รอยเตอร์ - จีนกำลังมองหาหนทางที่จะเข้าถือหุ้นถึง 85% ในท่าเรือสำคัญทางยุทธศาสตร์ในพม่า ความเคลื่อนไหวที่อาจเพิ่มความตึงเครียดเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้
ปักกิ่งกำลังผลักดันการเข้าถึงอย่างเป็นพิเศษยังท่าเรือน้ำลึกจอก์พยู (Kyauk Pyu) ในอ่าวเบงกอล ที่เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นพยายามของจีนในแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (One Belt, One Road) ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาค
กลุ่มบริษัทภายใต้การนำของบริษัท CITIC Group ของจีน ได้ยื่นเสนอเข้าถือหุ้น 70-85% ในท่าเรือน้ำลึกมูลค่า 7,300 ล้านดอลลาร์แห่งนี้ ตามเอกสารการเจรจาระหว่างกลุ่มบริษัทในเครือของรัฐบาลจีน และรัฐบาลพลเรือนพม่า
สัดส่วนหุ้นที่จีนยื่นเสนอนั้นมีขนาดใหญ่กว่าการร่วมทุนฝ่ายละครึ่ง (50/50) ที่พม่าได้เสนอไว้เมื่อปลายปีก่อน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่บริษัท CITIC ปฏิเสธ ตามการเปิดเผยของผู้เข้าร่วมการหารือ
แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวต่อรอยเตอร์เมื่อเดือนก่อนว่า จีนได้ส่งสัญญาณความต้องการที่จะละทิ้งโครงการเขื่อนมิตโสน (Myitsone) มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ ในพม่า แต่จะมองหาการสัมปทานโครงการทางยุทธศาสตร์อื่นๆ แทน ซึ่งรวมทั้งโครงการท่าเรืออ่าวเบงกอล
จอก์พยู เป็นพื้นที่สำคัญสำหรับจีนเพราะท่าเรือแห่งนี้เป็นประตูทางเข้าของท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ที่เป็นเส้นทางเลือกในการนำเข้าพลังงานจากตะวันออกกลาง ในการเลี่ยงการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา
.
.
ท่าเรือจอก์พยู เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนา 2 โครงการ ที่รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษรัฐยะไข่ ซึ่งบริษัท CITIC ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้นำการพัฒนาในทั้ง 2 โครงการ เมื่อปี 2558
บริษัท CITIC บริษัทด้านการเงินเก่าแก่ที่สุด และใหญ่ที่สุดของจีน และกระทรวงการต่างประเทศของจีน ต่างไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นในเรื่องนี้
การเจรจาระหว่างพม่า และ CITIC ที่แหล่งข่าวระบุว่า มีกำหนดเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้าที่นครย่างกุ้งนั้น เกิดขึ้นท่ามกลางการผลักดันทางการทูตของจีนที่มุ่งหมายจะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรแห่งนี้
เมื่อสัปดาห์ก่อน พม่า และจีนได้ลงนามข้อตกลงที่จะทำให้ได้เห็นความคืบหน้าของโครงการท่อส่งน้ำมันจากท่าเรือจอก์พยู ที่พาดผ่านพม่าไปยังพื้นที่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ขณะเดียวกัน นางอองซานซูจี มีกำหนดเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเกี่ยวกับโครงการเส้นทางสายไหม ที่เป็นนโยบายสำคัญของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในกลางเดือน พ.ค.
หนึ่งในแหล่งข่าวที่ปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อระบุว่า บริษัท CITIC เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการท่าเรือ และพม่าไม่น่าจะร้องขอหุ้นมากกว่า 30% เพราะการคัดค้านจากบริษัทจีน
“บางคนวิตกว่าจีนจะมีอำนาจในการทำทุกอย่างที่ต้องการ และควบคุมโครงการหากถือหุ้นมากถึง 85% แต่พม่าก็ไม่มีทางเลือกอื่น” แหล่งข่าวอ้างถึงข้อจำกัดทางการเงินของรัฐบาลพม่า แต่ไม่ได้อ้างอย่างเจาะจงถึงเงื่อนไขแลกเปลี่ยนโครงการเขื่อนมิตโสน
ส่วนแหล่งข่าวรายที่ 2 ที่ใกล้ชิดกับผู้กำหนดนโยบายของพม่ายืนยันเช่นกันว่า พม่าได้ตกลงที่จะเลือก 1 ใน 4 ของข้อเสนอของบริษัท CITIC ที่จะทำให้พม่าถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 15-30%
“พม่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก 4 ตัวเลือกที่บริษัท CITIC เสนอ” แหล่งข่าวรายที่ 2 ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจา กล่าว
สำหรับแหล่งทุน รัฐบาลพม่า และกลุ่มบริษัทที่นำโดยบริษัท CITIC จะแบ่งกันตามสัดส่วนการถือหุ้น
โซ วิน หัวหน้าคณะกรรมการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยืนยันว่าการเจรจาจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า แต่ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อตกลง โดยอ้างถึงความลับของการเจรจา
เขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยู มูลค่าเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ ที่รัฐบาลพม่าระบุว่าจะสร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่คล้ายกับสิงคโปร์บนพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งในแผนของรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
กลุ่มบริษัทกลุ่มที่ 2 ภายใต้การนำของบริษัท CITIC เช่นกัน ยังได้เสนอถือครองหุ้นที่สัดส่วน 51% ในนิคมอุตสาหกรรมมูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่พม่าเห็นชอบ ตามการระบุของแหล่งข่าว 2 ราย ที่มีส่วนร่วมในการเจรจา
โซ วิน กล่าวว่า การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจะดำเนินการในเร็ววันนี้โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมพม่า และการก่อสร้างมีกำหนดเริ่มต้นในปี 2561
เขตอุตสาหกรรมแห่งนี้เผชิญต่อการคัดค้านจากนักเคลื่อนไหว และประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยื่นประมูล และระบุว่า การพัฒนาจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อคนท้องถิ่น และคาดว่าจะมีประชาชนราว 20,000 คน ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญเสียบ้าน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่เนื่องจากกระบวนการจัดสรรที่ดินสำหรับโครงการเขตอุตสาหกรรม ตามการระบุของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ).