xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ คุย “ซูจี” ร้องสอบสวนเหตุละเมิดโรฮิงญาในยะไข่อย่างเป็นธรรม แนะทหารให้ความร่วมมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงข่าวร่วมกับนางอองซานซูจี (ขวา) ที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่า ในกรุงเนปีดอ วันที่ 15 พ.ย. -- Agence France-Presse/Aung Htet.

รอยเตอร์ - รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน เรียกร้องการสอบสวนที่น่าเชื่อถือในรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาที่กระทำโดยกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่า หลังพบหารือกับผู้นำรัฐบาลพลเรือน และผู้นำทหารของพม่า

ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 600,000 คน ได้หลบหนีไปบังกลาเทศตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. เนื่องจากปฏิบัติการของทหารในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายในรัฐยะไข่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติ ระบุว่า ปฏิบัติการของทหารที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

“เราวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งจากรายงานที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความทารุณโหดร้ายอย่างกว้างขวางที่กระทำโดยกองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่า และกลุ่มผู้ใช้กำลังนอกกฎหมายที่ไม่ถูกกองกำลังรักษาความมั่นคงเข้ายับยั้งระหว่างเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นในรัฐยะไข่” ทิลเลอร์สัน กล่าวแถลงข่าวร่วมกับนางอองซานซูจี

ก่อนหน้านี้ ทิลเลอร์สัน ได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ทิลเลอร์สัน เรียกร้องให้รัฐบาลพม่านำการสอบสวนที่น่าเชื่อถือ และเป็นกลาง และกล่าวว่า ผู้ก่อเหตุละเมิดควรต้องรับผิดชอบ

“ข้อกล่าวหาร้ายแรงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในรัฐยะไข่ต้องการการสอบสวนที่น่าเชื่อถือ และเป็นธรรม และผู้ที่ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนควรต้องรับผิดชอบ จากการประชุมหารือทั้งหมด ผมเรียกร้องให้รัฐบาลพลเรือนพม่านำการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ และเรียกร้องให้ทหารให้ความร่วมมือ และการเข้าถึงอย่างเต็มที่” รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ

ทิลเลอร์สัน ยังกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของทหารที่จะช่วยเหลือรัฐบาลให้บรรลุความมุ่งมั่นที่จะรับประกันความปลอดภัย และความมั่นคงของประชาชนทุกคนในรัฐยะไข่

บนหน้าเพจเฟซบุ๊กของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ระบุว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้อธิบายถึงสถานการณ์ที่แท้จริงในรัฐยะไข่กับทิลเลอร์สัน เหตุผลที่ทำให้ชาวมุสลิมหลบหนี วิธีที่ทหารทำงานกับรัฐบาลในการจัดส่งความช่วยเหลือ และความคืบหน้าในกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยที่ตกลงกับบังกลาเทศ

ทหารเริ่มดำเนินการปฏิบัติการกวาดล้างหลังค่ายทหาร และด่านตำรวจ 30 แห่ง ถูกผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาโจมตีเมื่อวันที่ 25 ส.ค. และสมาชิกของกองกำลังรักษาความมั่นคงถูกฆ่าไปประมาณ 12 คน

ทิลเลอร์สัน กล่าวประณามการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธ แต่ระบุว่า การตอบโต้ใดๆ ก็ตามของกองกำลังรักษาความมั่นคงจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ที่จะทำอันตรายต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์

สำหรับการสอบสวนภายในของทหารต่อข้อกล่าวหาการกระทำทารุณที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เป็นการปกปิดความจริง

ย้อนกลับไปที่กรุงวอชิงตัน วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ กำลังผลักดันการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และข้อจำกัดการเดินทางที่มุ่งเป้าไปยังทหารพม่า และผลประโยชน์ทางธุรกิจของทหาร ซึ่งทิลเลอร์สันกล่าวว่า เขาจะแนะนำว่าไม่ควรคว่ำบาตรพม่าในวงกว้าง ด้วยสหรัฐฯ ต้องการเห็นพม่าประสบความสำเร็จ แต่หากมีข้อมูลน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการละเมิดโดยบุคคลใดก็ตาม คนเหล่านั้นอาจถูกคว่ำบาตร

ทิลเลอร์สัน กล่าวว่า ผู้ที่รับผิดชอบต่อการกระทำทารุณโหดร้ายจะต้องได้รับผลจากการใช้กลไกทั้งหมดที่มี รวมทั้งที่มีอยู่ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ

พม่ากำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย หลังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารหลายสิบปี แต่บรรดานายพลยังคงมีอำนาจในด้านความมั่นคง และการยับยั้งการปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่ห้ามซูจีจากตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ

“การตอบสนองของพม่าต่อวิกฤตนี้มีความสำคัญต่อการกำหนดความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่มากยิ่งขึ้น” ทิลเลอร์สัน กล่าว

“มันเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล และกองกำลังรักษาความมั่นคงของประเทศที่จะปกป้องและเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคนที่อยู่ภายในเขตแดนประเทศ และผู้ที่ไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ควรจะต้องรับผิดชอบ” ทิลเลอร์สัน กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น