xs
xsm
sm
md
lg

พม่าฉะรายงานกล่าวหาละเมิดสิทธิของสหประชาชาติหลักฐานอ่อนไม่น่าเชื่อถือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่า. -- ภาพ : Mizzima/Min Min.

เอพี - รัฐบาลพม่าปฏิเสธรายงาน 2 ฉบับ ที่ถูกนำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติว่าพม่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และอาจเป็นการก่ออาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในการปราบปรามชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม

ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่า กล่าวว่า รายงานที่ถูกเสนอขึ้นเมื่อวันจันทร์ (12) โดยคณะผู้แทนค้นหาข้อเท็จจริงว่าด้วยพม่า และผู้แทนพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในพม่า ขาดความน่าเชื่อถือ

รายงานของคณะผู้แทนค้นหาข้อเท็จจริง ที่ นายมาร์ซูกิ ดารุสมาน เป็นประธานคณะ เป็นข้อมูลที่ได้จากเหยื่อ และพยานที่รายงานถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งภาพถ่ายดาวเทียม รูปภาพ และคลิปวิดีโอ

สมาชิกของคณะผู้แทนค้นหาข้อเท็จจริงถูกรัฐบาลพม่าห้ามเดินทางเข้าประเทศ ทำให้นักวิจัยของคณะต้องสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย และคนอื่นๆ ที่อยู่ในบังกลาเทศ มาเลเซีย และไทย

ซอ เต กล่าวว่า พม่าห้ามคณะผู้แทนค้นหาข้อเท็จจริงเพราะรัฐบาลปฏิเสธความชอบธรรมของคณะ และยังตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของการวิจัย และเรื่องราวของผู้ลี้ภัย

“เราไม่ได้ปฏิเสธการละเมิดสิทธิ แต่เรากำลังถามถึงหลักฐานที่หนักแน่น และเชื่อถือได้ต่อข้อกล่าวหาต่างๆ ที่พวกเขาระบุขึ้น” ซอ เต กล่าวต่อเอพีทางโทรศัพท์ และยังระบุว่า พม่าจะไม่ร่วมมือกับยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ อีกต่อไป เพราะ ลี กล่าวหาพม่าอย่างไม่เป็นธรรม อคติ และลำเอียง

ลี กล่าวต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกองทัพพม่าในรัฐยะไข่ทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 700,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศ และความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ควรเป็นประเด็นสำคัญในความพยายามของประชาคมโลกที่จะนำมาซึ่งความสงบสุข ความมั่นคง และการเป็นประชาธิปไตยมาสู่พม่าอย่างยั่งยืน

“ต้องมุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคลที่ออกคำสั่ง และดำเนินการละเมิดต่อบุคคล กลุ่มชาติพันธุ์ และศาสนา ผู้นำรัฐบาลที่ไม่เข้าแทรกแซง หยุดยั้ง หรือประณามต่อการกระทำเหล่านี้จะต้องรับผิดชอบ” ยางฮี ลี กล่าว

สถานการณ์ในรัฐกะฉิ่น และรัฐชาน ที่เกี่ยวข้องต่อการสู้รบระหว่างทหารและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ต้องการปกครองตนเองมากขึ้น กลับได้รับความสนใจจากต่างชาติน้อยกว่าชะตากรรมของโรฮิงญา

คณะผู้แทนค้นหาข้อเท็จจริงระบุในรายงานว่า รูปแบบของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทั่วประเทศมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันกับเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ รัฐกะฉิ่น และรัฐชาน ที่เป็นผลิตผลของรูปแบบการกระทำทารุณ และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และยาวนานในพม่า

ทั้งดารุสมาน และลี ระบุว่า เฟซบุ๊กมีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายความขัดแย้ง และถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในพม่า

“เราทราบว่าชาวพุทธชาตินิยมสุดโต่งมีหน้าเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง และยั่วยุปลุกปั่นความรุนแรงและความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา หรือชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ เราวิตกว่าเฟซบุ๊กนั้นได้กลายเป็นอสุรกาย แทนที่จะถูกใช้ตามวัตถุประสงค์เดิม” ลี กล่าว

เฟซบุ๊กระบุในคำแถลงว่า ไม่มีพื้นที่สำหรับถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง หรือเนื้อหาที่ส่งเสริมความรุนแรงบนแพลตฟอร์มของบริษัท และเฟซบุ๊กได้ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญในพม่าเป็นเวลาหลายปีเพื่อพัฒนาทรัพยากรด้านความปลอดภัย และต่อต้านการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง.


กำลังโหลดความคิดเห็น