รอยเตอร์ - การกวาดล้างชาติพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาของพม่ายังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติระบุวันนี้ (6) เป็นเวลามากกว่า 6 เดือนหลังการโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบที่ก่อให้เกิดการตอบโต้ทางทหาร จนเป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน ต้องอพยพหลบหนีความรุนแรงไปบังกลาเทศ
แอนดรูว์ กิลมอร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวแสดงความเห็นหลังเดินทางเยือนเมืองคอกซ์บาซาร์ ในบังกลาเทศเป็นเวลา 4 วัน ที่ได้พบพูดคุยกับผู้ลี้ภัยที่หลบหนีมาจากพม่าเมื่อไม่นานนี้
“ผมไม่คิดว่าเราจะสามารถร่างข้อสรุปใดๆ ขึ้นได้จากสิ่งที่ผมได้เห็น และได้ฟังในคอกซ์บาซาร์” กิลมอร์ ระบุในคำแถลง
หลังผู้ก่อความไม่สงบโรฮิงญาโจมตีด่านตำรวจ 30 จุด และค่ายทหารเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ทหาร และตำรวจพม่าได้เข้ากวาดล้างหมู่บ้านต่างๆ การกระทำที่รัฐบาลพม่าระบุว่า เป็นปฏิบัติการที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อกำจัด “ผู้ก่อการร้าย”
โรฮิงญาที่แสวงหาที่พักพิงในบังกลาเทศได้รายงานถึงเรื่องราวการข่มขืน การสังหาร และการวางเพลิงโดยกองกำลังรักษาความมั่นคง ซึ่งสหประชาชาติ และสหรัฐฯ ได้สรุปว่า การปราบปรามที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์
กิลมอร์ พูดคุยกับผู้ลี้ภัยที่เล่าถึงการลักพาตัวโดยกองกำลังรักษาความมั่นคงและมีชายชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 1 คน เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวในเดือน ก.พ.
“มันดูเหมือนว่าการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบ และกว้างขวางต่อชาวโรฮิงญายังคงมีอยู่” กิลมอร์ ระบุ
“ลักษณะของความรุนแรงได้เปลี่ยนไปจากการข่มขืน และการปราบปรามนองเลือดอย่างบ้าคลั่งเมื่อปีก่อน กลายมาเป็นการดำเนินการที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว และความอดอยาก ที่ดูเหมือนจะถูกออกแบบมาเพื่อผลักดันชาวโรฮิงญาที่เหลืออยู่ให้ออกไปจากที่อยู่อาศัย และหนีไปบังกลาเทศ” คำแถลงระบุ
แม้ทางการพม่าระบุว่า พร้อมที่จะรับผู้ลี้ภัยกลับตามข้อตกลงที่ลงนามกับบังกลาเทศในเดือน พ.ย. แต่จากสภาวะปัจจุบัน การเดินทางกลับอย่างปลอดภัย และยั่งยืนดูไม่น่าจะเป็นไปได้ กิลมอร์ ระบุ
ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่า กล่าวว่า เขายังไม่เห็นคำแถลงของสหประชาชาติที่เผยแพร่ในวันนี้ แต่ย้ำว่า พม่าไม่ได้กระทำการกวาดล้างชาติพันธุ์
“เราไม่ได้ขับไล่ผู้ลี้ภัย” ซอ เต กล่าว.