เอเอฟพี/เอพี - ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำพม่า เดินทางลงพื้นที่รัฐยะไข่เมื่อวันเสาร์ (14) เพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิชาวมุสลิมโรฮิงญาโดยกองกำลังรักษาความมั่นคง
ยางฮี ลี ที่เดินทางเยือนเมืองสิตตเว เมืองเอกของรัฐ เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนพม่านาน 12 วัน เพื่อสืบสวนความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนของพม่าซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาตกเป็นเป้าของการปราบปรามทางทหารในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ ที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นผลให้ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 65,000 คน ต้องหลบหนีข้ามพรมแดนไปบังกลาเทศ
การเยือนพม่าของลีในครั้งนี้ เป็นไปตามคำเชิญของรัฐบาล ระหว่างการเยือนลีได้พบหารือกับนักการเมือง และแกนนำชุมชน ผู้แทนภาคประชาสังคม เหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสมาชิกชุมชนระหว่างประเทศ โดยลี ระบุว่า จะส่งรายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือน มี.ค.
ที่เมืองสิตตเว ลีได้พบหารือกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอาวุโส และเดินทางไปยังย่านชาวมุสลิมเพียงแห่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ในเมืองนับตั้งแต่เกิดเหตุการปะทะในปี 2555 ที่ผลักดันชาวโรฮิงญาหลายหมื่นชีวิตต้องไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
“เราบอกกับเธอว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับพวกเรา เราต้องการให้เด็กๆ ของเราได้เรียนหนังสืออย่างสงบสุข และเราต้องการงานอย่างที่เราเคยมีก่อนหน้านี้” ชาวมุสลิมท้องถิ่นรายหนึ่ง กล่าว
“เราต้องการบอกกับเธอถึงความยากลำบากที่เราเจอที่นี่ ความเป็นอยู่เหมือนกับอยู่ในคุกนานเกือบ 5 ปี เราอาศัยอยู่ที่นี่มาหลายรุ่นแล้ว แต่รัฐบาลบอกว่าเราไม่ใช่พลเมืองของประเทศนี้ มันเจ็บปวดมาก เราควรได้รับสิทธิพลเมือง” ชายชาวโรฮิงญาในชุมชนอ่องมิงกาลา กล่าว
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสจากพรรคแห่งชาติอาระกัน ที่ควบคุมสภาของรัฐและคัดค้านอย่างหนักต่อความเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะมอบสิทธิความเป็นพลเมืองให้แก่โรฮิงญา กล่าวว่า พวกเขาได้ปฏิเสธที่พบหารือกับยางฮี ลี
“พวกเขาเสนอที่จะพบหารือกับพวกเรา แต่เราไม่มีแผนที่จะพบพวกเขา” รองประธานพรรคแห่งชาติอาระกัน กล่าว
หลายหมู่บ้านในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ อยู่ภายใต้การควบคุมของทหารนับตั้งแต่เดือน ต.ค. ด้วยกองทัพดำเนินการกวาดล้างเพื่อค้นหาผู้ก่อเหตุไม่สงบโรฮิงญาที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีด่านชายแดนตำรวจ
วิกฤตที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศ และเรียกร้องให้มีการสืบสวนระหว่างประเทศต่อข้อกล่าวหาต่อกองกำลังทหารที่ว่าได้ก่อเหตุข่มขืน สังหาร และทรมานพลเรือนจากชนกลุ่มน้อยมุสลิม
ก่อนการเยือนพม่าครั้งนี้ ยางฮี ลี กล่าวว่า ความรุนแรงในรัฐยะไข่นำมาซึ่งความสงสัยต่อทิศทางที่รัฐบาลชุดใหม่กำลังดำเนินอยู่ในปีแรกของการบริหารประเทศ.