xs
xsm
sm
md
lg

เสียโอกาสช้อน BANPU / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ราคาหุ้น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น BANPU ทรุดมา 2วันติด หลังจากศาลฎีกาพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,500 ล้านบาท พร้อมดอกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 2,700 ล้านบาท



การทรุดตัวของหุ้น BANPU ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากผลกระทบภาวะผันผวนของตลาดหุ้น แต่ผลกระทบสำคัญน่าจะเป็นเพราะการแพ้คดีละเมิด โครงการสัมปทานเหมือนถ่านหินหงสา สาธารณรัฐประธิปไตยประชาชนลาว มากกว่า

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ก่อนวันตัดสินคดีโครงการหงสา ฯ เพียงวันเดียว หุ้น BANPU ปิดที่ 23.20 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้น 0.50 บาท/หุ้น แต่วันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา ลงมาปิดที่ 21.20 บาท/หุ้น โดยสองวันทำการ ปรับตัวลง 2 บาท/หุ้น หรือลดลง 8% เศษ

เช้าวันที่ 6 มีนาคม ศาลฎีกานัดฟังคำตัดสินโครงการหงสา ฯ และเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่า คำตัดสินของศาล ฯ จะเป็นตัวแปรสำคัญกับราคาหุ้น

ถ้าศาลสั่งยกฟ้อง ยืนตามคำตัดสินของศาลศาลอุทธรณ์ จะเป็นข่าวดีที่กระตุ้นให้หุ้น BANPU พุ่งกระฉูด

แต่หากศาลยืนตามคำพิพากษาของศาลขั้นต้น ที่สั่งให้ BANPU และบริษัทในเครืออีก 2 แห่ง ต้องชดใช้ค่ายเสียหายให้นายศิวะและพวก จำนวนเงินประมาณ 31,000 ล้านบาท หุ้น BANPU อาจถูกทุบลงไปกองกับพื้น

คำตัดสินของศาลฎีกา มีผลชี้นำหุ้น BANPU โดยตรง ซึ่งนักลงทุนควรชะลอการซื้อขาย เพื่อรอความชัดเจนของคดี

แต่นักลงทุนกลับแห่เข้าไปเก็งกำไรกันฝุ่นตลบ โดยไม่กังวลในความผันผวนที่จะตามมาหลังศาลมีคำพิพากษา

อย่างไรก็ตาม หลังปลดเครื่องหมาย “H” และเปิดให้ BANPU ซื้อขายในภาคบ่ายวันที่ 6 มีนาคม ฯ ภายหลังศาลมีคำตัดสินคดี ราคาหุ้นไม่ได้สะทกสะท้านรับข่าวร้าย เพราะนักลงทุนเข้าไปลุยซื้อหุ้น ทำให้ราคาขยับขึ้นไปที่ 24.20 บาท/หุ้น ก่อนจะถูกเทขาย จนถอยลงมาปิดที่ 23.20 บาท/หุ้น


คำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียรวมจำนวนประมาณ 2,700 ล้านบาท ไม่ใช่ข่าวดีของ BANPU แน่ แต่นักเก็งกำไรอาจมองว่า การชดใช้ค่าเสียหายให้กลุ่มนายศิวะ จะไม่กระทบต่อผลประกอบการของบริษัท จึงชิงเข้าไปช้อนหุ้น

ฝ่ายบริหาร BANPU ออกมาแถลงแล้ว พร้อมจ่ายค่าชดเชยให้กลุ่มนายศิวะทันที โดย BANPU และบริษัทลูกอีก 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น BPP และ บริษัท บ้านปู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จะร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายบริษัทละ 900 ล้านบาท โดยบันทึกในบัญชีไตรมาสแรกปีนี้

การจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจำนวน 900 ล้านบาท สำหรับ BANPU ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะปี 2560 มีกำไรสุทธิกว่า 7,900 ล้านบาท เติบโตอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิเพียง 1,677 ล้านบาท

แม้ BANPU จะขนหน้าแข้งไม่ร่วง กับค่าชดเชยจำนวน 900 ล้านบาท แม้การแพ้คดี จะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานมากนัก แต่แรงขายกลับไหลทะลักเข้ามาในหุ้นตัวนี้ จนราคายืนไม่อยู่

BANPU จัดอยู่ในหุ้นยอดนิยมตัวหนึ่ง มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนทั้งสิ้น 45,571 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 92.14 % ของทุนจดทะเบียน โดยกลุ่มว่องกุศลกิจ ถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยมาก แต่กุมอำนาจบริหารมายาวนาน

ปัจจัยพื้นฐานของ BANPU ถือว่าแข็งแกร่ง โดยมีค่า พี/อี เรโช ประมาณ15 เท่า อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล 2.84% และจ่ายเงินปันผลค่อนข้างสม่ำเสมอ จึงเป็นหุ้นที่จะเล่นเก็งกำไรระยะสั้น หรือถือเพื่อการลงทุนระยาวได้ ซึ่งกองทุนหลายแห่ง ได้เข้ามาเก็บ BANPU ติดไว้ในพอร์ต

ใครที่ติดหุ้น BANPU ไว้ไม่ต้องกังวลมาก ถ้าพร้อมจะถือยาว เพราะมีปัจจัยพื้นฐานรองรับ


แต่เสียดายแทนนักลงทุนที่แห่เข้าไปชิงเก็บ BANPU โดยเฉพาะการชิงเข้าไปเก็บก่อนวันที่ศาลนัดฟังคำตัดสิน หรือชิงเข้าไปช้อนหลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว เพราะราคาหุ้นยังไม่ได้ซึมซับรับข่าวร้ายทั้งหมด

ถ้าไม่รีบร้อน และให้ความสำคัญกับความเสี่ยงมากสักหน่อย รอให้ศาลฎีกามีคำตัดสินออกมาให้ชัดเจน รอให้ราคาหุ้นนิ่งเสียก่อน คงไม่ต้องแบกหุ้นต้นทุนสูง

และวันนี้จะมีโอกาสได้ซื้อของถูกๆอีกด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น