กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย เข้ายื่นหนังสือ กสม.ทวงความเป็นธรรม “น้องเมย” จี้ กสม.อย่าปกป้องทหาร “อังคณา” เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมในครั้งหน้า สวนกลับยันไม่ได้ทำเพื่อแก้ต่างให้ทหาร พร้อมไล่บี้กลุ่ม นศ.จนมุมตอบไม่ได้เหตุที่ว่า กสม.เป็นองค์กรที่ตายไปแล้ว
วันนี้ (27 พ.ย.) กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย, Anti Sotus, Chulalongkorn Community For the People , Law Long Beach และThird Way Thailand นำโดยนายนิธิ กัลชาญพิเศษ เข้ายื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการ กสม. ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 พร้อมออกแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ในรอบหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิต 8 นาย เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในรัฐบาลทหาร ทั้งนี้ การลงโทษที่เกินเลยหาใช่การกระทำเพื่อสร้างระเบียบวินัย แต่เป็นการลุแก่อำนาจของผู้กระทำ เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำให้เป็นวัตถุในการรองรับอารมณ์ ความเคียดแค้นที่ซึมซับปลูกฝังมาจากรุ่นสู่รุ่น และการแสดงออกถึงอำนาจของผู้กระทำเท่านั้น การลงโทษที่เกินเลยจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ดังนั้น กสม.ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นและมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 247 ในการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทุกกรณีโดยไม่ล้าช้า และเสนอแนะมาตรการ หรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันสิทธิมนุษยชน ย่อมต้องปฏิบัติหน้าที่โดยเร็ว แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ทำหน้าที่อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ ในการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นใน 7 ปีที่ผ่านมาแต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพขององค์กร เปรียบเสมือนองค์กรที่ตายไปแล้ว เป็นไม้ประดับคอยแก้ต่าง สร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหารเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มจึงต้องการให้ กสม. ตลอดจนองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเตรียมทหาร และค่ายทหาร เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยหาทางป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันจะเกิดขึ้น ได้อีกในสถานที่เหล่านี้ ทั้งนี้ ขอประณามรัฐบาลทหารที่ไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่ยังสร้างความชอบธรรมให้การกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้อีกด้วย
ด้านนางอังคณากล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวกำลังเป็นกระแสสังคมขณะนี้อย่างมาก ที่ผ่านมา กสม.ได้มีการตรวจสอบกรณีรับน้องที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และจัดทำรายงานเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งแล้ว ทั้งนี้ กรณีของน้องเมยมีการยื่นคำร้องเข้ามาแล้ว แต่ยังไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่เมื่อเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ กสม.ก็สามารถหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบได้เอง ตามกระบวนการเมื่อรับคำร้องแล้ว กสม.จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยต้องเชิญครอบครัว แพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งขอเอกสารข้อมูลจากนิติวิทยาศาสตร์ มาประกอบการพิจารณา ซึ่งการตรวจสอบคงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ไม่สามารถพิจารณาได้เสร็จภายใน 1-2 วัน
เมื่อถามว่า กสม.จะหยิบยกเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมหรือไม่ นางอังคณากล่าวว่า เนื่องจากในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถประชุมได้ แต่ในการประชุม กสม.ครั้งต่อไป ตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือ ยืนยันว่า กสม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ กสม.ได้หาข้อมูลเบื้องต้นไว้พอสมควรแล้ว
ทั้งนี้ นอกจากรับเรื่องแล้ว นางอังคณายังได้ขอให้กลุ่มนักศึกษาชี้แจงกรณีที่กล่าวหาว่า กสม.เป็นองค์กรที่ตายแล้ว และเข้าข้างรัฐบาลทหาร ว่ามาจากกรณีใด ขอให้อธิบายมาให้ชัดเจน เพราะการจะกล่าวหาใครต้องมีข้อเท็จจริง ไม่ใช่กล่าวถึงมาลอยๆ โดยไม่มีที่มา ซึ่งนักศึกษาได้อ้างรายงานคำชี้แจงที่ กสม.ได้ไปรายงานต่อที่ประชุมที่กรุงเจนีวา แต่ไม่สามารถระบุถึงกรณีและถ้อยคำที่บอกว่าเป็นการแก้ต่างให้รัฐบาลได้ นางอังคณาจึงย้ำว่านี่ไม่ใช่เป็นการดุ เพียงแต่ต้อการบอกให้ทราบข้อเท็จจริง ตนก็เป็นคนไปรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเวทีเจนีวา 2 ครั้งด้วยตัวเอง
“กสม.ขอชี้แจงถึงกรณีตัวแทนเครือข่ายฯ ระบุว่า องค์กรที่ตายไปแล้ว เป็นไม้ประดับคอยแก้ต่าง สร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหารนั้น ยืนยันว่า กสม.ไม่ได้ทำหน้าที่แก้ต่างให้แก่รัฐ เพราะ กสม.มีหน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ สิ่งใดที่กำหนดให้เราทำเราก็ต้องทำ สิ่งไหนไม่ได้กำหนด เราก็ทำไม่ได้ เราไม่ได้กลัวทหาร ที่ผ่านมาเราก็เชิญทหารมาให้ข้อมูลอยู่เป็นประจำ”