รอยเตอร์ - โฆษกรัฐบาลพม่า เผย ทางการจะดำเนินการตามกฎหมายกับสมาชิกของกองกำลังรักษาความมั่นคง 10 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกจับกุมในรัฐยะไข่ แต่การดำเนินการที่เกิดขึ้นนั้นไม่เกี่ยวข้องกับรายงานของรอยเตอร์ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด
สัปดาห์ที่ผ่านมา รอยเตอร์ได้เผยแพร่รายงานเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสังหารชายชาวโรฮิงญา 10 คน ในหมู่บ้านอินดิน ตอนเหนือของรัฐยะไข่ ที่ศพชาวโรฮิงญาถูกฝังอยู่ในหลุมศพใหญ่หลังถูกแทง และยิงจนเสียชีวิตโดยชาวบ้าน และทหาร
ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่า กล่าวว่า ทหาร 7 นาย ตำรวจ 3 นาย และชาวบ้าน 6 คน จะถูกดำเนินการตามกฎหมายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนของกองทัพที่เริ่มดำเนินการขึ้นก่อนที่รายงานของรอยเตอร์จะถูกเผยแพร่ออกมา
“การจับกุมตัวผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะข่าวของรอยเตอร์ การสืบสวนดำเนินขึ้นก่อนข่าวของรอยเตอร์” ซอ เต กล่าว
ในวันที่ 10 ม.ค. กองทัพระบุว่า ชายชาวโรฮิงญาทั้ง 10 คนนี้เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย 200 คน ที่โจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคง ชาวบ้านโจมตีคนเหล่านั้นด้วยมีดดาบ ขณะที่ทหารใช้ปืนยิงจนเสียชีวิต ซึ่งกองทัพจะดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่กองทัพอธิบายขัดต่อรายงานที่รอยเตอร์ได้รับจากพยานชาวยะไข่ และชาวโรฮิงญา
ชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธรายงานว่า ไม่มีการโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบในหมู่บ้านอินดิน และพยานชาวโรฮิงญากล่าวว่า ทหารดึงตัวทั้ง 10 คน ออกมาจากกลุ่มชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนที่หลบภัยอยู่บริเวณชายหาดใกล้เคียง
ชาวโรฮิงญาเกือบ 690,000 คน ได้หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศตั้งแต่เดือน ส.ค. เมื่อกลุ่มก่อความไม่สงบก่อเหตุโจมตีด่านรักษาความมั่นคง ทำให้ทหารดำเนินการปราบปรามตอบโต้ ซึ่งสหประชาชาติระบุว่า การปราบปรามดังกล่าวเทียบได้กับการกวาดล้างชาติพันธุ์
การสืบสวนของรอยเตอร์ในเหตุสังหารหมู่ในหมู่บ้านอินดิน คือ สิ่งที่ทำให้นักข่าวของรอยเตอร์ 2 คน ถูกจับกุมตัว
วา โลน และกอ โซ อู ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. จากการถูกกล่าวหาว่า ครอบครองเอกสารลับ โดยที่ตำรวจระบุว่า ได้จับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 นาย ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ด้วย และอัยการกำลังหาทางที่จะตั้งข้อหาวา โลน และกอ โซ อู ภายใต้กฎหมายความลับราชการ ที่มีโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี
เมื่อสอบถามถึงหลักฐานของรอยเตอร์ที่ค้นพบเกี่ยวกับการสังหารหมู่ ซอ เต กล่าวว่า ก่อนที่รายงานของรอยเตอร์จะถูกตีพิมพ์เผยแพร่ ทางการพม่าไม่ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“หากหลักฐานชั้นต้นแน่นหนา และเชื่อถือได้เกี่ยวกับการละเมิด รัฐบาลจะดำเนินการสืบสวน” ซอ เต กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลหลังการเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์
คำแถลงของสำนักงานต่างประเทศอังกฤษที่ออกหลังจากบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศ พบหารือกับนางอองซานซูจี เมื่อวันอาทิตย์ ระบุว่า จอห์นสัน ได้ยกประเด็นการจับกุมนักข่าว 2 ราย ขึ้นพูดคุยกับซูจี แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
“ได้หารือถึงความสำคัญของทางการพม่าที่จะดำเนินการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นอิสระกับเหตุความรุนแรงในรัยะไข่ และมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่จะเดินทางกลับบ้านในรัฐยะไข่” จอห์นสัน ทวีตข้อความลงบนสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์หลังพบหารือกับซูจี.