“อังคณา นีละไพจิตร” ภรรยา “ทนายสมชาย” ที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อ 14 ปีก่อน โพสต์เฟซบุ๊กระบุ ผิดหวังที่กรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งงดการสอบสวนคดี ระบุหาคนผิดไม่ได้ ยืนยันต้องการให้รัฐรับผิดชอบเปิดเผยความจริง ไม่ใช่ให้เงินเยียวยา แม้จะขมขื่น ผิดหวังแต่ก็ไม่อาฆาต รู้จักอดทนและเมตตา
วันนี้ (12 มี.ค.) นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งหายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ได้โพสต์ข้อความ “แถลงการณ์ 14 ปี ไร้ซึ่งความยุติธรรม” ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “หลังศาลฎีกายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวสมชาย นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ดิฉันตั้งใจว่าจะเลิกทวงถามการดำเนินการติดตามหาตัวทนายสมชายจากรัฐ แต่ในฐานะพลเมืองที่ถูกละเมิดสิทธิ ดิฉันจะเฝ้ามองการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของรัฐในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่สมชายและครอบครัว
ดิฉันรู้สึกผิดหวังและเสียใจอย่างยิ่งเมื่อปีที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีหนังสือถึงครอบครัวเพื่อแจ้งงดการสอบสวนคดีสมชาย หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีการฆาตกรรมสมชายเป็นคดีพิเศษ และใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวนยาวนานถึง 12 ปี โดยหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งครอบครัวให้ทราบด้วยข้อความเพียงสั้นๆเพียงว่า “การสอบสวนคดีสมชายได้เสร็จสิ้นแล้ว โดย กรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรงดการสอบสวนเนื่องจากไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด” พูดง่ายๆ คือ เมื่อหาคนผิดไม่ได้ก็จบๆไป
ที่ผ่านมานับแต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีสมชายเป็นคดีพิเศษ ดิฉันเชื่อว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษไม่เคยมีความเต็มใจในการคลี่คลายคดีสมชาย ซึ่งมีผู้ต้องสงสัยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้ายังจำกันได้เมื่อปลายปี 2556 อดีตผู้อำนวยการสำนักคดีอาญาพิเศษ ได้ให้ข่าวแก่สาธารณะว่า แฟ้มเอกสารคดีสมชายหายไป แต่ต่อมาอีกไม่ถึงสัปดาห์ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ออกมาให้ข่าวอีกครั้งว่าแฟ้มคดีสมชายไม่ได้หายไปไหน การไม่ให้ความสำคัญว่า การที่คนๆหนึ่งถูกอุ้มฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องร้ายแรงที่รัฐต้องรีบเร่งดำเนินการ ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษงดการสอบสวนคดีสมชายโดยไม่ใส่ใจความรู้สึกของครอบครัวและสังคม
ดิฉันเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการคลี่คลายคดีอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญ รัฐบาลต้องมีเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ต้องมีเจตนาที่แน่วแน่มั่นคงในการที่จะไม่ปกป้องผู้กระทำผิด สำหรับคดีสมชาย นีละไพจิตร ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ดิฉันเฝ้าติดตามคดีโดยตลอดว่ารัฐจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวอย่างไร แต่ผ่านมา 14 ปี ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่ารัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลทหาร รัฐบาลคนดี หรือคนไม่ดี การอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากอาชญากรรมโดยรัฐไม่เคยเกิดขึ้นจริง และการงดเว้นโทษกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป
ที่ผ่านมาการเยียวยาด้วยตัวเงินที่รัฐให้แก่ครอบครัวสมชาย จึงเป็นแค่การสงเคราะห์ มากกว่าการสำนึกผิดในสิ่งที่รัฐได้กระทำไป สำหรับดิฉันแล้ว สิ่งที่เหยื่อและครอบครัวต้องการคือความรับผิดชอบจากรัฐ ความรับผิดชอบหมายถึงการเปิดเผยความจริงถึงที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย การนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย และการฟื้นฟูเยียวยาครอบครัว อาชญากรรมที่เกิดจากรัฐ รัฐต้องร่วมรับทุกข์กับเหยื่อ ไม่ใช่ปล่อยให้เหยื่อเผชิญความยากลำบากแต่เพียงลำพัง รัฐต้องไม่มืดบอดในการรับรู้ความทุกข์ยากของประชาชน การให้เงินชดใช้ความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ได้หมายความว่ารัฐและหน่วยงานความมั่นคงจะหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญ การให้ค่าชดเชยด้วยเงินจำนวนมากก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต
14 ปีการสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้แสดงให้เห็นถึงการแปรเปลี่ยนจากอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มาสู่ความความไม่เป็นธรรมจากการละเลยเพิกเฉยในการอำนวยความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมไทยบนพื้นฐานและการขาดเจตจำนงทางการเมืองเห็นได้จากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษงดการสอบสวนคดีสมชาย และสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่รับรองพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ...
ในช่วง 14 ปีของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม แม้จะขมขื่นและผิดหวังแต่ดิฉันไม่เคยอาฆาตแค้น ไม่เคยมีอคติหรือความเกลียดชัง เวลาที่ผ่านไปทำให้รู้จักอดทน มีเมตตา และยืนหยัดในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมที่ไม่ใช่แค่เพียงตัวเองและครอบครัว แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทุกคนเสมอภาคกันทางกฎหมาย และผู้กระทำผิดต้องรับโทษตามกระบวนการยุติธรรม
12 มีนาคม 2561 เป็นวันครบรอบ 14 ปีที่ นายสมชาย นีละไพจิตร ถูกทำให้เป็นบุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ สมชายไม่ต่างจากผู้สูญหายอีกมากมายที่ไม่มีใครทราบที่อยู่และชะตากรรม ไม่มีหลุมศพให้รำลึกถึง วันนี้ ดิฉันจึงขอวางช่อดอกไม้เพื่อรำลึกถึงสมชายนีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนไว้ข้างถนนเพื่อให้คนที่ผ่านไปมาที่อาจมีโอกาสได้พบเขา ได้โปรดฝากความรักและความระลึกถึงจากครอบครัวไปยังเขาด้วย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง 5 ผู้ต้องหาในคดีอุ้มทนายสมชาย ประกอบด้วย พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีต สว.กอ.รมน.ช่วยราชการกองปราบปราม (หายสาบสูญไปในช่วงเหตุการณ์คันกันน้ำถล่ม ที่เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก เมื่อช่วงวันที่ 19 ก.ย. 51), พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อดีตพนักงานสอบสวน กก.4 ป., จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท. , ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน อดีตรอง ผกก.3 ป. ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นภันต์วุฒิ ดำรงตำแหน่ง ผกก.ฝอ.สพ. เนื่องจากพยานให้การสับสน ส่วนพยานเอกสารการใช้โทรศัพท์ติดต่อระหว่างจำเลยขาดความสมบูรณ์
ย้อนกลับไปที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549 ว่า การกระทำของ พ.ต.ต.เงิน เป็นความผิดตาม ม.309 วรรคแรก และ ม.391 พิพากษาให้จำคุก 3 ปี ส่วนความผิดฐานปล้นทรัพย์แม้ข้อเท็จจริงได้ว่าพ.ต.ต.เงิน กับพวกขับรถนายสมชาย ไปจอดทิ้งไว้ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ก็เพื่ออำพรางหลบหลีกการสืบสวนจับกุม ไม่แสดงให้เห็นเจตนาว่า พวกจำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ ส่วนทรัพย์สินอื่นก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพ.ต.ต.เงิน กับพวกได้นำทรัพย์สินไปจริงหรือไม่ พ.ต.ต.เงินจึงไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ ส่วนที่เหลือยกฟ้อง
ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องจำเลย 4 ราย ตามศาลชั้นต้น ส่วน พ.ต.ต.เงิน นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำให้การของพยานโจทก์ ยังสับสนเรื่องการยืนยันตัวจำเลย เมื่อมีเหตุความสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย จึงพิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ด้วย ซึ่งระหว่างอุทธรณ์ ศาลได้ออกหมายจับ พ.ต.ต.เงิน พร้อมสั่งปรับนายประกัน จำนวน 1.5 ล้านบาท