จะต้องดำเนินการตรวจสอบอีกครั้ง แต่จากที่ฟังพฤติการณ์ยังไม่ได้เข้าข่ายลักษณะที่ไปขู่ว่าจะทำร้ายหรือฟ้องร้องอะไร
“การติดตามไปที่บ้านของชาวบ้านแล้วทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือหวาดระแวง เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ควรละเว้น เพราะที่บ้านของชาวบ้านก็จะมีคนที่ไม่ได้รู้เรื่องด้วย เช่น เด็ก ผู้หญิง การไปของเจ้าหน้าที่จะให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะบอกได้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่ายละเมิด เพราะทาง กสม.เองจะต้องลงไปตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมกับสองฝ่ายก่อน”
อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (20) เวลา 10.00 น. ทางเครือข่ายจะเดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือและขอคำชี้แจงว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปติดตามชาวบ้านนั้นเป็นคำสั่งใคร ใช้อำนาจอะไร จากนั้นในช่วงบ่ายจะเดินทางไปสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาติ เพื่อขอให้ติดตามเรื่องนี้ และเดินทางไปยัง กอ.รมน.เพื่อฟังคำชี้แจงว่าทำไมจึงไม่รอขึ้นการพิจารณาของศาลให้แล้วเสร็จก่อนแล้วจึงมาดำเนินการกับชาวบ้าน